แม่ครูดนตรีไทยแห่งบางลำพู

Logo Thai PBS
แม่ครูดนตรีไทยแห่งบางลำพู

แม้สูญเสียครูสุดจิตต์ ศูนย์รวมใจบ้านดนตรีดุริยประณีต แต่ศิษย์ และทายาทยังคงสานต่อปณิธานแม่ครูดนตรีไทย ถ่ายทอดวิชาดนตรีที่ครูรัก และดำรงไว้ในฐานะบ้านดนตรีหลังสุดท้ายแห่งบางลำพู

เสียงร้องเอื้อนสำเนียงไทยแท้ในเพลงเขมรเอวบาง ไพเราะจับใจจนผู้ขับร้องได้รับการขนานนามว่าเป็น "เพชรประดับวงการดนตรีไทย" ที่ต่อแต่นี้ไปคงไม่ได้ยินเพลงจากเจ้าของเสียงอีกแล้ว เพราะครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต จากไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา วันนี้บรรยากาศบ้านดุริยประณีตที่เคยคึกคัก ดูเงียบเหงาไปถนัดตาเพราะขาดบุคคลที่เคยเป็นดั่งเสาหลักของบ้าน

ไม่ไกลกันนั้น ที่วัดชนะสงคราม ย่านบางลำพู ที่ตั้งบำเพ็ญกุศลแด่ครูสุดจิตต์ ที่นี่คลาคล่ำด้วยศิษย์ และทายาท ร่วมบรรเลงเพลงปี่พาทย์นางหงส์บูชา และไว้อาลัยครูเป็นครั้งสุดท้าย

ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต เกิด และเติบโตในครอบครัวดนตรีไทย ย่านบางลำพู หนึ่งในสำนักดนตรีเก่าแก่ของกรุงรัตนโกสินทร์ เชี่ยวชาญในดนตรีไทยทั้งร้อง รำ บรรเลง สืบทอดทั้งขนบดนตรีเดิม และยังผสมผสานเพลงไทยเดิมเข้ากับดนตรีสากล ออกแสดงในนามวงสังคีตสัมพันธ์ แม่ครูดนตรีไทยยังให้ความสำคัญกับผู้สืบต่อดนตรีไทย พร้อมให้ความรู้ และถ่ายทอดวิชาดนตรีเท่าที่มีโอกาส

อานันท์ นาคคง นักมานุษยวิทยาดุริยางคศาสตร์ กล่าวว่า ท่านเป็นเหมือนเสาหลักของวงการดนตรีไทย จากไปก็มีคนที่สืบทอดไป แต่ในความรูสึกเราก็เหมือนขาดที่พึงพิงไปหนึ่ง

สมปอง ดวงไสว ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนบางลำพู กล่าวว่า มันเป็นความสูญเสียของชาวบางลำพูด้วย เพราะว่าบ้านนี้เป็นบ้านเก่าแก่ที่อยู่คู่กับชุมชน และแม่ครูสุดจิตต์เป็นอีกคนที่อยู่เบื้องหลังการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมบางลำพู

แถวเคารพศพที่ยาวออกไปนอกศาลาวัดชนะสงคราม คือส่วนหนึ่งของผู้ศรัทธาในความมุ่งมั่นต่อการเป็นครูผู้ไม่ย่อท้อในการสืบสานดนตรีไทย แม้สิ้นเสียงของเพชรประดับวงการดนตรีไทย หากคำสอน และภูมิรู้ทางดนตรีที่ฝากไว้ให้ศิษย์รุ่นหลังก็ยังเป็นความหวังในการสืบเสียงสำเนียงไทยให้ดังต่อไปในอนาคต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง