คำต่อคำผู้นำฝ่ายค้าน "ไม่ไว้วางใจ" นายกฯ

การเมือง
26 พ.ย. 55
05:54
134
Logo Thai PBS
คำต่อคำผู้นำฝ่ายค้าน "ไม่ไว้วางใจ" นายกฯ

ช่วงที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 ประเด็นมันมีนิดเดียวครับท่านประธานครับเขาบอกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจในอดีตก่อนหน้านั้น มักจะมีการกล่าวหากันว่าคนนั้นทุจริต คนนี้ทำผิดกฎหมายแล้วก็พูดจากันในสภาลงมติ แล้วจบกันไป

เขาก็บอกว่าเพื่อความเป็นธรรมต่อทั้ง 2 ฝ่ายฝ่ายหนึ่งก็คือว่าฝ่ายเสียงข้างน้อยซึ่งพูดไปแล้วก็มักจะแพ้ในการลงมติ ก็มีโอกาสไปพิสูจน์ในกระบวนการทางอาญาต่อไปว่ามีการกระทำเช่นนั้นจริงหรือไม่

อีกด้านหนึ่งก็ให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกอภิปรายครับเพราะว่าการลงมติในสภาจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่แต่การกล่าวหาการแก้ข้อกล่าวหาเกิดขึ้นในสภาแล้ว เมื่อเป็นเรื่องที่มีความร้ายแรงถึงขั้นผิด รธน.ผิดกฎหมายหรือทุจริต ก็สมควรจะมีกระบวนการในการพิสูจน์ด้วย นี่คือที่มาของบทบัญญัติในมาตรานี่

เพราะฉะนั้น จริงๆ กระผมได้อภิปรายไปได้ปฏิบัติตาม รธน.หมดแล้วได้ คือกระผมได้ไปยื่นเรื่องต่อวุฒิสภาแล้ว ท่าน ปธ.สภาได้รับญัตติแล้ว พิจารณาแล้วว่าญัตติสมบูรณ์บรรจุระเบียบวาระเข้ามาแล้ว
ท่านประธานขอความร่วมมือให้ผมส่งเอกสารถอดถอนให้ ผมก็ดำเนินการแล้วครับ ถ้าผมพูดอะไรที่เห็นว่าเข้าข่ายเป็นเรื่องการถอดถอน แล้วก็ไม่ได้อยู่ในคำถอดถอน ท่าประธานสภาซึ่งทราบประเด็นอยู่แล้วก๋สามารถที่จะให้ผมหยุดการอภิปรายได้ เพราะฉะนั้นผมได้ทำความเข้าใจ และดำเนินการอภิปรายต่อไป ส่วนที่ท่านประธานจะดำเนินการแจกเอกสารให้กับท่านสมาชิกก็สามารถทำได้เลยครับ ผมก็จะเดินหน้าในการอภิปราย ยังไม่เข้าประเด็นตรงนั้นหรอกครับ จะได้ไม่เสียเวลาที่ประชุมของสภา

ท่านประธานที่เคารพครับ ผมกราบเรียนว่าจริงๆ แล้วผมจะทำหน้าที่ในการที่จะปูพื้นฐานกับการอภิปรายที่จะเกิดขึ้นต่อไปอีก 2 วัน และก็คงต้องถือโอกาสนี้ เนื่องจากว่าในช่วงเมื่อวานนี้ (25 พ.ย.) เป็นการอภิปรายเฉพาะประเด็น เฉพาะบุคคล ได้กล่าวอะไรเล็กน้อยเกี่ยวกับการเปิดอภิปรายในครั้งนี้ ต้องกราบเรียนท่านประธานว่า ผมเองแล้วก็เพื่อนๆ หลายคนอยู่ในสภา

ท่านประธานที่เคารพครับกระผม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ที่จริงผมกำลังจะกราบเรียนท่านประธานอยู่พอดีเลยครับ พวกกระผมซึ่งอยู่ในสภามาเป็นเวลายาวนานพอสมควร พบว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ดูมันมีอุปสรรค มึความยากลำบากเหลือเกิน เป็นครั้งแรกที่สื่อมวลชน ประชาชนต้องมาถามอยู่ตลอดเวลาว่า ท่านนายกจะมาฟังคำอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่

ผมกราบเรียนท่านประธานว่า ผมไม่อยากเห็นว่ากระบวนการทางการเมืองของเรายังจะต้องตั้งคำถามในเรื่องเหล่านี้ และผมอยากเห็นกระบวนการทางการเมืองนั้น เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ในการรักษาระบอบประชาธิปไตยนี่แหละครับ และเพื่อทำให้สังคมของเราสามารถเดินไปได้อย่างสงบสุข เพราะถ้าเราปิดกั้นพื้นที่ทางการเมืองมากเท่าไหร่ความอึดอัดในสังคมก็จะมามากขึ้นเท่านั้น แล้วสุดท้ายก็จะทำให้เกิดปัญหากับระบบการเมืองของเรา

ผมทราบดีครับว่าการอภิปรายครั้งนี้ พวกเราก็ถูกปรามาส ถูกสบประมาทเยอะครับว่าบอกว่าเป็นเรื่องของการเอาข้อมูลจากสื่อมาตัดแปะอะไรทำนองนี้ แต่ผมคิดว่าท่านประธานก็ดี ท่านนายกรัฐมนตรีก็ดีถ้าท่านได้ติดตามการอภิปรายเมื่อวาน (25 พ.ย.) ผมคิดว่าเราได้พิสูจน์ให้เห็นนะครับ ว่าการทำงานของเพื่อนสมาชิกฝ่ายค้านได้ทำงานอย่างละเอียด ศึกษาทั้งเอกสาร ไม่ว่าจะเป็นเอกสารของราชการ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากแหล่งต่างๆ รวมไปจนถึงการลงไปในพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลจริงมาเสนอต่อท่านประธานต่อรัฐบาล และต่อพี่น้องประชาชน

และก็ต้องกราบเรียนครับว่าถ้าท่านนายกฯ ฟังอยู่เมื่อวานผมเชื่อว่าท่านต้องคิดแล้วแหละครับ ว่ารัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการทุจริต กรณีของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาไทยในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านต้องคิดจริงๆ ครับว่า คำตอบของท่านรัฐมนตรีเมื่อคืน มันเป็นชี้แจงที่ตอบสาธารณะชนได้จริงหรือไม่ เมื่อพรรคฝ่ายค้าน สมาชิกหลายท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งขออนุญาติเอ่ยนามคือ คุณวิฑูรย์ นามบุตร ได้ชี้ให้เห็นถึงกระบวนการไม่ชอบมาพากลที่กำลังเกิดขึ้น และเป็นเรื่องที่ท้าทายความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีต่อไป

เช่นเดียวกับกรณีของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเมื่อวาน (25 พ.ย.) ถ้าท่านนายกรัฐมนตรีติดตามฟังอยู่จะทราบว่า ตอบมาว่าที่ไปเปลี่ยนระบบเป้าลวงในกองทัพเรือ เอาของเก่าหรือรุ่นเก่ามาแทนของใหม่ ซึ่งราคาถูกกว่ากันท่านพูดเองนะครับว่าเป็นร้อยล้าน แต่ลดราคาจริงพันบาท มันเป็นคำตอบให้พี่น้องประชาชนได้รึยัง

สิ่งเหล่านี้ที่ผมจะยืนยันกับท่านประธาน และท่านายกก็คือ กระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจมันเป็นการทำหน้าที่ในการตรวจสอบ และการทำหน้าที่ในการตรวจสอบของฝ่ายค้าน มันมีประโยชน์กับสังคม
วันที่พวกผมเป็นรัฐบาลพวกผมไม่เคยตั้งแง่ ตั้งเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้นครับ ผมถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 3 ครั้ง ไม่มีครั้งไหนเลยครับที่จะเข้ามาตั้งคำถามว่าผมจะมาฟังการอภิปราย มาตอบการอภิปรายหรือไม่ เพราะผมถือว่านั้นคือหน้าที่สำคัญ และผมกราบเรียนครับว่าไม่ใช่เฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรอกครับ การที่รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี จะต้องรับผิดชอบต่อผู้แทนปวงชนชาวไทยคือหัวใจของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในระบบรัฐสภา กระทู้ถามสดเราแทบไม่เห็นนายกตอบกระทู้เลยครับ และระยะหลังถือโอกาสกราบเรียนท่านประธานฟ้องไปยังท่านนายกนะครับว่าคนที่ท่านมอบหมายก็ไม่มาตอบ และตอนหลังยิ่งกว่านั้นอีกครับ กฎหมายของกระทรวงนึงให้รัฐมนตรีอีกกระทรวงนึงซึ่งไม่ได้รักษาการแทนมาตอบ เพราะเป็นคนเดียวที่อยู่ในสภาฯ

ผมกราบเรียนว่าผมได้ยินท่านนายกเวลาไปกล่าวปาฐกถาบรรยายในต่างประเทศเวลาพยายามชี้แจงกับพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะในวันที่จะมีมวลชนมาชุมนุม ว่าขอให้ทุกอย่างนั้นดำเนินการในระบบของรัฐสภา ผมเห็นด้วยครับ แต่ท่านต้องทำตัวเป็นตัวอย่างก่อนในการใช้ระบบรัฐสภา และผมหวังว่าปิดสมัยประชุมนี้ไปอย่างน้อยที่สุดท่านนายกฯ ก็จะได้มีโอกาสทบทวนท่าทีแนวทางการทำงานของรัฐบาลที่มีต่อกระบวนการของรัฐสภา เมื่อเปิดสมัยประชุมต่อไปถ้าสภานี้ยังไห้ความไว้วางใจท่านอยู่

ท่านประธานที่เคารพครับผมกราบเรียนว่าที่จริงแล้ว แม้กระทั่งการเปิดอภิปรายท่านนายกฯ ยังมีข้อหาที่มีคนยังไปพูดกันอีกว่า เสมือนกับว่าพรรคฝ่ายค้านรังแกท่าน ไม่มีหรอกครับ และผมอยากจะกราบเรียนเป็นเบื้องต้นว่าที่จริงผมถือว่าท่านนายกฯ เป็นคนที่โชคดีคนหนึ่ง คือเมื่อชนะการเลือกตั้งมามีเสียงในสภามีความมั่นคง ยังมีโชคดีอีกหลายด้าน ด้าแรกครับสถานะของประเทศในวันที่มีการส่งมอบงานกัน เมื่อสองหาคม 2554 หลายประเทศยอมรับเลยครับว่าเราอยู่ในสถานะที่ดี

1.เราผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ อัตรการขยายตัวทางเศรษฐกิจเริ่มขยายตัวเร็วขึ้น เราไม่มีปัญหาการว่างงานเหมือนกับหลายภูมิภาคในโลก สำคัญที่สุดก็คือเราผ่านพ้นมาได้โดยมีสถานะทางการเงิน และการคลังที่ถือว่าแข็งแกร่งพอสมควร ทำให้รัฐบาล มีช่องทาง มีเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นการเงินการคลังในการรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ หรือการที่จะตั้งหน้าตั้งตาในการพัฒนาประเทศ

2.ที่ท่านนายกโชคดีกว่าผมคือท่านมีฝ่ายค้านที่ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติ และไม่ขัดขวางการทำงานของท่าน

ท่านนายกไปให้สัมภาษณ์นะครับว่าท่านเดินทางไปได้ทั่วทุกภูมิภาค ก็ถูกต้องครับ ในพื้นที่ซึ่งท่านไม่มีผู้แทนราฎร มีผู้สนับสนุนไม่มาก มีผู้ที่สนับสนุนฝ่ายค้านมาก ฝ่ายค้านนี่แหละครับเป็นคนยืนยันกับพี่น้องประชาชนมาโดยตลอดว่า จะชอบใครไม่ชอบใคร แต่ทุกคนต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้ และพวกผมก็ยืนยันครับว่า พวกเราทำงานกันตามวิถีทางตามประชาธิปไตย เคารพกฏหมาย และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการทำงานในสิ่งที่เป็นวิกฤตของประเทศ ผมไม่เคยเกี่ยงเลยครับวันที่สภาหอการค้า เครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่น บอกอยากเห็นผู้นำฝ่ายค้าน อยากเห็นนายกรัฐมนตรีไปร่วมกันเดินรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นผมก็ไป ท่านก็คงจำได้ วันที่รัฐบาลบอกว่าอยากเชิญฝ่ายค้าน ส.ส.ในพื้นที่ไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้พวกผมก็ไป

แต่วันนี้สิ่งที่ผมจำเป็นต้องมาอภิปรายไม้ไว้วางใจท่านก็เพราะการบริหารราชการแผ่นดินของท่านกำลังสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับประเทศชาติ และอนาคตของลูกหลานคนไทย และผมกราบเรียนครับว่าที่เจาะจงอภิปรายนายกรัฐมนตรีหลายเรื่อง ก็เพราะมันเป็นความรับผิดชอบของท่านจริงๆ ไม่สามารถปฏิเสธได้ และวันนี้หลังจากที่เราไม่ได้มีโอกาสฟังผู้นำประเทศนายกรัฐมนตรีอธิบายกับประชาชนถึงแนวคิดที่แท้จริงของนายกฯ ในเรื่องทีเป็นเรื่องใหญ่ๆ จะเป็นเรื่องข้าว จะเป็นเรื่องการปราบปรามการทุจริต หรือเรื่องอื่นๆ วันนี้แหละครับฝ่ายค้านให้โอกาสท่าน ในการที่จะมาชี้แจงถึงแนวคิดของท่านต่อเรื่องเหล่านี้ เราอภิปรายท่านเพราะท่านคือประธานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เราอภิปรายท่านในเรื่องที่ท่านมีความรับผิดชอบตามกฎหมาย นี่คือสิ่งที่ผมยืนยันครับว่า เราไม่ได้มีการเฉพาะเจาะจงครับว่า ต้องอภิปรายนายกรัฐมนตรี แต่เป็นไปตามสภาพของเนื้องานการบริหารราชการแผ่นดินที่สร้างความเสียหายที่เกิดขึ้น

ท่านประธานที่เคารพครับผมขอเริ่มต้นว่าในขณะที่กระผมบอกว่าท่านรับมอบงานในเดือนสิงหาคม 2554 ประเทศอยู่ในสถานะที่ดีพอสมควร ถามว่าวันนี้สถานะของประเทศเป็นอย่างไรภาวะความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างไร เมื่อตอนครบรอบ 1 ปี และในญัตติไม่ไว้วางใจที่กระผมเขียนมา เราก็เขียนชัดครับ เราเจอปัญหาน้ำท่วม หนี้ท่วม แพงทั้งแผ่นดิน ถ้าเป็นพืชผลการเกษตรก็ถูกทั้งแผ่นดินหรือมีปัญหาทั้งแผ่นดิน ไฟใต้ท่วม ความขัดแย้งในสังคมยังดำรงอยู่ และที่สำคัญที่สุดครับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นเลวร้ายลง แต่ผมจะพูดอย่างนี้และไม่มีอะไรอ้างอิง ก็คงจะดูกระไรอยู่ ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะไปหาคนทีเป็นกลางที่จะประเมินได้อย่างไร ผมก็ลองไปหยิบดูการสำรวจ และจัดทำดัชนีความเจริญ หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า PROSPERITY INDEX ของหน่วยงานที่อยู่ที่อังกฤษ ซึ่งได้มีการประเมินสำหรับปี 2555 ใน 142 ประเทศเรียบร้อยครับ ปรากฎว่าประเทศไทย อยู่อันดับที่ 56 และในการประเมินของเค้าเค้าจะแยกออกเป็นด้านๆ ครับ ด้านที่ประเทศไทยยังไปได้ดีคือภาพรวมของเศรษฐกิจ และการที่คนไทยนั้นมีทุนทางสังคม ความหมายก็คือเรามีความเข้มแข็ง และคนไทยมีน้ำใจไมตรีเกื้อกูลกันซึ่งเป็นทุนทางสังคม ซึ่งจะเอื้อต่อการทำให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า ในหมวดเหล่านี้เราจะอยู่อันดับที่ 18 อันดับ 19 ครับ ซึ่งถือว่าสูงทีเดียว แต่พอมาดูประเด็นที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาล เราจะอยู่ที่อันดับ 64 พอเรามาดูปัญหาระยะยาว ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขเช่นการศึกษา สาธารณะสุขเราจะอยู่อันดับที่ 70 อันดับที่ 71 แต่ว่าสิ่งที่น่าตกในก็คือว่าในส่วนของความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน เราอยู่อันดับที่ 99 และน่าตกใจที่สุดครับ พอเค้าประเมินเรื่องของสิทธิเสรีภาพของประชาชน เราอยู่ที่อันดับ 129 จาก 142 ประเทศ เราไม่จำเป็นต้องเชื่อเค้าหรอกครับ แต่มันก็เป็นตัวสะท้อนตัวนึง บังเอิญเป็นดัชนีที่จัดทำกันล่าสุด ที่ผมหยิบมาได้ก็หยิบมา

แล้วถ้าท่านประธานถามว่า อันดับที่ 56 มันมีความเป็นมา เทียบไปแล้วเป็นอย่างไร ผมก็เทียบให้ดูว่า เค้าจัดทำมาตั้งแต่ปี 2552 ครับ ในปี 2552 นะครับ เราอยู่อันดับที่ 54 พอปี 2553 เราขยับขึ้นมาที่ 52 ปี 2554 เราก็ขยับขึ้นมาที่อันดับ 45 ครับ แต่ปีนี้เราตกรวดเดียว 11 อันดับ ไปอยู่อันดับที่ 56 เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าต้องการตั้งประเด็นไว้เท่านั้นเองว่าที่พวกผมพูดว่าการบริหารราชการแผ่นดินบ้านเมืองขณะนี้ สถานะของประเทศขณะนี้ยังมีความน่าเป็นห่วง พวกกระผมไม่ได้คิดเองฝ่ายเดียว แต่คนที่เขาประเมินจากข้างนอกเขามองเห็นหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งกำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย

ทีนี้ประเด็นที่กระผมอยากจะกราบเรียนว่า เวลาที่เราจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจท่านนายก เราเจอคำถามแปลกอยู่เหมือนกันครับ คือเค้าถามว่าท่านนายกทำผิดอะไร แต่มีแปลกกว่านั้นก็คือว่า ท่านนายกทำอะไร ความหมายก็คือว่าบทบาทของนายกรัฐมนตรีที่เราเห็นในขณะนี้ กระผมทราบดีครับว่าฝ่ายยุทธศาสตร์ทางการเมืองคนรอบๆ ตัวท่าน กันบทบาทของท่านออกจากการที่มาแสดงความคิดเห็น หรือถ้าเป็นเรื่องการเมืองพูดง่ายๆ ก็คือการปะทะตอบโต้ แต่จริงๆ มันก็คือการชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาสำคัญๆ ของประเทศ เป็นยุทธศาสตร์ซึ่งผมทราบครับว่า เขาก็ใช้กันหลายที่ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีลอยตัว จริงๆ พยานที่ดีที่สุดก็ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรแหละครับ เพราะว่าไปมีคลิปเสียงท่านที่ออกมาบรรยายว่านั่นหน่ะเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องแล้ว ผมไม่ติดใจหรอกครับว่าทำแล้วท่านได้เปรียบ หรือเสียเปรียบทางการเมือง เพราะถือว่าถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมายท่านก็มีสิทธิ์ที่จะทำ ท่านได้เปรียบทางการเมืองก็เป็นประโยชน์กับท่าน เป็นการแข่งขันกระผมไม่ติดใจ

แต่ถ้าการลอยตัวแล้วบทบาทของนายกรัฐมนตรีเป็นเช่นนี้ แล้วมันเกิดความเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดิน มันก็จำเป็นที่จะต้องอภิปรายว่า ท่านนายกฯ จะไม่ทำอะไรไม่ได้ เพราะบ้านเมืองกำลังเสียหายจากการบริหารงานของท่าน เพราะท่านเป็นหัวหน้ารัฐบาล ตรงนี้แหละครับ มีตัวอย่างที่สืบเนื่องมาจากการอภิปรายเมื่อวานง่ายๆ ครับ กรณีของท่านรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงกลาโหมอีกแล้วแหละครับ ที่ท่านได้กระทำการที่ผิดต่อเจตนารมย์ของกฎหมาย และข้อบังคับเกี่ยวกับการโยกย้ายแต่งตั้ง ไม่เป็นไปตามขั้นตอน สรุปสั้นๆ ง่ายๆ นะครับ

ประการแรก ตามกฎหมายขั้นตอนการแต่งตั้ง กรรมการของแต่ละหน่วยเป็นผู้เสนอขึ้นมา กรรมการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานร่วมกับผู้นำเหล่าทัพ แล้วก็มีท่านปลัดฯ เป็นเลขา กฎหมายและระเบียบเขียนชัดครับว่า มีหน้าที่ในการกลั่นกรอง คำว่ากลั่นกรองก็หมายความว่าท่านจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ กระผมไม่ได้บอกว่าท่านต้องเห็นชอบนะครับ คือท่านพยายามจะชี้แจงเหมือนในคลิปนะครับบอกว่า ถ้าต้องเห็นชอบไม่ต้องมีรัฐมนตรีก็ได้ ไม่ต้องมีกรรมการก็ได้ ความหมายมันไม่ใช่อย่างนั้นหรอกครับ ความหมายคือเขาไม่ต้องการให้การเมืองไปล้วงลูก ในองค์กรที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำรงความเป็นกลางทางการเมือง เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของชาติเพราะฉะนั้นการพิจารณากลั่นกรอง ถ้าท่านไม่เห้นด้วย ท่านก็อาจจะทักท้วงตั้งข้อสังเกตุ แล้วก็อาจย้อนกลับไป ให้คนที่เค้ามีอำนาจในการเสนอชื่อ คือจากข้างล่างขึ้นมาเสนอครับ ไม่ใช่บอกว่าถ้าคุณเสนอคนนี้ คุณก็จะเปลี่ยนเป็นคนนี้ นั้นไม่ใช่กลั่นกรอง ชัดเจนครับ

ประการที่ 2 นะครับ ระเบียบก็เขียนชัดนะครับในข้อ 13 ว่าตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมนั้นจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งจากราชการทหารชั้นยศ พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก ที่ครองอัตราจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ หรือพลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก มีการเรียงลำดับต่างๆ ชัดเจน แต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามนี้ สิ่งที่สำคัญครับท่านประธานครับ เมื่อเห็นได้ชัดว่าคนที่เค้าพยายามยึดตามกฎระเบียบนี้เขาทักท้วง ก็ยังมีกระบวนการ คือจะโยกย้ายเค้าก็ยังทำไม่ได้ ก็สั่งให้ไปปฏิบัติราชการ เพื่อเปลี่ยนองค์ประกอบของคณะกรรมการ ทำให้การประชุมครั้งถัดมาปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นตำแหน่งที๋โปรดเกล้าไม่ได้เข้าประชุม แต่เอาบุคคลซึ่งท่านสั่งให้ฏิบัติหน้าที่แทนปลัดกระทรวง มาเป็นกรรมการแทน ถ้าเราอนุญาติอย่างนี้ ต่อไปนี้กรรมการทุกกรรมการแหละครับ ถ้ากรรมการคนไหนดำรงตำแหน่ง มีตำแหน่ง ทางราชการอยู่ไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ ก็สั่งให้ไปทำอย่างอื่นหมดครับ แล้วก็เอาคนที่เห็นด้วยกับตัวเองบอกว่าขอให้ปฏิบัติหน้าที่นั้น เฉพาะวันนั้นมาประชุมก็ได้ เราจะวางระบบอย่างนี้เหรอครับ ทีนี้ของท่านรัฐมนตรีท่านก็ชี้แจงไปแล้วนะครับ แต่ว่าทุกอย่างก็ยื่นถอดถอนไป แล้วก็คลิปเสียงผมเข้าใจว่าท่านไม่ปฏิเสธนะครับว่าเป็นคลิปจริง แล้วก็ที่ยื่นให้ท่านประธานก็คือครบทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะที่มาเปิดในนี้ ก็ไปพิสูจน์กัน

แต่ผมติดใจที่ท่านนายกตอบเมื่อวาน เพราะว่าท่านตอบก็ตามสูตรแหละครับว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับท่าน ท่านปลัดกระทรวงไปร้องเรียนต่อท่านนะครับ มีหลักฐานเรียบร้อยว่าไปขอพบท่านเมื่อไหร่ อย่างไรมีการรับเอกสารเรียบร้อย ท่านนายกชี้แจงเพียงแค่ว่าเมื่อรับเรื่องแล้วก็ส่งกลับไปแจ้งให้ทางกระทรวงกลาโหมทราบ เพื่อไปทบทวนพิจารณาสุดแล้วแต่ แต่ท่านไม่ได้บอกต่อนะครับว่าการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ขั้นตอนสุดท้ายไปที่ไหนครับ เมื่อทางกระทรวงพิจารณาเสร็จ ส่งให้ใครครับ ส่งให้นายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการในการทูลเกล้าครับ ผมยืนยันว่าหน้าที่ตรงนั้นไม่ไช่หน้าที่ของการเป็นไปรษณีย์ แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรี เคยได้รับเรื่องร้องเรียน และสามารถตรวจสอบได้ง่ายๆ ว่าเป็นไปตามข้อบังคับหรือไม่อย่างไร ความรับผิดชอบที่จะต้องดูแลแก้ไขเรื่องนี้มันมีมากกว่านี้

ผมไม่มาเถียงหรอกครับว่าระหว่าง 2 ท่านที่มีการเสนอชื่อหรือไม่เสนอชื่อใครมีความเหมาะสมกว่ากัน ผมไม่ก้าวล่วงครับ เพราะกระผมไม่ทราบจริงๆ แต่อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่พวกเราบอกก็คือว่า ต้องดูแลว่าการปฏิบัติตามกฎหมายตามระเบียบ มันเกิดขึ้น และรัฐมนตรีทุกท่านก็เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านนายกฯ นี่ไงครับตัวอย่างที่ผมบอกว่าถ้ายุทธศาสตร์บอกว่าจะต้องลอยตัวจะได้ไม่เป็นปัญหา ถ้าในทางการเมืองมันจะส่งผลอย่างไรผมไม่ติดใจ แต่ในทางการบริหารราชการแผ่นดิน การไม่ดำเนินการเข้ามาแก้ไขตรงนี้มันส่งผลต่อควาเป็นธรรม มันส่งผลต่อการเคารพกฎหมาย เคารพกฎระเบียบ และมันก็จะกลายเป็นเยี่ยงอย่าง บรรทัดฐาน ให้เกิดปัญหากับกฎระเบียบอื่นๆ ต่อไป เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นตัวอย่างที่กระผมกราบเรียนว่า ท่านจะลอยตัวอยู่เหนือปัญหาไม่ได้

เช่นเดียวกันครับกับอีกปัญหาหนึ่งซึ่งจะมีท่านสมาชิกท่านอื่นพูดในรายละเอียดครับ ก็คือปัญหาของชายแดนภาคใต้ ซึ่งท่านนายกเองโดยโครงสร้างจะต้องดูแลงานที่เป็นงงานสำคัญ 2 ขา คือความมั่นคง กับการพัฒนา กฎหมายความมั่นคงก็ดี กฎหมาย ศอ.บต. ก็ดี จึงเป็นกฎหมายที่ให้นายกรัฐมนตรี เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด

ตรงนี้กระผมให้ความเป็นธรรมกับท่านนายกฯ ท่านนายกคงจำได้ว่าวันที่ผมไปทำเนียบฯ ผมก็บอกว่าผมเข้าใจดีครับ นายกรัฐมนตรีจะมาทำทุกเรื่อง รู้ทุกเรื่องเป็นไปไม่ได้ แต่ผมกราบเรียนในขณะนั้นว่า สิ่งเดียวที่พวกเราชาวประชาธิปัตย์อยากเห็นก็คือ ถ้าท่านายกเห็นว่าจำเป็นจะต้องมอบหมายบุคคลใด ก็ขอให้มีความชัดเจน เราแนะว่า เอาคนนึงระดับรองนายกฯ ถ้าท่านนายกฯ จะไม่ดูแลเอง รองนายกฯ 1 คนดูแล แล้วก็มีรัฐมนตรีอีกซัก 1 ท่านนะครับ ที่ไปอยู่ในพื้นที่ เพราะพื้นที่มีเงื่อนไขเยอะ เกิดปัญหาบ่อย ต้องมีรัฐมนตรีซักคนเกาะติดพื้นที่ คอยรายงาน คอยแก้ปัญหาในฝ่ายนโยบาย แต่ 1 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมาครับ มีการมอบหมายรองนายก 3 คน 4 คน จนสับสนกันไปหมดว่าใครเป็นผู้ดูแล

วันนั้นไปที่ทำเนียบที่สุดท่านให้คำตอบผมว่าคนที่เป็นหลักจริงๆ ถือว่ามีสถานะเหนือกว่ารองนายกฯ คนอื่นก็คือ รองฯ ยุทธศักดิ์ครับ ผมก็ดีใจ หลังจากนั้นผมก็คุยกับ รองฯ ยุทธศักดิ์ หลายครั้งนะครับ เช่นเกิดปัญหาว่า ชาวบ้านค้าขายวันศุกร์ไม่ได้ ผมก็ยังไปคุยกับท่าน เจอท่านทีไรก็คุยเพื่อช่วยกัน สุดท้ายท่านนายกปรับเค้าออก แล้วปรับออกเสร็จก็เกิดปรากฏการณ์ที่แปลกมากก็คือว่าไม่มีรองนายกฯ คนไหน อยากจะรับงานนี้ไปทำ เกี่ยงกันก็เป็นเรื่องที่ดีนะครับที่ท่านนายกฯ บอกว่าจะมาดูแลเอง แต่ว่าเดี๋ยวเพื่อนสมาชิกที่จะอภิปรายจะชี้ให้เห็นนะครับว่า ท่านมาดูแลเองแล้วมันน่าจะเกิดปัญหาอะไร อย่างไรหรือไม่ นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างครับ ของการที่นโยบายที่มีปัญหามันมาจากการที่ผู้นำรัฐบาลขาดความชัดเจน

แต่เรื่องหลักๆ ที่ผมจะต้องอภิปรายในวันนี้ (26 พ.ย.) มี 2 เรื่องครับ ที่ในฐานะที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี และกำลังบริหารบ้านเมืองในขณะนี้ กำลังนำพาประเทศไปสู่ความเสียหาย เรื่องแรกก็คือเรื่องข้าวครับ เรื่องข้าวเป็นเรื่องที่ผมเชื่อว่า อยู่ในใจพี่น้องคนไทยทุกคน เราเติบโตมากับข้าวทั้งนั้นแหละครับ คนส่วนใหญ่ทีเป็นเกษตรกรที่เติบโตมากับการปลูกข้าว พวกเราทุกคนเติบโตมาก็กินข้าว มีประเทศไทยประเทศเดียวนี่แหละครับที่ทักทายกันคือ กินข้าวรึยัง มันอยู่ในวิถีชีวิตของพวกเราจริงๆ แต่วันนี้ข้าวโดยเฉพาะข้าวไทย กำลังถูกทำลายอนาคต จากนโยบายที่ผิดพลาด และทื่ผมต้ออภิปรายท่านนายกฯ เพราะท่านนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่ง ที่ 153/2554 ครับ แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ โดยแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ

และสิ่งที่พวกกระผมจะชี้ให้เห็นก็คือว่า วันนี้ เราต้องไม่หลงประเด็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับนโยบายจำนำข้าวนั้น เป็นเรื่องของปัญหาในทางปฏิบัติ ควาหมายคือนโยบายดี เดินหน้าไปปรับปรุงการปฏิบัติ แล้วจะแก้ไขได้ วันนี้สิ่งที่พวกกระผมจะชี้ และพิสูจน์ให้เห็นก็คือนโยบายนี้คือที่มาของปัญหา และคนที่จะเปลี่ยนนโยบายนี้ได้ ก็คือนายกรัฐมนตรี ผมฟังรัฐมนตรีท่านอื่นชี้แจงมาเยอะแล้วครับ รู้ว่าท่านไม่เปลี่ยนความคิดท่านแล้วละครับ แต่วันนี้พวกกระผมจะอภิปรายเพื่อบอกกับนายกรัฐมนตรีว่าท่านนำพาประเทศโดยการใช้นโยบายอย่างนี้ต่อไปไม่ได้

ผมขออนุญาติที่จะเข้าเรื่องให้เห็นว่าปัญหาของมันคืออะไร การจำนำข้าว และคำว่าการจำนำข้าว ที่จริงมันใม่ใช่เรื่องใหม่มันเคยทำกันมาแล้วในอดีต และการจำนำข้าวที่แท้จริงต้องเป็นการจำนำครับ วันที่เค้าเริ่มต้นนโยบายนี้ ประมาณเกือบ 20 ปี แล้วละครับ เค้าจำนำจริงๆ จำนำคืออะไรครับ จำนำคือว่าการรับของของคนเค้าไปและให้เงินต่ำกว่าราคาตลาด และผู้ที่เอาของมาฝากไว้จะมาไถ่คืนเมื่อไหร่ก็เป็นสิทธิ์ นั่นจำนำครับ ถ้าท่านนายกไม่เชื่อผมลองหาอะไรไปจำนำที๋โรงรับจำนำสิครับ แล้วดูสิว่าเค้าให้เงินท่านมากกว่าราคาของชิ้นนั้นที่ขายอยู่ในตลาดไม๊ ถามว่าจำนำในราคาต่ำกว่าตลาดทำทำไม ทำเพื่อดึงผลผลิตออกจากตลาดไม่ให้ผลผลิตมันล้นตลาด ให้เกษตรกรมีโอกาสในการรอจังหวะลืมตาอ้าปาก ราคาดีขึ้นค่อยมาเอาคืน แล้วไปขายเข้าสู่ตลาด นั่นคือโครงการจำนำครับ

แต่โครงการนี้ตอนหลังถูกบิดมาเป็นโครงการรับซื้อข้าว โดยรัฐบาลแต่ใช้ชื่อจำนำ ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยปี 2551 แล้วพวกกระผมตอนเข้าไปเป็นรัฐบาลปลายปี 2551 ก็จึงต้องทำโครงการนั้นต่อจนเสร็จสิ้นฤดูกาล แล้วเราเห็นมาแล้วครับว่ามันเสียหายอย่างไร การประกาศรับซื้อของที่แพงกว่าราคาที่เค้าซื้อขายกันโดยปกติทั่วไป ก็หมายความว่า ในที่สุดคนรับซื้อนั้นจะต้องซื้อของเข้ามาทั้งหมดครับ เพราะคนขายต้องการขายที่ที่ขายได้แพงที่สุด เมื่อคนอื่นเค้าซื้อขายได้ในราคานึง แต่รัฐบาลบอกให้เค้าไปอีก 15% 20% 30% เขาก็ต้องมาขายรัฐบาล เพราฉะนั้นโดยการออกแบบของนโยบายนี้ คือนโยบายที่จงใจให้รัฐบาลเป็นผู้ซื้อ และขายข้าว ในช่วงที่ทำกันปี 2551 ต่อเนื่องมานั่นแหละครับ ยังเป็นโครงการซึ่งทำจำกัดคือมีโควต้า แล้วสุดท้ายก็เกิดจุดอ่อนไงครับว่า คนเข้าร่วมโครงการ มีโควต้าเข้าได้ ก็ได้ประโยชน์ แต่มีเกษตรกรจำนวนมากเข้าไม่ได้

พวกผมถึงได้เปลี่ยนโครงการจำนำข้าว เป็นโครงการประกันรายได้ เพื่อให้เกษตรกรทุกรายได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล ด้วยการได้รับเงินส่วนต่าง พอโครงการนี้ดำเนินการไปท่านจึงไปคิดนโยบายว่าอยากจะกลับไปจำนำ แต่คราวนี้เพื่อแก้จุดอ่อนว่าเดิมจำนำแล้วมีโควต้า ท่านก็เลยบอกว่าจำนำทุกเม็ด เพราะฉะนั้นนโยบายนี้เป็นนโยบายรับซื้อข้าว และเป็นนโยบายที่นำไปสู่การผูกขาดการค้าข้าวของรัฐบาลครับ มันจึงเป็นโครงการซึ่งเป็นการซึ่งทำลายกลไกการซื้อขายตามปกติโดยสิ้นเชิง

การอภิปรายของพวกกระผมจึงมุ่งมาสู่ตรงนี้ครับ เรื่องการทุจริตที่เกิดขึ้นตลอดทางมันเป็นปลายเหตุครับ ต้นเหตุอยู่ที่นโยบายเป็นนโยบายที่ออกแบบมาแล้วเอื้อให้เกิดการทุจริตขึ้น แล้วก็ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่พวกผมคิด แล้วไม่มีคนอื่นคิดหรือเตือนรัฐบาลนะครับ 7 ตุลาคม 2554 ป.ป.ช.ทำหนังสือถึงท่านายกฯ ครับ เตือนไว้แล้วว่านโยบายรับจำนำข้าวมีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการทำให้เกิดการทุจริตอย่างกว้างขวาง แล้วประเดี๋ยวพวกกระผมก็จะไล่ไปทีละขั้นตอนเลยนะครับว่าการทุจริตมันเกิดขึ้นในขั้นตอนไหนอย่างไรบ้าง

แต่ผลที่กำลังจะเกิดขึ้นเพราะผมจะไม่ลงรายละเอียดมากนะครับ เดี๋ยวจะมีผู้ที่มาวิเคราะห์ให้ท่านเห็นได้ละเอียดกว่านี้ ที่เกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นต่อไปกับข้าวของประเทศไทย และการบริหารราชการแผ่นดินคืออะไร

ข้อแรกครับ เมื่อรัฐบาลจะเป็นผู้ผูกขาดซื้อขายข้าวทั้งประเทศ ด้วยนโยบายซื้อแพง แล้วต้องขายถูก การขาดทุนเกิดขึ้นแน่นอน การขาดทุนเกิดขึ้นเท่าไหร่หล่ะครับ เถียงกันเยอะมาก แล้วก็มักจะมีการมาตอบโต้ว่าใช้เงินมากกว่า น้อยกว่า โครงการนั้น โครงการนี้ผมไม่อยากให้สับสนนะครับ เราใช้ตัวเลขเดียวกันแล้วกันครับ ผมใช้ตัวเลขของรัฐบาล

ตัวเลขของรัฐบาลบอกเลยครับว่าการบริหารจัดการในเรื่องข้าวนะครับ ผมถือเอาตามหนังสือของสภาพัฒน์ ที่ส่งถึง ครม.ที่ผ่านมาต้องใช้วงเงินไปแล้วถึง 517,958 ล้านบาท อันนี้คือวงเงินที่ใช้นะครับ และแน่นอนครับในส่วนนี้เมื่อท่านขายข้าวก็จะได้กลับมาส่วนหนึ่ง ผมก็ไปดูต่อว่า ขายกลับมาจะสักเท่าไหร่อย่างไร ผมก็ถือเอาตามหนังสือของกระทรวงการคลังครับ ถึง ครม.เช่นเดียวกันครับลงวันที่ 3 ตุลาคม 2555 เขียนไว้ชัดครับ ตามสมมุติฐานของท่านเลยนะครับ เขียนไว้ว่าหากกรณีระบายผลิตผลที่รับจำนำได้ใน 3 ปี จะมีภาระการบริหารการปรับโครงสร้างหนี้เฉลี่ยปีละ 224,553 ล้านบาท เยอะแค่ไหนครับ เรากำลังพูดถึงการขาดทุนในโครงการเดียวประมาณีร้อยละ 10 ของงบประมาณทุกปี จึงได้มีการประเมินโดยผู้เชียวชาญว่า ถ้าทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อีก 7 ปี หนี้สาธารณะก็จะไปแตะอยู่ที่ร้อยละ 60 ของรายได้ประชาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่เข้าสู่ภาวะสุ่มเสี่ยงมีความเป็นอันตราย นอกจากอะไรหล่ะครับ นอกจาก 1 ท่านไปเก็บภาษีอากรเพิ่มจากประชาชน หรือ 2 ท่านก็ต้องไปลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในโครงการต่างๆ ซึ่งความจริงนักวิชาการเค้าก็ชี้ให้เห็นแล้วนะครับว่ามีหลายโครงการที่จะต้องได้รับผลกระทบในเรื่องของการเงินการคลังต่อไป

นี่คือผลกระทบข้อแรกครับ เพราะเราไม่เคยมีโครงการไหนที่รัฐบาลดำเนินการ แล้วมีการขาดทุนปีละ 200,000 ล้านนะครับ ในประวัติศาสตร์

ความเสียหายประการที่ 2 ที่เกิดขึ้น คือฐานะของประเทศ เพราะเมื่อรัฐบาลเป็นผู้ผูกขาดข้าว ซื้อขายข้าว ในราคาที่สูงกว่าตลาดหลายสิบเปอร์เซนต๋ ท่านจะขายไปยังไงหล่ะครับ ถ้าท่านขายถูกกว่าที่ท่านซื้อมาเค้าไปร้อง WTO อยู่นะครับ ปีที่แล้วเนี๊ยเรียกไปชี้แจงยังไม่มีปัญหาเพราะว่าน้ำท่วมไม่มีข้าว เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกหรอกครับว่ามาถึงวันนี้ ที่เราเคยพยากรณ์ทำนายทายทักกันไว้ตั้งแต่ต้นว่าประเทศไทยจะสูญเสียแชมป์การส่งออกข้าวจึงเกิดขึ้นแล้ว ปีนี้ขณะนี้เราอยู่ในอันดับ 3 ครับ แล้วก็คนที่เค้าแซงเราไป รัฐมนตรีเค้าออกมาขอบคุณเรียบร้อยครับในวันที่เค้าแซงเราได้เพราะนโยบายของเรา

การส่งออกนี่ ตัวเลขที่พวกผมใช้อยู่นะครับ จะใช้ตามปีปฏิทิน ปีนี้ปริมาณน่าจะลดลงประมาณร้อยละ 35 ครับ แต่ถ้าท่านเอานับตั้งแต่เริ่มต้นจำนำข้าวปีที่แล้วบวกไปอีก 2-3 เดือนมาเทียบการส่งออกปีก่อนหน้านั้นจะลดไปประมาณครึ่งนึงครับ แล้วท่านไม่ต้องมาชี้แจงผมนะครับ บอกว่าไม่เป็นไรปริมาณข้าวที่ออกไปน้อยลง แต่ว่าเราได้เงินมากขึ้นเพราะข้าวไทยแพงขึ้น เพราะมูลค่า คือเอาราคาไปคูณกับปริมาณที่ส่งออกก็ลดลงไปประมาณร้อยละ 25 ครับ ถ้าเอาตามปีปฏิทิน ถ้าเอาตามตั้งแต่เริ่มต้นจำนำข้าวก็ประมาณร้อยละ 40 ครับ พูดง่ายๆ ก็คือว่า เงินที่เข้าสู่ประเทศจากการขายข้าวของประเทศไทยวันนี้ ลดลงไปเกือบครึ่งครับ ที่สำคัญก็คือว่าการสูญเสียตลาดไปแบบนี้ ท่านนายกฯ น่าจะทราบดีกว่าผม เพราะว่าเคยอยู่ภาคเอกชนนะครับ เสียตลาดไปแล้วไม่ใช่เอาคืนมาง่ายๆ นะครับ สมมุติท่านทำโครงการนี้ต่อไปจะอีกกี่ปีก็แล้วแต่ แล้วจะยกเลิก อย่าไปคิดนะครับว่ามันจะหวนกลับคืนมาว่าข้าวไทยจะสามารถกลับไปแข่งขันได้ เหมือนก่อนมีนโยบายนี้ และนี่กระผมพูดถึงเฉพาะเรื่องปริมาณนะครับ เวลานี้ปัญหาเกิดขึ้นกับเรื่องคุณภาพด้วย เพราะนโยบายนี้เป็นนโยบายที่จูงใจให้เกษตรกร ต้องปลูกข้าวให้ได้มากที่สุด เร็วที่สุดครับ เพราะฉะนั้นเราจะมีข่าวเรื่องคุณภาพข้าวไทยที่ได้รับผลกระทบในเชิงลบอย่างต่อเนื่องมา และจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นครับ นี่คือความเสียหายประการที่ 2 จากนโยบายนี้

ประการที่ 3 ครับ นอกจากฐานะการเงินการคลังถูกกระทบ การส่งออก ขีดความสามารถ การแข่งขันของข้าวไทยถูกกระทบ การทุจริตคอรัปชั่น ที่เกิดขึ้นกับวงการข้าวทั้งหมดรุนแรงมากครับ โกงทุกขั้นตอน จริงๆ ในญัตติเขียนว่าโกงทั้งแผ่นดิน แต่เมื่อวานผมดูแล้วไม่ครอบคลุมครับ เพราะเดี๋ยวนี้มันไปร่องน้ำ กับทะเลด้วยนะครับ การโกงที่เกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของข้าวนะครับ

1.เริ่มตั้งแต่ท่านสามารถไปถามเกษตรกรได้เกือบทุกพื้นที่ ว่าไอ่ขั้นตอนความยุ่งยากของการจำนำข้าว ทำให้เกษตรกรที่เอาข้าวไปจำนำถูกโกงหรือถูกกดสารพัด ผมตระเวนไปพบปะเกษตรกร ผมจังหวัดไหน พบเกษตรกรจังหวัดไหนผมก็จะถามครับว่า จำนำข้าวหลายคนเข้าโครงการไม่ได้ หลายคน เดี๋ยวจะมีคนพูด ว่าเข้าโครงการไปแล้วเงินยังไม่ได้ คนที่เข้าได้แล้วผมยังไม่เจอซักรายเดียวที่บอกว่าได้ 15,000 ที่มีได้คือ 10,500 ไม่ใช่ 15,000 นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นครับ แล้วปัญหาการทุจริตตรงนี้เดี๋ยวจะมีสมาชิกให้ท่านนายกได้เห็นนะครับว่ามีใบประทวน มีเอกสารต่างๆ ที่บ่งบอกถึงการทุจริตเกิดขึ้น

2. โดยที่รัฐบาล กลายมาเป็นผู้ค้าข้าว และกำกับการเคลื่อนย้ายของข้าวทั้งประเทศ ขณะนี้ธุรกิจที่เกี่ยวกับข้าวเช่น ธุรกิจโรงสี ใครที่มีเส้นสายกับรัฐบาลชอบมากครับ แต่ใครที่เคยประกอบโดยสุจริต ไม่มีเส้นสายสู้ไม่ได้แล้วครับ มันจึงเป็นการทำลายกลไกการแข่งขัน กลไกขอการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ดีถูกทำลายหมดครับ แล้วก็นำมาสู่ความเสียหายที่จะสะสมในระบบการค้าข้าวของทั้งประเทศ ผู้ส่งออกเขาคงไม่ร้องแล้วแหละครับ คงไม่เหลือเสียง ไม่เหลือกำลังที่จะร้องแล้ว เพราะเขารู้แล้วว่าเขาจะค้าข้าวไทยไปต่างประเทศได้เขาต้องวิ่งหารัฐบาลอย่างเดียว แต่ใครไม่อยากที่จะต้องวิ่งเต้น วันนี้เค้าทำอะไรครับ เค้าไปทำการค้าข้าวของเขมร ของปากีสถาน ของอินเดียครับ นี่คือความสูญเสียยิ่งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นกับข้าวของประเทศไทยครับ

และสุดท้ายแหละครับการทุจริตที่รุนแรงที่สุดที่ยังไม่มีการตรวจสอบเลย ก็คือเวลาท่านระบายข้าว จะขายข้าว เพราะท่านขายยังไงท่านก็ขาดทุนไม่มีทางได้เท่ากับราคาที่ซื้อเข้ามา แล้วก็เลยทำให้การขายข้าวตรงนี้เป็นปริศนามาตลอดตัวเลขการส่งออกข้าวที่เป็นทางการของรัฐฯ แทบไม่มีเลยนะครับ แต่ท่านนายกเองก็ยืนยันว่ามี G2G เท่านั้นเท่านี้ล้านตัน

แต่จากเดิมบอกว่าปลายนี้เห็นข้าวออกไป ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้วครับเป็นปลายปีหน้า แต่ว่าที่วันนี้ต้องพูดันยาวหน่อยก็คือ ไอ่ G2G ของท่านคืออะไร มันจีเจี๊ยะ จีเจ๊ง จีเจ๊ จีจีน จีโจ๊ก หรือจีอะไรครับ เดี๋ยวจะมีสมาชิกชี้ให้เห็นนะครับ หรือที่พวกฝรั่งหน่อยเค้าจะเรียก บริษัทผีคืนชีพรึเปล่า เดี๋ยวท่านดู มันจะบ่งบอกให้เห็นถึงกระบวนการทุจริตที่เป็นระบบทั้งหมดครับ ผมกราบเรียนท่านประทานครับว่า การทุจริตไม่ควรจะมี ถ้าไม่มีการทุจริตแล้วท่านบอกกับผมว่า ต้องยอมขาดทุนเพื่อให้ชาวนาลืมตาอ้าปากขึ้น อย่างนี้ฟังได้และพวกผมที่อภิปรายไม่มีใครคัดค้านเลยนะครับว่ายังงัยรัฐบาลจะทำโครงการไหนก็ต้องขาดทุนเพราะว่าเอาเงินไปให้ชาวนาตรงนี้พวกกระผมเห็นด้วยครับ เพียงแต่ว่า ท่านไปคำนวนตัวเลขดูซิครับ ผมเอาหนังสือของท่าน รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าวเป็นตัวเลขที่ใช้เพื่อจะได้ไม่ต้องโต้เถียงกัน แล้วท่านลองไปคำนวนซิครับ ว่าที่ท่านบอกต้องขาดทุน 200,000 กว่าล้านเพื่อชาวนามันจริงหรือเปล่า

ชาวนาได้ประโยชน์คำนวนจากอะไรครับ คำนวนจากคนที่เข้าโครงการจำนำได้ ปรากฎว่ามีข้าวที่เข้าสู่โครงการจำนำตามตัวเลขของท่านนะครับ18 ล้านตันโดยประมาณ คนกลุ่มนี้นะครับ ผมตีให้ด้วยว่าได้ตามราคาที่โฆษณาเลย15,000-20,000 เข้าจได้ตันละประมาณ 5-6 พันครับ แล้วผมก็ยังบวกให้อีกตามที่ท่านโฆษณาไว้นะครับว่า แม้แต่คนที่เข้าโครงการไม่ได้ซึ่งมีข้าวอีกจำนวน 19 ล้านตัน ท่านบอกว่าพวกนี้ก็ได้ประโยชน์เพราะโครงการจำนำข้าวทำให้ราคาข้าวขึ้นมาประมาณ 8%ก็เอาง่ายๆว่าได้ไปคนละตัน ตันละ1000 บาทท่านบวกออกมาซิครับ ว่าสรุปแล้วชาวนาที่ท่านบอกว่าได้รับประโยชน์จากตัวเลขของท่านเองนะครับได้เงินไปเท่าไหร่ ประมาณครึ่งเดียวครับของเงินที่ขาดทุน เงินภาษีอากร 220,000 ล้านครับ

และผมจะบอกว่าจริงๆตัวเลขท่านก็ไม่จริงอยู่แล้วล่ะครับ เพราะคนได้ 15,000 กันน้อยมากละเป็นปีแรกนะครับที่ข้าวในประเทศไทนมีสูงถึง 37 ล้านตัน ในอดีตเข้าใจว่าสถิติคือ 34 ล้านครับและผมเชื่อว่า3 ล้านที่โผ่ขึ้นมานั้นมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าท่านบอกท่านอยากทำให้ชาวนานะครับ แล้วท่านพร้อมจะใช้เงินมากมายมหาศาลขนาดนี้ คือ 224,000 ล้าน

ผมคำนวนง่ายๆเลยครับเอาข้าว 34 ล้านตันไปหารเงิน 220,000 ล้านที่ต้องใช้ ปรากฎว่าท่านสามารถแจกเงินให้กับชาวนาได้ตันละ 6,000 บาททุกคนทั่วประเทศ แปลว่าทุกคนได้ 15,000 -20,000 ทุกคนครับไม่ใช่เฉพาะที่มาเข้าโครงการจำนำ ผมกำลังจะฟ้องประชาชนครับว่า รัฐบาลนี้เอาเงินประชาชนไป 220,000 ล้าน อ้างว่าช่วยชาวนา แต่ช่วยจริงอย่างเก่งคือครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่ง อยู่กับพ่อค้าโรงสีนักการเมืองทุจริตตรงนี้ครับที่พวกผมม่ยอม ไม่ใช่ไม่ยอมเอาเงินไปให้ชาวนาแต่ไม่ยอมให้ให้ชาวนาแค่ครึ่งเดียว นี่คือสิ่งที่ผมกลับเรียนว่าท่านนายก ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว และมีคนท้วง มีคนติง สารพัดมาโดยตลอดในทุกขั้นตอน การเพิดเฉยของท่านทำให้กระผมไว้วางใจท่านไม่ได้

เรื่องที่ 2 ที่จะต้องอภิปรายท่านนายกเป็นการเฉพาะ คือเรื่องที่ยื่นถอดถอนครับ หวังว่าทุกท่านได้เอกสารแล้วนะครับ เรื่องที่กระผมถอดถอนท่านนายก เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมาตรการของการป้องกันและปราบปรามทุจริตเป็นการเฉพาะ

ซึ่งก่อนจะไปถึงตรงนั้นต้องกราบเรียนอย่างนี้ หลังจากวันที่ท่านไปเดินรณรงค์ เรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น มาตรการของรัฐบาลที่เป็นระบบจริงๆที่จะแก้ปัญหาหาหรือป้องกันการทุจริตไม่มีเลยครับ และคนที่เขาพยายามที่จะร่วมมือกับรัฐบาลในการป้องกันและปราบปรามทุจริตเขาไม่เคยได้รับการตอบสนอง ผมยังตกใจเลยนะครับว่าหลังน้ำท่วมผมก็เดินสายพบกับองค์กรต่างๆเพื่อไปสอบถามว่าความเสียหายเขาคืออะไร มีอะไรพวกผกก็จะช่วยบอกรัฐบาลให้ดำเนินการได้

ผมตกใจและก็ดีใจครับว่า องค์กรหลักทางธุรกิจสิ่งแรกที่เขาพุดกับพวกผมก็คือว่าสิ่งหนึ่งที่เขาอยากให้พวกผมทำคือ ช่วยตรวจสอบงบเยียวยาน้ำท่วม และงบฟื้นฟูทั้งหลายเพราะเขากังกลว่าจะเกิดการทุจริตอย่างมหาศาล พอท่านนายกมาของบประมาณในเรื่องนี้ 220,000 ล้านบวกกับเงินกู้อีก 350,000 ล้าน ท่านไม่ได้ให้รายละเอียดกับสภา ผมจำได้ว่าผมก็ได้อภิปรายว่าความจริงแล้วมันไม่ได้เกินเลยวิสัยนะครับที่จะให้รายละเอียดกับ หรือไปทำในชั้นของกรรมาธิการ

เพราะสมัยรัฐบาลผมในช่วงน้ำท่วม แม้จะไม่ใช่น้ำท่วมใหญ่ เขาก็เสนออย่างนี้ล่ะครับว่านายกจัดเป็นงบกลางก้อนเดียวไปผมบอกไม่เอา คุณไปถ่ายรูปมาเลยที่ไหนเสียหาย ทำมาขอเป็นรายโครงการและผมเอารูปให้สภาดูทั้งสภานะครับ ตรวจสอบกันไปเลยตรงไหนเสียหายจริงไม่จริงมีซ้ำซ้อนมั้ย แต่ท่านนายกบอกว่าขอเป็นเงินก้อนเอาล่ะเร่งด่วนเราก็ทวงกันว่าแล้วจะตรวจสอบอย่างไร ท่านรับปากนะครับ บอกว่าสุดท้ายจะมีรายละเอียดสำหรับที่ตรวจสอบได้

สมัยไทยเข้มแข็ง ขึ้นว็บไซต์โรงการตั้งที่ไหนมีรูปถ่าย มีพิกัดมีราคากลาง มีรายละเอียดว่าใครประมูลได้ราคาเท่าไหร่ ต้องทำงานเสร็จเมื่อไหร่เดินชวนให้ประชาชนตรวจสอบ อีกทางหนึ่งร้องเรียนเข้ามาได้ แต่เว็บไซต์ของรัฐบาลเกี่ยวกับเงินน้ำท่วมไม่มีใครเข้าได้เลยครับ กรรมาธิการงบประมาณกำลังพยายามเข้าอยู่ 7 สัปดาห์เข้าไม่ได้ แล้วสุดท้ายผลที่เกิดขึ้นก็อย่างที่เราเห็นเมื่อวานงัยครับ ขุดล่อขุดหลอด อ้อยเข้าป่าช้าง ก้างติดขอ นายกฟังอยู่เห็นภาพชัดว่าเกิดอะไรขึ้น

นั่นก็คืสิ่งที่บ่งบอกว่าความจริงใจในการที่จะป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น มันมีปัญหามาตั้งแต่ต้นแต่จุที่เป็นปัญหาหลัก กระผมกราบเรียนครับว่ามันเป็นเรื่องที่พวกเราในอดีตพยายามทำงานกันมา ผมเป็นคนพูดเสมอครับทุกรัฐบาลมีการทุจริตไม่มีข้อยกเว้นล่ะครับและก็ไม่มีนายกคนไหรล่ะครับจะเก่งกาจสามารถไปป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตได้แม้แต่นิดเดียวเป็นไปไม่ได้ แต่เราต้องพยายามมาศึกษาวิเคราะห์ปัญหาว่า การทุจริตที่มันรุนแรงในระยะหลังนี้จะแก้กันอย่างไร หนึ่งเรื่องที่เราสรุปกันไปนะครับสัมมนากับปปช.จะทำนโยบายอะไรให้ดูผลกระทบด้วยว่าว่านโยบายนั้นออกแบบมาแล้วโอกาสการทุจริตมีมากหรือไม่ นั่นคือของการเสนอว่านโยบายอย่างจำนำข้าวอย่าทำรูปแบบนี้นั่นรัฐบาลก็เพิดเฉย

แต่ประเด็นที่ 2 ที่พูดกันมากก็คือว่าการทุจริต คอร์รัปชั่นที่เป็นปัญหาหนึ่ง คือราคากลางเพราะการทุจริตมัดจะเกิดจาการฮั้วและการฮั้วก็ฮั้วอยู่โดยอาศัยราคากลาง นี่ล่ะครับเป็นจุดที่ทำให้ฮั้วกันเอง แต่ถ้าราคากลางมันเป็นไปตามข้อมูลที่แท้จริงมันก็หากำไรกันยาก เราจึงต่อสู้ว่ากระบวนการจัดทำราคากลาง ไม่เปิดเผยราคากันต้องเกิดขึ้น ครม.ชุดนี้ก็ยังดีครับสานต่อเรื่องการคำนวนราคากลางใหม่ต่อจากที่รัฐบาลที่แล้วมอบหมายไว้เป็นมติเมื่อเดือนมีนาคม

แต่การเปิดเผยราคากลาง และการคำนวนราคากลางให้ตรวจสอบนี่ซิครับ นั่นคือปัญหา นั่นคือที่มาว่าทำไมก่อนยุบสภา สภาแห่งนี้จึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพรบ.ประกอบรัฐมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แล้วก้มีการเพิ่มกฎบัญญัติมาตรา 103/7 กับ 103/8 เข้าไป กฎหมายนี้ปปช.เป็นผู้รักษาการนะครับมาตราที่เพิ่มเข้าไป 103/7 คือบอกว่าให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวนราคากลาง ไว้ในระบบอิเล็กทรอนิกเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้

และมาตรา 103/8 ปชช.จะมีหน้าที่ในการรายงานต่อครม.ที่จะดำเนินการตามมาตรา 103/7วรรคหนึ่งที่อ่านไปเมื่อสักครู่โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 180วัน ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ และ หน่วยงานของรัฐใดฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้ถือว่าผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องมีความผิดทางวินัย หรือเป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งหือต้องพ้นจากตำแหน่งแล้วแต่กรณี

นี่คือสาระสำคัญครับที่จะต้องทำเรื่องนี้กฎหมายออมาเดือนเมษายนครับ ตามกฎหมาย ปชช.มีเวลา120 วันทำเรื่องนี้ให้รัฐบาลได้ดำเนินการ เขาก็ทำเร็จต้นเดือนสิงหาคมครับ ครั้งแรกก็คือ ทำเรื่องเสนอ ครม.ไปวันที่1 เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว แต่ว่า 1 สิงหาคมปีที่แล้วพึ่งเลือกตั้งเสร็จครับ ยังไม่ได้ปลดเข้าแต่งตั้งท่านนายกผมเองก็ไม่สามารถทำอะไรได้หลังวันที่ท่านถวายศักดิ์ ก็เกิดช่องว่างขึ้น ก็ไม่เป็นไรครับ ปชช.ก็ทำเรื่องเสนอครม.มาใหม่วันที่ 15 สิงหาคม 2554 เสนอครม.ครับให้ดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ในเรื่องของการเปิดเผยราคากลางและการคำนวนราคากลางเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

เกิดปัญหาน้ำท่วมไม่ว่าช่วงเดือนสิงหาคม กันยายน ตุลาคม พฤศจิกายนวุ่นวายกันอยู่เรื่องน้ำท่วม สุดท้าย้เรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เดือนธันวาคมวันที่ 13 ครับ การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแน่นอนครั้งก้ขอความเห็นจากฝ่ายต่างๆมาประกบ แต่ว่าหน่วยงานอย่างสำนักงบประมาณเห็นด้วย แต่สุดท้ายท่านนายก ปปช.เสนอเรื่องนี้เข้าสู่ครม.เป็นประธานในที่ประชุม ครม.มีมติว่าไม่เห็นชอบหรือไม่อนุมัติครับ

แต่กลับบอกว่าให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างให้สอดคล้องกับกฎระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันโดยเคร่งครัดคือถ้าเจตนาจะต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั้น และทำงานกันมานานหลายปีถึงเวลาที่ต้องปรับปรุงกฎระเบียบการเปิดเผยตรงนี้ และพอปปช.เสนอมาท่านกลับมีมติบอกว่าไม่ต้องใช้กฎระเบียบเดิมนั่นแหละ แต่ทำให้มันเคร่งครัดขึ้นรัดกุมขึ้น นี่แหละครับที่เป้นการเอาจริงเอาจังกับการทุจริตคอร์รัปชั่น และก็ยังเป้นการฝ่าฝืนเจตนารมของมาตรา 103/7/8 ของกฎหมายปปช. อย่างชัดเจน ท่านเพียงรับทราบรายงานของปปช.ครับ และก็ส่งไปให้กน่วยงานต่างๆพิจารณาจากมติวันนั้นทำให้คณะกรรมการปปช.เสนอเรื่องกลับมาที่ท่านนายกอีกครั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2555 หนังสือลงวันที่ 21 ให้ท่านนายกนำเรื่องที่เสนอเข้าสู่ครม.เพื่อให้ครม.มีมติ ทบทวนมติครม. 13 ธันวาคม 2554 เพราะเขาบอกชัดเจนว่า สิ่งที่ปรากฎอยู่ในกฎหมายที่เป็นมาตรการใหม่ควรจะมีที่จะป้องกันการโกง มันเป็นเรื่องที่คนละเรื่องกับมาตรการที่มีอยู่แล้วในฝ่ายการบริหาร และมติของครม. ที่บอกให้ยึดกฎระเบียบของฝ่ายบริหารเขาเขียนชัดเจนว่าไม่ครอบคลุมตามเจตนารมณ์ประกอบรัฐธรรมนูญที่ผมอ้างถึง แต่อะไรที่ท่านท้วงติงไปมีเหตุมีผลเช่นถึงเช่นควรจะกำหนดวงเงินขั้นต่ำว่าที่ต้องเปิดเผยราคากลางต้องวงเงินตั้งแต่ 5,000บาทขึ้นไป ตรงนั้นเขาก็เห็นด้วย

แต่สาระสำคัญก็คือว่าต้องทบทวนมติครม.เพื่อที่จะให้ไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ท่านนายกเลยส่งเรื่องไปให้กฤษฎีกาตีความครับ ว่าต้องทำตามที่ปปช.เสนอหรือไม่ ตรงนี้ครับที่ผมไม่ไว้วางใจท่าน เพราะถ้าท่านอยากจะต่อสู้กับการทุจริต และคนเสนอมารตการมาแทนที่ท่านจะพยายามทำท่านกับพยายามไปถามคนว่าไม่ทำได้ไหม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ส่งกลับมาว่าไม่จำเป็นต้องทำตามที่ปปช.เสนอ เข้าไม่ได้บอกไม่ให้ทำนะครับ เขาบอกไม่จำเป็นต้องทำตามที่ปปช.เสนอ แล้วเรื่องนี้ก้เลยวนเวียนอยู่ วนเวียนอยู่กัยกฤษฎีกา วนเวียนอยู่กับกระทรวงการคลัง วนเวียนอยู่กับสำนักงบประมาณ ซึ่งยังทำหนังสื่อยืนยันความเห็นเดิมนะครับว่าเขาเห็นด้วยที่จะให้ปฏิบัติตามข้อเสนอของปปช.สุดท้ายส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความอีกเพื่อจะให้ยืนยันว่าปปช.ไม่มีอำนาจมาบังคับครม.จากนั้นเมื่อมีความเห็นกฤษฎีกาแล้ว ท่านจุงเสนอเรื่องกลับไปให้ คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่งในเดือนกรกฎาคม

ผมกราบเรียนให้พี่น้องเห็นภาพ ถ้าครม.อนุมัติตั้งแต่เดือนธันวาคม งบน้ำท่วมทั้งหลายที่กระผมอภิปรายเมื่อวานมันคงไท่เป็นอย่างนี้ แต่นี่นอกจากไม่รับมาตรการปปช.ยังไปปล้นขั้นตอนอีอ๊อคชั้น ปล้นขั้นตอนอีอ็อคชั้นยังไม่สะใจต้องปล้นด้วยวิธีพิเศษ และอีก 350,000 ท่าน ปลอดประสพก็บอกว่าต้องใช้วิธีพิเศษๆ หรือพิศดารผมไม่ทราบ

ท่านประธานที่เครพครับ เจตนาตรงนี้มันก็ชัดครับ พอส่งเรื่องมาถึง ครม.ในเดื่อนกรกฎาคม ครม.ประชุมวันที่ 10 กรกฎาคมเห็นว่า โดยที่เรื่องนี้กฤษฎีกาได้มีความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยเห็นว่าคณะกรรมการไม่มีอำนาจใตนการปฏิบัติตนามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่งว่าด้วยการป้องการและปราบปรามการทุจริต ดังนั้นคณะรัฐมนตรีย่อมมีดุลพินิจที่จะรับข้อเสนอแนะของปปช.ทั้งหมดไปดำเนินการบางส่วนได้ตามที่เห็นสมควร จึงได้ลงมติเห็นชอบให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และตามมติของคณะรัฐมนตรีเดิม คือ 13 ธันวาคม 2554 ปิดประตูเลยครับ

หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องแปลก พอปิดประตูไปอย่างนี้ ปปช.เขาเริ่มส่งเสียงว่า เขาจะไม่ยอม ปรากฎว่าอาทิตย์ถัดมาครม.ประชุมใหม่ 17 กรกฎาคม 2555 ก็คงจะกลัวมีปัญหาเลยบอกว่า คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามที่มีมติไปเมื่อวันที่ 10 โดยแจ้งความเห็นทางกฎหมายตาม ของคณะกรรมการกฤษฎีกาให้คณะกรรมการปปช.ทราบแล้วนั้น โดยที่รัฐบาลมีนโยบายและให้ความสำคัญในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติไม่ชอบอย่างเร่งด่วน โดยได้ประกาศยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นและมอบนโยบายแก่ส่วนราชการในพัฒนาองค์กร เพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินจึงมีมติให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับสำนักงบประมาณ สำนักงานกพร.ไปหารือร่วมกับปปช.เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลหาวิธีการและแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อตอบสนองมมาตรการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลและคณะกรรมการปปช.

ผมไม่ถือว่านี่เป็นการปฏิบัติตามกฏหมาย พยายามหาทางออก และผมก็ทราบครับว่าปปช.เขาก็ไม่มาร่วมกับท่านนะครับเขาก็ยังยืนยันว่าท่านต้องทำตามกฏหมายปราบองค์ แม้ต่อมาเดือนสิหาคม กระทรวงการคลังจะเริ่มมีการออกหนังสือไปบอกว่าให้มีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นนั้นในงานก่อสร้าง แต่ก็ไม่เหมือนของปปช.นะครับ ปปช.ไม่ได้มีงานเฉพาะก่อสร้างครับ งานที่ไม่ใช่ก่อสร้างก้ต้องเปิดเผย การควบคุมงานก้ต้องเปิดเผย การจ้างที่ปรึกษาก็ต้องเปิดเผย รวมไปถึงงานอื่นๆเช่นพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์อะไรต่างๆ ที่พูดตรงนี้เพราะเมื่อวานนี้ คณะรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยชี้แจง และพวกผมก็อภิปรายแล้วว่ากำลังจะมีการปรับรูปแบบโครงการใช้วิธีเอาที่ปรึกษามาคุมงานก็หนีออกไปอีก นี่ล่ะครับคือสิ่งที่ได้ยื่นถอดถอนและอภิปลายท่านนายก ว่าท่านต้องรับผิดชอบกับเรื่องนี้ ถึงจะทำให้การต่อสู้กบการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นเป็นจริง

มีอีกหลายประเด็นที่เพื่อนๆผมจะลงในรายละเอียดนะครับว่าเวลาคนที่ได้เข้าไปทำงาน ตรวจสอบในเรื่องการทุจริตเขาก็ถูกย้ายไปเรียบร้อย คณะรัฐมนตรี ท่านนายกก็ทราบดีครับ เพราะฉะนั้นตรงนี้คือประเด็นที่กระผมยืนยันครับว่าไม่สามรถไว้วางใจท่านนายกได้

สุดท้ายยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกปฏิบัติสองมาตรฐาน และความห่วงใยที่พวกกระผมมีต่อแนวโน้มความขัดแย้งทางสังคมและทางการ การเอื้อประโยชน์ให้แก่พวกพ้อง ให้กับญาติ การบั่นทอนความน่าเชื่อถือ หรือการไม่ยอมรับองค์กรอิสระ องค์กรศาล เรื่องเหล่านี้นายกรัฐมนตรีจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เมื่อวานรองนายกเฉลิม หัวเราะชอบใจคำพูดตัวเองที่ไปบอกให้ตำรวจเลือกข้าง จริงๆท่านนายกเป็นคนมอบให้รองนายกเฉลิมไปดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ท่านช่วยตอบพวกผมด้วยครับว่าตำรวจต้องเลือกข้างหรือเปล่า และเมื่อวานท่านก็ชี้แจงคลาดเคลื่อนไปแล้วครับ

เรื่องแก๊สน้ำตาตำรวจออกมายอมรับแล้วนะครับว่าที่ท่านไปกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมใช้โน่นนี่นั่นมีอยู่ในรถตำรวจ และคำชี้แจงท่านเรื่อง การถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ปกติท่านอ่านเสียงดังฟังชัดนะครับในเอกสาร 15 กรกฎาคมไม่ทราบว่าส่งให้ท่านประธานหรือยัง อ่านรัวเลยครับวันนั้น เพราะผมฟังที่ท่านอ่านรัว เขายังยืนยันนะครับว่าเข้าหลักเกณฑ์เพียงแต่เขาอ้างซึ่งน่ากลัว ต่อไปนี้ศาลตัดสินแล้วจะมีองค์กรอย่างตำรวจไปวินิจฉายอีกว่าความผิดที่ศาลตัดสินแล้วมันเป็นความผิดที่ร้ายแรงหรือเปล่า ศาลตัดสนลงโทษก็จะไปเถียงศาลว่า ลงโทษไปทั้งๆที่เขาไม่น่าจะผิดอะไรทั้งนั้น เราจะใช้ระบบนี้ล่ะครับ

ไม่นับหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับพวกผมนะครับ ทุกอาทิตย์สมัยประชุมแท้ๆดีเอสไอส่งหนังสือขู่ทุกอาทิตย์ ในคดีเรื่องน้ำท่วมเป็นพยานด้วยนะครับว่าใช่ผู้ถูกกล่าวหาจะบังคับให้เซ็นเอกสารเป็นลางส่งให้ได้ก่อนปิดสมัยประชุม ผมไม่อยากให้กฎหมายของเราวนเวียนอยู่กับความขัดแย้ง แต่ว่าถ้าท่านนายกไม่พร้อมที่จะมาทำงานโดยการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับทุกฝ่าย ปัญหานี้จะดำเนินต่อไป ผมเคยพูดในช่วงหาเสียงครับ ผมบอกว่าถ้าท่านนายกได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะเป็นบุคคลที่น่าสงสารสงสารข้อ1 ก็คือ มันมีคนที่ยังคิดว่าใหญ่กว่าท่าน และปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา นักการทูตบางคนพบผมก็บอกว่าเขาไม่เคยเห็นในประเทศอื่น ว่าตกลงอำนาจ อยู่ที่ไหน อย่างไร อยู่ในประเทศหรือเปล่า

และผมบอกสงสารประการที่ 2 ก็คือว่าท่านจะอยู่มนภาวะที่ลำบากใจมากในหลายๆเรื่อง เพราะถ้าท่านทำตรงไปตรงมา กระทบกระเทือนพี่ชายท่าน ญาติท่าน และวันนี้ที่บ้านเมืองยังคลุกขุ่นอยู่ไม่จบก็เพราะรัฐบาลยังไม่สามารถที่จะวางวาระส่วนตัวในเรื่องของการนิรโทษการได้ การตัดสินใจตรงนี้ครับ ผมทราบดีไม่มีทางง่าย แต่ว่าวันนี้ผมต้องสงสารประเทศมากกว่าผมไม่อยากเห็นบ้านเมืองผมเดินหน้าไปอย่างนี้

ข้าวสินค้าที่อยู่คู่กับประเทศไทย คนไทย กำลังถูกทำลายอนาคต ผมไม่อยากเห็นปัญหาการทุจริตลุกลานบานปลาย อย่างที่พวกเราได้อภิปลาย มีการวิพากวิจารณ์การอย่างกว้างขวางและผมก็อยากเห็นว่าถ้าท่านคิดว่าเสียงข้างมากก็ดีคิดว่า คนไกลรักก็ดี เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็ดี ถูกนำมาใช้ให้เลือกข้างให้ทำงานให้กับรัฐบาลในทางการเมืองได้ และบ้านเมืองจะสงบ ผมยืนยันว่าท่านคิดผิด ความอึดอัดจะสะสม ความไม่เข้าใจความโกรธจะมีมากขึ้นในสังคม และสุดท้ายไม่มีคนเดียวแม้แต่พวกเราที่นี่จะมีความสุข ผมไม่ต้องการให้บ้านเมืองเดินไปในทิศทางนั้น ท่านนายกมีเวลาปีกว่าแล้วที่จะพิสูจน์ว่า จะไม่เดินไปในทิศทางนั้น แต่ท่านไม่ได้ทำ ผมไม่สามารถไว้วางใจท่านได้ครับ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง