สื่อมวลชน แจ้งความถูกเจ้าหน้าที่ทำร้าย-กักขังช่วงชุมนุม 24 พ.ย.

อาชญากรรม
28 พ.ย. 55
01:16
84
Logo Thai PBS
สื่อมวลชน แจ้งความถูกเจ้าหน้าที่ทำร้าย-กักขังช่วงชุมนุม 24 พ.ย.

สื่อมวลชน เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หลังถูกทำร้ายร่างกายและกักขังหน่วงเหนี่ยว ในเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกลุ่ม อพส.และเจ้าหน้าที่ บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา

นายพัฒนศักดิ์ วรเดช ช่างภาพองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส พร้อมทนายความ เข้าพบพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง เพื่อเเจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หลังถูกทำร้ายร่างกาย ขณะปฎิบัติหน้าที่บันทึกภาพเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม โดยแจ้งความใน 3 ข้อหาคือทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานองค์การของรัฐ ,กักขังหน่วงเหนี่ยวและทำให้ทรัพย์สิน คือ กล้องบันทึกภาพวีดีโอ เกิดความเสียหาย พร้อมเตรียมเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรด้วย

ด้านนายสันติ เต๊ะเปีย ช่างภาพหนังสือพิมพ์เอเอส ทีวี ผู้จัดการ และนายทศฤทธิ์ วัฒนราษฎร์ ช่างภาพสำนักข่าวทีนิวส์ เข้าพบพนักงานสอบสวนด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้สื่อมวลชนทั้ง 3 คน ถูกทำร้ายร่างกายเเละควบคุมตัวไว้ในรถคุมขังของเจ้าหน้าที่ซึ่งจอดอยู่บริเวณวงเวียนน้ำพุ ข้างสะพานมัฆวานรังสรรค์ หลังเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งเพื่อนสื่อมวลชนได้เจรจาทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ให้ปล่อยตัวออกมาได้ในภายหลัง

ด้านพล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวยืนยันว่า ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ กรณีที่ตำรวจควบคุมตัวสื่อมวลชนในช่วงเกิดความรุนแรง ว่า การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน เป็นความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อน โดยยืนยันว่า ช่วงเช้าของวันที่ 24 พฤศจิกายน ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชน ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมพื้นที่ แต่ระหว่างนั้นมีแกนนำ และกลุ่มผูชุมนุมบางส่วนพยายามฝ่าฝืน โดยใช้กำลังอาวุธและรถบรรทุก ฝ่าแนวสิ่งกีดขวางเข้าพื้นที่หวงห้าม ทำให้ตำรวจจำเป็นต้องปกป้องพื้นที่ดังกล่าว

ส่วนกรณีที่สื่อมวลชนถูกควบคุมตัวนั้น เนื่องจาก ไม่ได้มีการแสดงตนว่าเป็นสื่อมวลชนแต่อย่างใด พร้อมยอมรับว่า สื่อมวลชนบางคน มีพฤติการณ์ร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมทำลายฝ่าแนวกั้นเข้าพื้นที่หวงห้าม แต่เมื่อตำรวจสอบสวนข้อเท็จจริง พบว่า ผู้ใดไม่มีเจตนาก็มีการปล่อยตัวออกมาในที่สุด พร้อมยืนยัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เคารพการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างเสมอภาค และไม่มีนโยบายขัดขวางการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน พร้อมเสนอแนวคิด การใช้สัญลักษณ์แสดงตนของสื่อมวลชน ขณะปฏิบัติหน้าที่ ในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ซึ่งควรมีการประสานกับตำรวจและผู้ชุมนุมให้ทราบล่วงหน้า

ขณะที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากการติดตามข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมืองขณะนี้ ยังไม่พบมีการรวมกลุ่มชุมนุมแต่อย่างใด ส่วนการดำเนินคดีกับแกนนำและผู้ชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้ พลตำรวจเอกชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ที่ปรึกษาสัญญาบัตร 10 ไปตรวจสอบหลักฐานการกระทำผิด หากปรากฎความผิดชัดเจนต้องดำเนินคดี รวมทั้งแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมที่จะต้อบรับผิดชอบด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง