รัฐภาคี กำหนดหลักเกณฑ์ราคา และภาษีเพื่อควบคุมยาสูบ

28 พ.ย. 55
07:14
160
Logo Thai PBS
รัฐภาคี กำหนดหลักเกณฑ์ราคา และภาษีเพื่อควบคุมยาสูบ

ที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาควบคุมยาสูบครั้งที่ 5 เห็นชอบเพิ่มเติมในการกำหนดหลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติ เกี่ยวกับมาตรการด้านราคา และภาษี เพื่อการควบคุมยาสูบ เพราะการมีระบบภาษีที่มีประสิทธิภาพ หลังพบว่ามีหลายประเทศทั่วโลกที่จัดเก็บภาษีน้อยเกินไป

คนสูบบุหรี่หลายคน ไม่รู้ว่าบุหรี่ 1 ซอง ถูกเก็บภาษีในราคาเท่าใด ซึ่งความจริงแล้ว บุหรี่ขายปลีก 1 ซองจะถูกเก็บภาษีร้อยละ 70 นั่นคือ หากบุหรี่ ราคาซองละ 100บาท ก็จะถูกเก็บภาษีสูงถึง 70 บาท แต่ปัญหาประเทศไทยคืออ บุหรี่ยาเส้นมวนเองเก็บภาษีน้อยมาก เมื่อขึ้นภาษีบุหรี่ซิกาแรต ทำให้ผู้สูบบุหรี่หันไปสูบบุหรี่ยาเส้นมวนเอง ทำให้จำนวนคนสูบไม่ลดลง

มาตรการทางด้านภาษี เป็นสิ่งที่หลายประเทศ นำมาใช้ในการควบคุมยาสูบ เพราะนอกจากจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บภาษีแล้ว ยังทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลง เนื่องจากบุหรี่มีราคาแพงขึ้น

ที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาควบคุมยาสูบครั้งที่ 5 จึงมีมติเห็นชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติตามมาตรา 6 ของอนุสัญญาว่าด้วยการใช้มาตรการทางด้านราคา และภาษีเพื่อการควบคุมยาสูบ โดยมีหลักการว่า ระบบภาษีที่มีสิทธิภาพจะลดการใช้ยาสูบ โดยเฉพาะป้องกันการเริ่มสูบบุหรี่ของเยาวชน และเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ เนื่องจากบางประเทศเก็บภาษีน้อยเกินไป ลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพโดยภาษีที่สูงขึ้นคนจนสูบน้อยลง และต้องทำให้โครงสร้างภาษี และระบบการจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพ ปราศจากการถูกแทรกแซงจากบริษัทบุหรี่

ส่วนข้อเสนอแนะเพื่อให้รัฐภาคีนำไปเป็นแนวปฏิบัติ มีด้วยกัน 8 ข้อ อาทิ การขึ้นภาษีตามการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากร, โครงสร้างภาษีที่ไม่ซับซ้อน และต้องขึ้นภาษีเป็นระยะๆ ตามภาวะเงินเฟ้อ, รวมถึงมีระบบป้องกันการกักตุน และการจัดสรรงบประมาณในการควบคุมยาสูบ ดังนั้นหากประเทศต่างๆ นำไปปฏิบัติก็จะเป็นผลดีต่อการควบคุมยาสูบ

ประเทศไทย มีจุดอ่อนเรื่องการคิดภาษีตามน้ำหนัก โดยกำหนดน้ำหนัก 1 กรัม เก็บภาษี 1 บาท แต่พบว่า บริษัทบุหรี่ ลดน้ำหนักต่อมวนลงเพื่อเลี่ยงภาษี ดังนั้นควรกำหนดเป็นจำนวนมวน เช่น 1 มวน เก็บ 1 บาท ซึ่งนอกจากจัดเก็บภาษีตามน้ำหนักแล้ว จะต้องจัดเก็บภาษีตามราคาที่บริษัทแจ้งด้วย เพราะระบบการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น และการบริโภคยาสูบลดลง

ส่วน 5 ประเทศในอาเซียนคือ กัมพูชา, ลาว, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ได้รับเงินสนับสนุนจากบิล เกต เพื่อพัฒนานโยบายควบคุมยาสูบให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะการขึ้นภาษีบุหรี่ ขณะที่ไทยต้องมีระบบป้องกันบุหรี่หนีภาษีที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะภาคใต้ ที่มีคนไทยไปขนบุหรี่จากประเทศมาเลเซียครั้งละ1 หีบ วันละหลายครั้งจนกลายเป็นอาชีพ เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดว่า วันหนึ่งขนได้กี่รอบ


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง