จำนำข้าวกระตุ้นชาวนาเร่งใช้เคมีเกษตร หวังเพิ่มผลผลิต

สิ่งแวดล้อม
25 พ.ย. 55
14:54
117
Logo Thai PBS
จำนำข้าวกระตุ้นชาวนาเร่งใช้เคมีเกษตร หวังเพิ่มผลผลิต

ราคารับจำนำข้าวที่สูงกว่าราคาตลาดทำให้ชาวนาหลายรายเพิ่มผลผลิตของตัวเองด้วยการเร่งใช้ปุ๋ยและยา เพื่อจะนำข้าวเข้ารับจำนำ แม้ว่าจะต้องรับภาระราคาปุ๋ยและยามากขึ้น ขณะที่กรมวิชาการเกษตรแนะเกษตรกรใช้ใช้สารเคมีอย่างเหมาะสมเพื่อรักษาคุณภาพข้าวและสภาพดิน

ต้นฤดูกาลปลูกข้าวนาปีรอบใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้น ทำให้ชาวนาบางรายในอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรีสนใจหาซื้อเคมีเกษตรทั้งปุ๋ยและยาฆ่าแมลงกันอย่างคึกคักจากร้านขายปัจจัยการผลิตในพื้นที่ร่วมกับบริษัทที่ผลิตเคมีเกษตร ที่ใช้กลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าด้วยการแจกรางวัลทั้งจักรยานยนต์ โทรทัศน์ ทำให้ชาวนาหลายรายสนใจซื้อปุ๋ยและยาจากร้านค้า

<"">
<"">

 

พวกเขาบอกว่านี่คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดูแลผลผลิตของพวกเขา เช่นเจ้าของที่นาแปลงนี้ บอกว่าเป็นครั้งที่ 2 ที่ต้องฉีดยาป้องกันวัชพืช หลังข้าวมีอายุเพียง 2 สัปดาห์ แต่กว่าข้าวจะเก็บเกี่ยวได้ในอีก 3 เดือนเศษข้างหน้า เขาจะต้องฉีดยาและใส่ปุ๋ยอีกหลายครั้ง

<"">
<"">

"ฉีดยาคุม 2 เที่ยว ยาหนอนก็ประมาณ 5-6 เที่ยว ปุ๋ย 2 เที่ยว แต่ก็แล้วแต่แต่ละคน บางคนก็ 3 ถ้าจะให้ผลดีเราก็ต้องเพิ่ม เพราะฉีดน้อยก็ไม่ได้ผล" นุชริน จันทร์ด่อน ชาวนา อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี

"ใช้ปุ๋ยอื่นข้าวก็ไม่ขึ้น ปุ๋ยเม็ดใช้เที่ยว 2 ยูเรียใช้เที่ยวแรก ไม่ใช้ไม่ได้ มันไม่โต ผลผลิตก็น้อย แต่ก็รู้ว่าใช้มาก ต้นทุนก็สูงขึ้น" ประยง สินธุช่วย ชาวนา อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี

แม้พวกเขาจะรู้ว่าการใช้เคมีเกษตรทำให้ต้นทุนการปลูกข้าวของเขาเพิ่มขึ้น แต่ก็ยืนยันความจำเป็นต้องใช้เพราะปุ๋ยและยาแม้ราคาจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่เมื่อเทียบกับราคารับจำนำข้าวในราคาสูงแล้ว ยังพอมีกำไรบ้างแม้จะไม่มาก ขณะที่เจ้าของร้านขายปัจจัยการผลิต ระบุว่า ราคาปัจจัยการผลิตมีแนวโน้มสูงขึ้น จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการในการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรและราคาวัตถุดิบในตลาดโลก ขณะที่กรมวิชาการเกษตรแนะลดใช้เคมีเกษตรเพื่อรักษาคุณภาพข้าวและสภาพดิน

<"">
<"">

 

"ปุ๋ยราคาสูงขึ้น เพราะบริษัท กรมวิชาการฯ การขึ้นทะเบียน กฎหมาย มันทำให้ต้นทุนบริษัทปุ๋ยเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้น" เจ้าของร้านขายเคมีเกษตร อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี

"ยาไม่ใช่ปัจจัยที่ต้องใช้โดยประจำเสมอไป ในทางเกษตรจริงๆแล้วต้องลดการใช้ยาให้น้อยที่สุด หรือการหาสารอื่นที่ไม่ใช่สารเคมีโดยตรงมาใช้" ศักดิ์เกษม สุนทรภัทร์ ผู้เชี่ยวชาญควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร

<"">

 

ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตร รายงานว่า ปริมาณการนำเข้าปุ๋ยและยาฆ่าแมลง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบัน การนำเข้าคิดเป็นมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะ ราคารับจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดมาก เป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้ชาวนา เร่งปลูกข้าว แต่ผลที่ได้รับ อาจได้ข้างเชิงปริมาณที่เพิ่มขึ้น แต่คุณภาพข้าวลดต่ำลง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง