คำต่อคำ นายกฯ ชี้แจงอภิปรายฯ ยันจำนำข้าว คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์-ต่างชาติให้การยอมรับ

การเมือง
26 พ.ย. 55
09:49
91
Logo Thai PBS
คำต่อคำ นายกฯ ชี้แจงอภิปรายฯ  ยันจำนำข้าว คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์-ต่างชาติให้การยอมรับ

คำต่อคำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตอบชี้แจงการทำงาน หลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ได้อภิปรายประเด็นของการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว

เริ่มด้วยหลักการในการทำงาน หลักการบริหาร นโยบายในการบริหารแผ่นดิน รวมถึงจะตอบถึงสถานะในประเทศไทยหลังจากที่ดิฉันได้รับตำแหน่งมาตลอดเวลาประเทศไทย 6-7ปีที่ผ่านมา ประเทศไม่ได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หลายๆคนอยากมีบรรยากาศที่จะลงทุน พ่อแม่พี่น้องผู้ปกครองอยากเห็นลูกหลานเรามีอนาคต แต่สิ่งที่เขาเห็นคือบรรยากาศที่แตกแยก การบริหารบ้านเมืองที่ไม่ต่อเนื่อง ต่างประเทศอยากมาลงทุนขาด ความมั่นใจ ความขัดแย้งทางการเมือง เกิดความเหลื่อมล้ำ เกิดการเลือกปฏิบัติเกิดการที่ไม่มีมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน

เจตนารมณ์ที่เข้ามาทำงานนี้ อยากเห็นประเทศเรานั้นก้าวไปข้างหน้า อยากเห็นความรักความสามัคคี ให้อภัยกัน การเคารพในกติกา การเคารพในกฏหมายระบอบประชาธิปไตยที่ได้ยอมรับจากนานาประเทศการที่จะทำอย่างไรนั้นที่จะช่วยกันแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างเสมอภาค ไม่มีแบ่งแยกพื้นที่จังหวัด ไม่มีแม้กระทั่งสีเสื้อ ดิฉันภาวนาตัวเองในการทำงานรับใช้พี่น้องประชาชนต้องการเข้ามาแก้ไขไม่ได้แก้แค้น การทำงานของเราต้องยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ยึดมั่นการทำงานแบบมืออาชีพ การทำงานที่ซื่อสัตย์ยุติธรรม และการที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วม ดิฉันยินดีที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกทุกท่าน และข้อเรียกร้องจากประชาชน

สิ่งแรกอยากขอเรียนว่า หลักการในการทำงานนั้น เรายึดมั่นเป็นทีม ยึดหลักการทำงานร่วมกันกับคณะรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าเป็นหลักความรับผิดชอบภายใต้รัฐธรรมนูญ วิธีการทำงานของรัฐบาลนี้ก็คือ นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่กำกับออกระเบียบบริหารแผ่นดิน โดยการมอบนโยบายต่างๆ สำหรับรองนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่กำกับบริหารราชการของกระทรวงต่างๆ สำหรับรัฐมนตรี มีหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการกำหนดนโยบายเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของงานในกระทรวง เห็นอย่างนี้ดิฉันไม่ได้ไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ ดิฉันไม่ได้ละเลย ติดตามความสำเร็จของงานทุกระยะ แต่แน่นอนการทำงานมอบหมาย ก็ต้องมีการแบ่งขั้นตอนในการรับผิดชอบ การมอบหมายไม่ใช่การก้าวก่าย แต่ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกันในการทำงาน อย่างท่านสมาชิกได้กล่าวว่า ดิฉันมีการเลือกปฏิบัติ อย่างเช่น ตำรวจไม่เลือกข้าง ตำรวจจริงๆแล้วต้องเลือกประชาชนเลือกความถูกต้องและต้องไม่เลือกปฏิบัติ

สำหรับการทำงานนั้นดิฉันเองยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยและยึดมั่นในงานด้านบริหาร และเคารพใน 3 เสาหลัก คือ งานนิติบัญญัติ งานบริหารแผ่นดิน และงานตุลาการ ทั้ง3 อำนาจนี้ต้องทำงานอย่างสมดุลกัน และต้องมีเสถียรภาพ ในส่วนของงานนิติบัญญัติ ดิฉันเป็นนายกรัฐมนตรี ก็พร้อมที่จะผลักดันกฏหมายที่สำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน และก็เคารพต่อสภาในการที่จะเข้ามา แต่จะกราบเรียนว่า ลักษณะของการทำงานนั้น เป็นการทำงานที่ได้รับการมอบหมาย ทุกครั้งที่มีการตั้งกระทู้ ดิฉันก็ได้มอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนั้นมาตอบคำถามกับสมาชิกโดยตรง

ส่วนงานสภา ดิฉันเองก็มีภาระในการทำงานในฐานะผู้นำประเทศในงานบริหาร ต้องทำงานบริหารด้วย แต่ขณะเดียวกัน ดิฉันต้องทำงานให้เกียรติสภาด้วยและต้องทำงานอย่างเต็มที่ ต้องกราบเรียนว่า งานบริหารราชการแผ่นดินวันนี้ นอกจากจะต้องแก้ปัญหา หลังจากที่ได้รับมอบหมายแล้วในเดือนสิงหาคม ก็ต้องมาดูการแก้ปัญหาอุทกภัย การวางแผนบริหารราชการแผ่นดินที่จะเตรียมอนาคตของประเทศไทย การที่จะทำอย่างไรในการเร่งรัดนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภา ดิฉันทำงานไม่ได้หยุดค่ะทำงานตลอด 7 วัน ยืนยันว่าดิฉันทำงานอย่างเต็มที่และก็ให้เกียรติทั้งส่วนนิติบัญญัติและรัฐสภา

สำหรับในเรื่องของสถานะในประเทศเมื่อเข้ามา ตามที่ท่านผู้นำฝ่ายค้านได้เรียนว่าดัชนีความมั่งคั่งของประเทศ ก็จะเป็นข้อมูลของปี 53-54 ก็แน่นอนว่าสถานการณ์ตั้งแต่ที่เข้ารับตำแหน่งมา จากที่สืบเนื่องจากรัฐประหารปี2549การเมืองก็มีความขัดแย้งที่รุนแรง การเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยครั้งก็ต้องมีผลกับโครงการต่างๆที่หยุดชะงักลงโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆก็ไม่ต่อเนื่องความขัดแย้งที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำในสังคมจากพื้นที่ต่างๆความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ก็ทำให้รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เราก็ต้องเข้ามาแก้ไข

ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเราก็จะเห็นว่า จากการที่เราไม่ได้การยอมรับจากต่างประเทศเท่าที่ควร งานต่าง ๆ ข้อกฏหมายต่าง ๆ ที่มีค้างไว้ เราก็ต้องเข้ามาแก้ไข รวมถึงความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกและในประเทศ วันนี้ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกวันนี้ ไม่ใช่เป็นแค่การเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจต่างๆแต่เหตุการณ์ทุกอย่างความไม่สมดุลนั้น เข้ามาเร็วกว่าที่เห็นการผันผวนทั้งเศรษฐกิจในยุโรปและอเมริกา ก็มีผลแต่ในขณะเดียวกันก็มีโอกาศในการเคลื่อนย้ายมาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค และมีสิ่งที่เราต้องฉกฉวย ในขณะที่ประเทศไม่มีการพัฒนาและเตรียมพร้อมตลอด 6-7 ปีที่ผ่านมา เราจะทำอย่างไรที่จะฉกฉวยโอกาศนี้ให้เต็มที่นั้นก็คือมาตรการต่างๆที่จะต้องเตรียมมารองรับบางครั้งโอกาศมาถ้าเราไม่ได้เตรียม เราจึงต้องเร่งดำเนินงานเตรียมสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้

รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศหรือความขัดแย้งที่รุนแรงของภูมิภาค การที่ทรัพยากรมีจำกัด ในขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นทุกวัน นั้นก็มีผลต่อความผันผวนของสินค้า ราคารวมถึงความมั่นคงของพลังงาน สิ่งต่างๆเหล่านี้ มันเป็นสิ่งที่เราต้องวางอนาคตให้ประเทศ โดยเฉพาะการที่จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจในประเทศเข้มแข็ง เราจะเห็นว่ารายได้ของประเทศส่วนใหญ่แล้ว พึ่งพาการส่งออกถึง 70% ในขณะที่ประเทศไทยมีพื้นฐานทางเกษตรกรรม ต้องมาปรับปรุงทางด้านผลผลิต ทำอย่างไรให้พี่น้องเกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ ทำอย่างไรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในขณะที่สังคมไทย พบว่าปัญหายาเสพติดเติบโตขึ้นทุกวัน การศึกษาที่จะเป็นความหวังของเยาวชนที่จะเป็นความหวังของพ่อแม่ เราจะทำอย่างไรในการยอมรับ

และในปี 2015 การเปิดประชาคมอาเซียน เราจะเตรียมตัวบุคลากรของเราได้อย่างไร ภาครัฐภาคเอกชนสิ่งต่างๆเหล่านี้คือสิ่งที่รัฐบาลเข้ามาเตรียมพร้อมในขณะที่รัฐบาลวันแรกที่เข้ามา รัฐบาลต้องเผชิญกับสิ่งต่างๆเหล่านี้ที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน วิกฤติอุทคภัยที่ไม่เคยเห็นพายุ 5 ลูกเข้ามาติดต่อกัน ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 60 ปี เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดเพราะวันที่ ดิฉันเข้ามารับตำแหน่งทุกคนก็คงทราบดี ว่าน้ำได้เต็มเขื่อนแล้ว ขณะที่ระดับน้ำทะเลสูง จะระบายไปทางไหนนั้นคือที่มาของการที่น้ำต่างๆไหลทะลักเข้าเขตเศรษฐกิจ สิ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องเข้ามาเตรียมพร้อมแม้กระทั่งวันนั้นไม่มีใครจะมีอุปกรณ์ต่างๆที่เข้ามารองรับ การบริหารราชการก็ไม่ได้ถูกยอมรับในยามวิกฤติระบบบริหารจัดการน้ำที่ต้องเตรียมทั้งในส่วนของวิกฤติ ก็ไม่ได้ถูกเตรียมพร้อม นี่คือสิ่งที่รัฐบาลตัดสินใจในการที่ตัดงบประมาณจากปกติมาเป็นงบกลาง 1.2 แสนล้านเพราะทราบอย่างเดียว ว่าสิ่งที่รัฐบาลใหม่เข้ามาต้องเยียวยาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนต้องทำอย่างไรในการปกป้องจังหวัดอื่นที่ยังไม่ได้น้ำท่วมให้เสียหายน้อยลงสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นสิ่งที่เร่งด่วนขณะเดียวกันงบประมาณปกติที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลไม่สามารถเบิกจ่ายได้ รัฐบาลนี้มีเวลาเบิกจ่ายเพียง 8 เดือนในการใช้จ่ายงบประมาณ คือสิ่งที่รัฐบาลนี้ประสบ

แต่อย่างไรก็ตามด้วยความพร้อมเพียงใจของพี่น้องประชาชน หน่วยงานต่างๆ ภาครัฐ ภาคเอกชนในการทำงาน ก็จะเห็นว่าจากผลของจีดีพี ที่เราเห็น สามารถที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้กลับมาภายใน 6 เดือน จะเห็นว่าถ้าสำรวจสิ่งที่ความมั่นใจของทุกประเทศก็ตกไป เพราะว่าจากสถานการณ์ต่างๆในมหาอุทกภัย ขณะเดียวกันในไตรมาส 1 เราก็ทำให้เศรษฐกิจจีดีพีกลับมาอยู่ที่ 0.4 และ4.4 ในไตรมาส2 นั้นคือใช้เวลาเพียง 6 เดือนนอกจากนี้ถ้าดูในเรื่องของการทำงานต่างๆนั้น รัฐบาลก็ได้มีการปรับปรุงนอกเหนือจาก 1.2แสนล้าน นั้นคือการตั้งศูนย์ซิงเกิ้ลคอมมานด์เพื่อที่จะบูรณาการการสั่งงานแบบรวมจุดเพื่อพร้อมที่จะรับวิกฤติต่างๆและประกาศศูนย์ส่วนหน้าทุกจังหวัดซึ่งในส่วนของ กบอ. นั้นจะมีรองนายกรัฐมนตรี ปลอดประสพ รับผิดชอบอยู่ซึ่งในส่วนนี้เอง เราก็ได้มีการปรับปรุงระเบียบขั้นตอนตาม พรบ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยขึ้นใหม่ และระเบียบอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รองรับสภาวะปกติและบนสภาวะ ยามวิกฤติขออนุญาติใช้เวลานี้ชี้แจงกระบวนการต่างๆในงบประมาณ 1.2 แสนล้าน ดิฉันได้ให้หน่วยงานกระทรวงการคลัง โดยคณะกรรมการว่าด้วยพัสดุ ในการที่จะทำอย่างไรให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน ก็ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการยกเว้นการอุทธรณ์ผลการพิจารณาเสนอราคา โดยลดระยะเวลาในการจัดซื้อจัดจ้างจาก 85 วันเหลือ 28 วัน

นอกจากนั้นดิฉันเองยังมีหนังสือให้จัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ด้วยการจัดหาพัสดุโดยใช้ วิธีการ อีออคชั่น ขั้นตอนต่างๆในการขออนุมัติโครงการก็ได้มีการกรั่นกรอง โดยเราได้ตั้งคณะอนุกรรมการ 3 อนุด้วยกัน ในการที่จะกรั่นกรองข้อมูลทั้งหมดเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ก็จะมีอนุมัติของด้านคุณภาพชีวิต โครงสร้างพื้นฐาน และเศรษฐกิจ จากนั้นก็จะไปผ่านคณะกรรมการฟื้นฟูเยียวยา ซึ่งมีท่านรองนายกรัฐมนตรี ยงยุทธ เป็นผู้ที่รับผิดชอบในขณะนั้นซึ่งวันนี้ได้เปลี่ยนไปหลังจากที่มี กบอ.ตั้งก็จะอยู่ในการกรั่นกรองของคณะกรรมการ กบอ. ซึ่งจะประกอบไปด้วยสำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ฯ และเจ้าหน้าที่ชลประทาน เพื่อจะประสานงานตรงนี้ ซึ่งในการทำงานก็จะมีการผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีและมีการรายงานผลให้กับคณะรัฐมนตรี ติดต่อกัน 33 สัปดาห์ ซึ่งวงเงินทั้งหมด จาก 1.2 แสนล้าน จากวงเงินที่ขอจริงๆแล้ว 200,000 กว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติมา 12 ครั้งด้วยกัน ประมาณ1.5 แสนล้าน และจัดสรรงบประมาณทั้งหมด 1.19แสนล้านบาท ซึ่งในการติดตามตรวจสอบเร่งรัดทุกสัปดาห์ก็จะทำให้มีเงินเหลือส่งคืนเข้าคลังอีก 6,200 ล้านบาทในจำนวนนี้ 1.2 แสนล้าน เป็นเงินที่ใช้ในการเยียวยาประชาชนและเกษตรกร 4.5หมื่นล้านบาท ดิฉันเองก็พยามที่จะทำอย่างไรให้การจัดซื้อนั้นเป็นไปอย่างโปร่งใส มีการติดตามประสิทธิภาพ ประสิทธิผลเราก็ได้มีการจัดทำระบบพีม็อก จริง ๆ แล้วเป็นระบบที่รายงานข้อมูล ณ พื้นที่โดยเราได้ ว่าจ้าง 16 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศโดยการสุ่มตรวจสอบ และใช้ ระบบ GPS รายงานเข้ามาในระบบพีม็อก เว็บไซต์นี้จะมีข้อมูล 1.2 แสนล้านทั้งหมด รวมถึงภาพถ่าย แล้วก็การติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลา จากนั้นก็ได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบอีก

โดยรองนายกรัฐมนตรี เฉลิม ที่จะให้เข้าไปตรวจสอบในเรื่องงบประมาณในการใช้จ่าย 1.2 แสนล้าน ส่วนนี้ก็เรียนว่า จากสิ่งต่างๆเหล่านี้ ดิฉันได้รายงานว่าทุกอย่างเราก็ทำอย่างเต็มที่แล้วก็มีการติดตาม และสิ่งที่เราได้มีประสบการณ์ต่างๆจากที่ผ่านมา เราก็ได้เสนอออก พระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงิน เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ 3.5แสนล้านบาท ดิฉันต้องกราบเรียนว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็นประเทศไทยเรายังไม่มีระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนที่จริงแล้วมันก็อยู่ในส่วนของนโยบายของรัฐบาลในการเชื่อม25 ลุ่มน้ำ ในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเราอยากเห็นการบริหารจัดการน้ำในประเทศสามารถช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ดูแลทั้งในส่วนของน้ำท่วมและน้ำแล้ง จะเห็นว่าความไม่สมดุลของทรัพยากรธรรมชาติบางพื้นที่จะพูดถึงเรื่องน้ำท่วม บางพื้นที่พูดถึงเรื่องน้ำแล้ง สิ่งนี้แหละงบประมาณ3.5แสนล้านบาท นี้ จะได้ช่วยกันทำอย่างไรแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งภายใต้งบประมาณนี้ จะมีท่านรองนายกรัฐมนตรี ปลอดประสพ เป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ กบอ.

สิ่งต่างๆเหล่านี้ที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปตลอดระยะ 1 ปี ตามยุทธศาสตร์อย่างแรกเราก็ได้เพิ่มความเชื่อมั่นต่อนานาประเทศ ระหว่างที่ดิฉันเข้ารับตำแหน่งจนถึงวันนี้ ดิฉันได้เดินทางไปเยือนแล้วถึง 23 ประเทศซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ และกลุ่มเอเชียแปซิฟิค ได้แก่จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และก็ได้มีการเปิดตลาดใหม่ๆในตะวันออกกลาง ซึ่งผู้นำได้มาเยือนประเทศไทยอีก 11 ประเทศด้วยกันแล้วก็มีการประชุมนานาชาติถึง 12 ครั้ง นั้นแสดงให้เห็นว่านานาประเทศนั้นเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยและก็ให้ความไว้วางใจในฐานะของประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคอาเซียน และบทบาทของประเทศไทยเราก็ได้การยอมรับ ในการมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น เราได้เป็นผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนและจีน เราเป็นผู้ประสานงานกรอบความร่วมมือเอเชีย และยังมีบทบาทที่เรายังได้มีบทบาทร่วมคิดร่วม

เสริมบทบาทริเริ่มในภูมิภาค เช่นการปราบปราบยาเสพติด เป็นวาระแห่งชาตินั้น เราก็ได้ยกระดับความร่วมมือเป็นวาระของภูมิภาค และก็งานบริหารจัดการลุ่มน้ำโขง เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เราบริหารจัดการน้ำของเราประเทศเดียว เราก็ควรจะมีการประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยแล้วก็มีการสร้างความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ทุกระดับ รวมถึงการส่งเสริมภาคเอกชนมีการลงนามต่างๆเพื่อให้เกิดความคืบหน้า และจากการที่เราได้มีการส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นในต่างประเทศจะเห็นได้ว่าตัวเลขคำขอรับส่งเสริมการลงทุน ระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคมจะเห็นว่า ตั้งแต่ ปีที่ผ่านมา 6.3แสนล้านบาท ณ วันนี้มีคำขอมาถึง 8.6แสนล้าน นั้นจะเห็นว่าหลายๆประเทศให้การยอม รับประเทศไทย ดิฉันถึงอยากเห็นบรรยากาศของประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าแล้วดูในส่วนตัวเลขของการท่องเที่ยวบ้าง มีนักท่องเที่ยวเพิ่มจาก 19.2 ล้านคนในปี54 เป็น 20.8 ล้านคน

แม้ว่าการท่องเที่ยวจะมีปัญหาช่วงของอุทกภัยก็ตาม แต่เราได้ร่วมกันเร่งฟื้นฟูแก้ไขและสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างประเทศจะเห็นได้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวนั้นเพิ่มขึ้น ก็เชื่อมั่นว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้ จะเป็นไปได้อย่างที่วางไว้ ส่วนเรื่องของแผนการลงทุนอย่างที่ได้เรียนไว้ ประเทศไทย 6-7 ปี ขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาประเทศไทยเราอยู่ลำดับที่ 39 จาก 59 วันนี้ เราตกอยู่ที่ 49 ซึ่งรองจากมาเลเซียจากสิงคโปร์ นั้นคือทำไมรัฐบาลมีแผนงานลงทุนโครงสร้างพื้นฐานถึง 2 ล้านล้านบาท ซึ่งสิ่งนี้แหละ สิ่งที่จะเรียกความเชื่อมั่นและจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวสำหรับมาตรการอื่นๆ ก็คือเรื่องของระบบรับจำนำข้าว คือต้องเรียนว่าเป็นนโยบายที่ต้องการสร้างความมั่นคงของรายได้ให้แก่เกษตรกร แน่นอนระบบรับจำนำข้าว เป็นทางเลือกของเกษตรกร ถ้าเกษตรกรไปขายยังร้านค้าหรือที่อื่นทั่วไปได้ราคาดีกว่าก็เป็นทางเลือก แต่รัฐบาลก็มีทางเลือกของโครงการรับจำนำข้าวก็จะเห็นว่าเราทำไมตั้งงบประมาณไว้ต่อข้าวทุกเม็ดถึง 4.1 แสนล้านบาท แต่จริงๆแล้ววันนี้มารับจำนำ 21 ล้านตัน ซึ่งก็ต้องเรียนว่า ด้วยโครงการนี้ จะทำให้รักษาสเถียรภาพของราคาได้

ณ วันนี้ราคาข้าวเปลือกในตลาดได้ปรับตัวสูงขึ้นถึง 8 % ซึ่งก็เป็นภาพรวม เพราะว่าราคาต่างๆขึ้นอยู่กับระดับความชื้นที่มีการวัดแล้วก็จากที่เรีรยนว่าวงเงิน ที่ใช้ต่อการรับจำนำต่อ 1 รอบปีเป็นวงเงินที่รวมทั้งมันสำปะหลัง และยางพาราด้วย อยู่ในวงเงิน4.1แสนล้านบาทและวันนี้ใช้จริง 359,160 ล้านบาทซึ่งวงเงินนี้จะรวมพืชผลเกษตรอื่นๆด้วย แล้วต้องเรียนว่ายังคงมีการทยอยรับรายได้ตั้งแต่ปลายไตรมาสนี้แล้วก็จะจบตามรอบMOUที่ได้คุยกัน ณ สิ้นปี 56 คาดว่าจะมีวงเงินนำส่งเข้าระบบถึง2.4แสนล้าน- 2.6แสนล้าน นี้คือเป็นวงเงินที่จะหมุนรอบเข้ามาต่อรอบ ซึ่งก็จะมีรายได้เข้ายังไงก็ตามก็ได้ให้นโยบายแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่มอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการข้าวแห่งชาติทุกครั้ง ว่า การทำงานทุกอย่างนั้น โดยเฉพาะส่วนของการระบายข้าว ต้องเป็นไปอย่างตรงไปตรงมาและโปร่งใสและที่สำคัญต้องไม่ให้ขาดทุนเกินกว่าการประกันราคาข้าวเมื่อปีที่ผ่านมา แล้วก็นอกจากนี้ ต้องให้เป็นธรรมและตรวจสอบได้แล้วในระยะยาว จะมีการติดตั้งกล้อง CCTV ณ จุดรับจำนำ รวมถึงจะมีการสนับสนุนให้สร้างระบบไซโล ในการเก็บรักษาข้าว แล้วก็ยังจะให้นำระบบเทคโนโลยี ในการเก็บระบบข้อมูลทุกขั้นตอน ซึ่งตรงนี้เราจะเก็บตั้งแต่การขึ้นทะเบียน การออกใบรับรอง คลังสินค้ากลาง และรวมถึงผู้ส่งออก ถ้าเราเก็บทุกขั้นตอน มีการตรวจ ตามหลักบัญชี เราจะลดความซ้ำซ้อน จะลดการทุจริตได้ซึ่งเหล่านี้รัฐบาลก็อยู่ในแผนที่จะปรับปรุง เพิ่มความเข้มแล้วก็ในส่วนของเชิงรุก ได้มอบให้รองนายกเฉลิมในการที่จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะตรวจสอบและในโครงการของรัฐบาล เรื่องของการปราบปราบทุจริตคอร์รัปชั่นก็ได้เปิดให้พี่น้องประชาชนแจ้งแหล่งเบาะแสและจะได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบตลอดเวลา

จากตรงนี้เอง ก็เรียนว่า ผลการสำรวจ จากสถาบันต่างๆ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ พึงพอใจกับนโยบายรับจำนำข้าว แล้วก็แน่นอน พี่น้อง ประชาชนมีความสุข รัฐบาลก็มีความสุข นั้นคือความกินดีอยู่ดีของพี่น้องประชาชน มีคำถามอีกคำถามนึง ประเทศไทยจะเสียแชมป์รึเปล่า แน่นอนว่าถ้าเราดูปริมาณการส่งออกข้าวตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม ประเทศไทยเป็นที่ 3 รองจากเวียดนามและอินเดีย แต่ถ้าเรามาดูในราคาเฉลี่ยที่หลายท่านกังวลว่าเราจะขายราคาถูกรึเปล่า ราคาเฉลี่ยของประเทศไทยอยู่ที่ 679 เหรียญสหรัฐ ต่อตัน ในขณะที่ เบอร์1 เวียดนามอยู่ที่ 445 เหรียญสหรัฐ ถ้ามาดูมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 3,897 ถ้าถามว่าในฐานะที่เป็นคนไทย ดิฉันอยากเห็นจำนวนเงินมากกว่าจำนวนตัน

ในส่วนประเด็นอื่นๆที่ได้มีความกังวลในเรื่องของการแต่งตั้งก็ดี งานราชการก็ดี ว่าดิฉันเองละเลยหรือให้ผู้อื่นมาแทรกแซง ก็ต้องกราบเรียนว่า ตามนโยบายในการบริหารแผ่นดินซึ่งเราถือว่ามีการมอบหมายเป็นขั้นตอนและก็เชื่อว่าผู้เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเอง อย่างในกรณีของท่าน สุกำพล ดิฉันเองก็เน้นย้ำส่งข้อมูลไปยังท่านสุกำพลแล้ว ในการที่จะให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามผลออกมาจากคณะกรรมการ ทางคณะกรรมการก็มีอำนาจและกฏหมายไม่ได้ให้อำนาจกับนายกรัฐมนตรีในการไปแทรกแซง แน่นอนรัฐมนตรีกลาโหม มีเพียง 1 เสียง ดิฉันก็ต้องเคารพการตัดสินใจของคณะกรรมการ

ส่วนประเด็นในเรื่องข้อมูลของข้อเสนอคณะกรรมการ ปปช ดิฉันขอเรียนว่ารัฐบาลก็ได้รับจดหมายจากหนังสือ ปปช เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะว่าจริงๆแล้วทางคณะกรรมการ ปปช อยากเห็นในเรื่องของการแก้ปัญหาทุจริต ซึ่งเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว เรายินดี และสิ่งไหนที่จะเป็นประโยชน์ต่างๆเหล่านี้ คณะรัฐมนตรีก็ได้พิจารณาข้อเสนอของ ปปช ในวันที่ 13 ธันวาคม 2554 เราได้มีมติเร่งรัดให้ทุกหน่วยงาน ทำข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางทางอิเล็คทรอนิค ให้เป็นไปตามระเบียบ อันนี้คือข้อเสนอที่ส่งมาขอ ป.ป.ช. จากมตินี้ คณะรัฐมนตรีเลยได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่อยู่ภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินนั้น รับเรื่องนี้ไปพิจารณา แต่เนื่องจากมันมีปัญหาในส่วนของข้อคิดเห็นของกฤษฏีกาเพิ่มเติม ในส่วนประเด็นของข้อกฏหมาย อาจจะเป็นปัญหาและอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานกฤษฏีกา กระทรวงการคลัง เพื่อที่จะรับไปพิจารณา ต่อมาก็ได้มีการนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 ก็เห็นว่าสิ่งไหนที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล จึงมีมติมอบหมายให้กระทรวงการคลัง และหน่วยงานหลัก ก็คือสำนักงบประมาณฯและ ก.พ.ร. ไปหารือร่วมกับ ป.ป.ช. เพื่อที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูล และหาวิธีแนวการปฏิบัติ เพื่อที่จะป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลและป.ป.ช. และยังหากมีความจำเป็นที่จะแก้ไขกฏระเบียบต่างๆ ก็ให้นำกลับมาเสนอคณะรัฐมนตรี

ขอกราบเรียนท่านประธานสภาฯว่า รัฐบาลไม่ได้ละเลย ในการที่จะป้องกันและปราบปราบการทุจริตและคอร์รัปชั่นหรือปฏิเสธข้อเสนอของ ป.ป.ช. ก็ถือว่าการทำงานนี้ยังอยู่ในกระบวนการที่ยังไม่สิ้นสุด สำหรับมาตรการที่เน้นย้ำในเรื่องการป้องกันการทุจริต ดิฉันเองก็ได้มีการตั้งคณะทำงานในหลายๆส่วนด้วยกัน คือการพัฒนาองค์กร ซึ่งทางรัฐบาลมองว่าการที่เราจะต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นต่างๆนั้น ต้องมองว่าการที่เราจะรับจากข้างนอกมา

ขณะเดียวกันในบ้านของเรายังไม่ได้เตรียมความพร้อมเลย นั้นจึงเป็นที่มาของโครงการภายใต้ชื่อว่า 1 กรม 1 ป้องกันการโกง ก็คือเป็นส่วนริเริ่มให้หน่วยราชการคิดริเริ่มแก้กระบวนการต่างๆที่เป็นช่องว่าง ที่เป็นจุดเสี่ยงในการทุจริตแล้วให้ดีขึ้น เพื่อที่จะได้ปรับปรุง รวมถึงการรณรงค์สร้างจิตสำนึกจากภายใน ตรงนี้จะทำงานร่วมกับภาคเอกชน เราก็ถือว่าการทำงานเราต้องสะท้อนจากข้างใน ได้น้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เรียกว่าต้องระเบิดจากข้างใน การทำสิ่งใดต้องสร้างฐาน และก็การพัฒนาของระบบราชการให้ปลอดภัยและโปร่งใสอย่างยั่งยืน สิ่งนี้เราก็ได้มาเป็นที่มาของโครงการ 1 กรม 1 ป้องกันการโกง รวมถึงการรณรงค์สร้างจิตสำนึกตระหนักการเรียนรู้ และก็รวมถึงโครงการสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม เพื่อจังหวัดใสสะอาด ในการสนับสนุนคนดี แล้วก็ยังมีการประสานงานกับเครือข่าย เครือข่ายทุกเครือข่ายที่มีการทำงาน ทำความร่วมมือนี้ ในการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นแบบบูรณาการ ซึ่งเราจะรับเรื่องราวร้องทุกข์ ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่าน 3 ช่องทาง คือ ฮอตไลน์สายด่วน 1206 แล้วก็มีตู้รับเรื่องราวร้องทุกข์76จังหวัด และก็ยังมีเว็บไซต์ www.stopcorruption.go.th

ตั้งแต่เราได้เปิดศูนย์นี้ วันนี้เราได้เรื่องร้องเรียนทั้งหมด 1,555 ราย มีทั้งส่วนของการแจ้งเบาะแสด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ในส่วนของการตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วก็ยังมีจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกกระทรวง เป็นลักษณะของการบูรณาการเรื่องราวข้อมูลในกระทรวงนั้น ก็มีหลายโครงการทีเดียว ที่เราได้รับเรื่องราวจากกระทรวงศึกษาธิการก็ดี จากหลายๆกระทรวงก็ดี

ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบ ก็มีท่านรองนายกรัฐมนตรี เฉลิม เป็นประธาน แล้วก็ภายใต้การกำกับของกระทรวงยุติธรรม นอกจากนี้ เราก็ยังมีตั้งคณะอำนวยการพิเศษขึ้นมาในหลายๆเรื่อง ที่พี่น้องประชาชนห่วงใย การที่ให้รองนายกรัฐมนตรี เฉลิม ตรวจสอบเรื่องป้องกันการทุจริตรับจำนำข้าว มีคณะกรรมการเยียวยาฟื้นฟู และก็ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครอง นี้ก็เป็นกระบวนการทั้งหมด ที่เราเตรียมความพร้อมและก็ตั้งรุก

ส่วนสุดท้ายจะขออนุญาติเรียนในส่วนของนโยบายในเรื่องของการสร้างความปลอดภัยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ต้องเรียนว่า การทำงานของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภาคใต้นั้น วันนี้เราได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ก็รวมถึงการสร้างความเข้าใจอันดีต่อหน่วยราชการและประชาชน เราเองก็มีการส่งเสริมการเรียนรู้ การแลกเปลี่ยน ส่งเสริมกิจกรรมต่างๆของทุกศาสนา รวมถึงภาคประชาชน องค์กร และเอกชนต่างๆ

ก็ต้องเรียนว่า สิ่งต่างๆเหล่านี้ที่รัฐบาลทำ เราได้รับการสะท้อนจากประชาชนผ่านประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 5 จังหวัด ของชายแดนภาคใต้ ที่สนับสนุนรัฐบาลเราได้มีการขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้อย่างรวดเร็ว และตอบสนองความต้องการของประชาชน ซึ่งเราได้น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา แล้วก็เกิดการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างภาครัฐกับประชาชน รวมถึงลดเงื่อนไขของความไม่ยุติธรรมในสังคม การส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนา แล้วก็ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้นำศาสนา องค์กร แล้วก็เครือข่ายศาสนา วัฒนธรรมต่างๆ รวมถึงการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชน และการดูแลเยียวยาประชาชนที่ประสบความเดือดร้อน สิ่งต่างๆเหล่านี้ดิฉันขออนุญาติ นำหนังสือนี้ส่งมอบผ่านทางท่านประธานสภาฯค่ะ

สำหรับการบริหารจัดการ ที่ท่านเกรงว่าการทำงานจะเกิดการสับสนรึเปล่า จริงๆแล้วเรามีการบูรณาการจัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วันนี้ดิฉันเป็นประธานค่ะ และก็มีท่านรองนายกรัฐมนตรี เฉลิม ท่านรองนายกรัฐมนตรี พงษ์เทพ และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถามว่าจัดตั้งศูนย์นี้เพื่ออะไร ศูนย์นี้จะเป็นศูนย์ในการบูรณาการในการทำงาน เพื่อที่จะเสริมต่อและขับเคลื่อนงานต่างๆ ซึ่งวันนี้ยังไงสายการบังคับบัญชายังอยู่ค่ะ กอ.รมน. ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ศอ.บต ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งตรงนี้แหละค่ะ ที่หน่วยงานทุกหน่วยงานต้องการการบูรณาการในการทำงานให้เกิดเอกภาพ แทนที่ทุกหน่วยงานจะลงไปที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะทำให้การทำงานเกิดการภวงค์กับสิ่งต่างๆ คณะกรรมการชุดนี้ จะช่วยกันในการขับเคลื่อนโดยจะเน้นถึงการพัฒนาค่ะ จะเห็นว่ารัฐบาลนี้ได้มีการจัดสรรงบประมาณในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ เราเพิ่มจำนวนเงินงบประมาณ จะสังเกตุเห็นว่า ในปี 2554 งบประมาณจะอยู่ที่ 3,696 ล้านบาท ในปี 2555 เป็น 7,651 ล้านบาทและในปี 2556 เป็น 7,938 ล้านบาท อันนี้ก็จะเป็นส่วนของงบประมาณในการพัฒนา และยังเน้นถึงความมั่นคงและปลอดภัย เพิ่มกล้อง CCTV ตามจุดสำคัญต่างๆและก็ด่านตรวจ

ถ้าดูจากภาพรวมนะ จำนวนสถิติการเสียชีวิตตั้งแต่ปี 2547 ก็มีการเพิ่มขึ้นทุกปีและก็ในวันนี้อยู่ที่ 1.49 คน ต่อวัน สิ่งที่เราต้องเร่งคือ ลดการสูญเสียชีวิตของผู้คน ในขณะเดียวกันและเพิ่มกระบวนการในการสร้างความเข้าใจ การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน แล้วก็การที่จะทำอย่างไรให้ชุมชนนั้นดูแลตัวเอง และงบประมาณต่างๆในการพัฒนาให้ลงไปให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ยังมีการตั้งคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบอย่างเป็นธรรม โดยมีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ซึ่งส่วนนี้ได้มีการ ใช้งบประมาณไปแล้ว 2,080 ล้านบาท ขออนุญาตเรียนเพื่อทราบ

ทั้งหมดนี้เรียนท่านประธานคร่าวๆว่า นี้คือส่วนหนึ่งในการทำงานของรัฐบาล และก็เรียนว่ารัฐบาลเอง ยินดีที่จะทำงานให้เกิดความเข้าใจและก็การทำงานที่ยอมรับในการมีส่วนร่วม การทำงานที่มีความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน และที่สำคัญการที่เราจะต้องช่วยเราแก้ไขปัญหาในสิ่งต่างๆที่ไม่ถูก ก็ขอให้ได้รับความยุติธรรมและได้รับมาตรฐานเดียวกัน ก็ขออนุญาตชี้แจงทางที่ประชุม นอกเหนือจากนี้ในส่วนของรายละเอียดในส่วนรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ ก็ขออนุญาตท่านประธาน ตามข้อบังคับข้อที่ 68 ที่จะมอบหมายให้รัฐมนตรีตอบข้อซักถามเพิ่มเติมค่ะ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง