"บลูสกาย" กับ การรายงานเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง

25 พ.ย. 55
13:57
176
Logo Thai PBS
"บลูสกาย" กับ การรายงานเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง

การรายงานข้อมูลความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง รวมถึงการชุมนุมทางการเมือง สถานีโทรทัศน์หรือวิทยุสำนักต่างๆ ก็มักจะรายงานข่าวกัน มากบ้าง น้อยบ้าง แตกต่างกัน แต่สำหรับเมื่อวานนี้(24 พ.ย.) จะเห็นได้ชัดเจนว่าเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า สื่อโทรทัศน์ดาวเทียมช่องหลายช่อง ต่างก็เกาะติดและรายงานเหตุการณ์ต่อเนื่องกันทั้งวัน โดยเฉพาะ "บลูสกาย" เป็นอีกช่องที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นสื่อช่องการเมือง แต่ทางผู้บริหารก็ได้อธิบายว่า เหตุใดจึงตัดสินใจรายงานสด ขณะที่ กสทช.เอง ยืนยันว่า มีแผนในการกำกับดูแลเนื้อหาสื่อในการรายงานเหตุการณ์ช่วงเกิดการชุมนุม

<"">

 

ภาพเหตุปะทะและการใช้แก๊สน้ำตาที่เกิดขึ้น ในการชุมนุมของที่สถานีโทรทัศน์ "บลูสกาย" สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม พอดีกับเวลาที่ถ่ายทอดสด รวมทั้งเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามตลอดทั้งวัน เรื่อยไปจนถึงเวลาที่ "เสธ.อ้าย" แกนนำ ประกาศยุติการชุมนุม

การนำเสนอเหตุการณ์เช่นนี้ ส่งผลให้สังคมบางส่วนเกิดคำถามถึงความเหมาะสมในการเกาะติดสถานการณ์ แต่ผู้บริหาร ได้ชี้แจงว่า แม้จะโดนกล่าวหาว่าเป็นช่องทีวีการเมือง แต่ก็มีการรายงานความเคลื่อนไหวจากฝ่ายต่างๆ ที่ไม่ใช่การแช่กล้องถ่ายทอดที่เวทีปราศรัยของแกนนำเท่านั้น พร้อมเห็นว่า ช่องทีวีดาวเทียมประเภทนี้ จะทางเลือกให้กับประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะที่ต้องการเกาะติดสถานการณ์เช่นกัน

<"">
<"">

 

"เราเหมือนสถานีข่าว บวกความเห็นนะครับ ถ้าดูการถ่ายทอดบวกการนำเสนอข่าวสารจากพื้นที่ชุมนุมเมื่อวานนี้(24 พ.ย.) เราสลับกับการวิเคราะห์ในสถานี สัมภาษณ์ผู้คนต่างๆ และรายงานสดจากพื้นที่ ไม่ได้ไปแช่กล้องการชุมนุม การปราศรัยบนเวที ที่อาจจะมีความรุนแรงกว่าปกติ" เถกิง สมทรัพย์ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ บลูสกาย

ด้านนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มองว่า มีความเป็นไปได้ที่สื่อฟรีทีวี จะระมัดระวังการรายงานเหตุที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากการทำสัมปทานกับรัฐ รวมถึงผังรายการที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า ซึ่งเกี่ยวพันกับโฆษณาที่เป็นรายได้หลักของแต่ละช่อง รวมถึงการตัดสินใจของบรรณาธิการ และทีมงานในการนำเสนอข้อมูล ขณะที่ช่องโทรทัศน์ดาวเทียมนั้น ก็มีความชัดเจนว่า มีกลุ่มคนนิยมเสพข่าวสารมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญ แต่อนาคตเมื่อโทรทัศน์จะต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอล ที่จะทำให้มีช่องฟรีทีวีเกิดขึ้นกว่า 40 ช่อง การแข่งกันที่ความรวดเร็ว ก็จะไม่ใช่คำตอบ และประชาชนที่เสพข้อมูลก็จะต้องมีวิจารญาณในการเลือกรับชม

<"">
<"">

 

"ใครได้สถานการณ์ในช่วงนั้นได้เร็วกว่ากัน เด็ดกว่ากัน ครอบคลุมมากกว่ากัน หรือในอนาคต จุดที่จะแข่งกันก็อาจเป็นการตีความเหตุการณ์ เมื่อเหตุการณ์มันเกิดขึ้นอย่างนี้ สถานการณ์ต่อไปจะเป็นอย่างไร ผลกระทบ ประชาชนกระทบอย่างไร" ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ฝ่ายกำกับดูแลอย่าง กสทช. ก็ยอมรับว่าในขณะนี้ ยังไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลการนำเสนอเนื้อหาในระหว่างเกิดการชุมนุมได้อย่างเต็มที่ จึงต้องปล่อยผ่านไปก่อนในระหว่างนี้ จนกว่าจะทำประชาพิจารณ์ผู้ประกอบกิจการฯ แล้วเสร็จ ในต้นปีหน้า เพื่อให้เห็นความต้องการของผู้ประกอบการร่วมกันก่อนที่กสทช.จะออกประกาศบังคับใช้ ซึ่งรวมถึงช่องเน้นการเมือง เช่น บลูสกาย หรือ เอเชียอัพเดท จะต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการประเภทช่องรายการข่าว แต่ก็ต้องดูแลเนื้อหาให้เหมาะสมหลังจากนั้น เช่นเดียวกับการกำกับช่องฟรีทีวี เคเบิ้ลทีวี และทีวีดาวเทียมอีกหลายช่อง แต่เบื้องต้น เห็นว่า สื่อควรเสนอให้รอบด้าน เป็นกลาง และไม่ควรนำเสนอภาพข่าวที่มีลักษณะยั่วยุให้เกิดความรุนแรงเหมือนในปัจจุบัน

<"">
<"">

 

"มากไปบางทีมันไม่ได้เป็นผลบวกหรอกครับ เสนอแบบเสนอข่าว เราไม่ได้ดราม่าประเภทต้องตามทุกวินาที ถ้าท่านต้องตามทุกวินาที ผมถามว่าตั้งกล้องกี่นาที สมมุติไปฟังเขาฝ่ายเดียว ตรงนี้มีปัญหาว่าเป็นกลางไหม ถ้าจะเสนอทั้งวัน ต้องตั้งหลายที่มาก สัมภาษณ์คนหลายกลุ่มมาก แล้วต้องไปถามชาวบ้านที่เขาอยู่ตรงนั้นด้วยว่า เขาต้องการฟังอะไรมากขนาดนั้นหรือเปล่า" พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กสทช.

ปลายปีนี้ กสทช.มีกำหนดทดลองออกอากาศสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ ทั้งระดับชาติ และท้องถิ่น ซึ่งการนำเสนอข้อมูลของสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ถูกเชื่อมโยมว่าเป็นความขัดแย้งของสังคม ซึ่งอาจเป็นภาระหนักที่กสทช.จะต้องพิจารณาว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้การกำกับเนื้อหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความสมดุล ควบคู่ไปกับการปฏิบัติหน้าที่ของวิชาชีพ สื่อสารมวลชน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง