การถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย

Logo Thai PBS
การถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย

นอกจากเม็ดเงินจำนวนมากที่ได้จากกองภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำ ยังเป็นอีกช่องทางกระตุ้นการท่องเที่ยว จึงไม่แปลกที่หลายประเทศพยายามพัฒนาศักยภาพ และส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้เป็น Hub หรือศูนย์กลางการถ่ายทำภาพยนตร์

การต่อสู้ระหว่างหุ่นยนต์จากต่างดาว ฉากเด่นของภาพยนตร์ Transformers ยิ่งใหญ่ได้เพราะมีทะเลทราย และมหาพีระมิดกิซ่าของอียิปต์เป็นฉากหลัง รวมถึงมรดกโลก ปราสาทนครวัด กัมพูชา ที่อวดความงดงามให้ผู้ชมทั่วโลกได้เห็นบนแผ่นฟิล์มในภาค 3 จำนวนผู้ชมกว่า 500 ล้านคนทั่วโลกที่ได้ชมภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ทั้ง 2 ภาคแรก ส่งผลไม่น้อยต่อการท่องเที่ยว

เกือบ 2 สัปดาห์ที่ผู้จัดการฝ่ายจัดหาสถานที่ของภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องนี้ สำรวจพื้นที่ในประเทศไทยตามโครงการ “Inbound Roadshow Familiarization Tour” ในหลายจังหวัด เช่น อยุธยา พังงา และเชียงราย เพื่อวางแผนถ่ายทำภาคที่ 4 ซึ่งอาจเลือกประเทศไทย

วิสูตร พูลวรลักษณ์ ประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ กล่าวว่า เราได้เปรียบทางด้าน Location เราได้เปรียบทางด้านบุคลากร เราได้เปรียบทางด้านทรัพยากร แล้วก็ Equipment ต่างๆ เครื่องไม้เครื่องมือ ทุกวันนี้เราก็เป็น Hub ทางด้าน Post-production อยู่แล้ว ฉะนั้นบ้านเราทำหนังมานานแล้ว แล้วเรามีความเข้าใจ ความรู้ หรือมีทักษะด้านสร้างภาพยนตร์จริงๆ ก็มากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอยู่แล้ว

หลายประเทศพยายามสร้างจุดขายในการเป็นศูนย์กลางการถ่ายทำภาพยนตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปินส์ ที่มีจุดแข็งด้านภาษาอังกฤษ และเพิ่มแรงจูงใจด้วยการลดภาษีต้นทุนการผลิตให้ร้อยละ 10-15 จนภาพยนตร์ภาคต่อชื่อดังอย่าง The Bourne Legacy เลือกไปถ่ายทำที่ฟิลิปปินส์ หรือมาเลเซียที่ไม่เพียงมีสตูดิโอถ่ายทำภาพยนตร์ หรือ Movie Town แต่การให้ความสำคัญด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของภาครัฐ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณถึง 4,000 ล้านบาทยังทำให้วงการหนังในมาเลเซียโตขึ้นเรื่อยๆ

ในขณะที่ปีก่อน มีกองถ่ายภาพยนตร์เข้ามาถ่ายทำในไทยน้อยลงเนื่องจากปัญหาการเมือง และอุทกภัย ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่น จนผู้สร้างเปลี่ยนไปเลือกถ่ายทำในประเทศอื่น ทำให้ประเทศไทยต้องปรับตัว และเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างรอบด้าน

ศศิสุภา สังวริบุตร นายกสมาคมผู้บริหารการผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศ กล่าวว่า คนรอบๆ ตัวเราเขาตื่นแล้ว เขาเริ่มแล้ว เขาเริ่มที่จะรู้แล้วว่าสิ่งที่เราทำคืออะไร เพราะฉะนั้นเขาก็อยากเป็นเราเหมือนกัน เราก็จำเป็นจะต้องเดินให้เร็ว ที่นี้การเดินให้เร็วเนี่ย พลังของตัวเราอย่างเดียวสำหรับโลกใบนี้ ไม่พอแล้ว ในภาวะนี้ ต้องมีพลังช่วย คือพลังจากภาครัฐ

นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า การที่เราจะเป็น Hub จริงๆ แล้ว Facility เราพร้อม อุปกรณ์เราพร้อม คนเราพร้อม ก็เหลือแค่ว่าการสนับสนุนที่ถูกต้อง ถูกทิศทาง และไม่คอร์รัปชั่นสำคัญที่สุด

ฉากสวยงามในประเทศไทยปรากฏในภาพยนตร์ต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2499 โดยเรื่องแรกคือ Around the World in Eighty Days กำกับโดย Michael Todd และเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากภาพยนตร์เรื่อง James Bond: The Man with the Golden Gun, The Killing Field, The Beach และล่าสุดกับเรื่อง The Hangover ภาค 2


ข่าวที่เกี่ยวข้อง