วิเคราะห์คะแนนการลงมติอภิปราย "ไว้วางใจนายกฯ-3รมต."

การเมือง
28 พ.ย. 55
13:34
86
Logo Thai PBS
วิเคราะห์คะแนนการลงมติอภิปราย "ไว้วางใจนายกฯ-3รมต."

สภาผู้แทนราษฎรลงมติ "ไว้วางใจ" นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรายบุคคล ทั้ง 3 คน ให้บริหารราชการแผ่นดินต่อไป โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด 308 เสียง ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้รับคะแนนเสียง "ไว้วางใจ" 287 เสียง ซึ่งเป็นคะแนนที่มากที่สุด เมื่อเทียบกับรัฐมนตรีอีก 2 คน

ผลของการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรายบุคคล จำนวน 3 คน ตลอด 3 วัน 2 คืน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่ากึ่งหนึ่งยังคง "ไว้วางใจ" ให้บริหารราชการแผ่นดินต่อไป

แม้ผลของคะแนนจะออกมาแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่โดยสรุปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับญัตติของฝ่ายค้าน โดยลงมติไว้วางใจนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนน 308 เสียง ส่วนคะแนนไม่ไว้วางใจอยู่ที่ 159 เสียง และเมื่อดูจากเสียงส.ส.จะเห็นว่า พรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรคมีเสียงส.ส.ที่ลงคะแนนได้ 277 เสียงด้วยกัน เท่ากับว่า 308 เสียงที่นายกฯได้ คือ เสียงจากส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย ทั้งหมด 31 เสียง

<"">

 

ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้เสียงสนับสนุน "ไว้วางใจ" 287 เสียง โดยคะแนนไม่ไว้วางใจอยู่ที่ 157 เสียง ซึ่ง ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 2 พรรคลงมติตามญัตติของตัวเองคือ ไม่ไว้วางใจ พรรคประชาธิปัตย์ 155 เสียง พรรครักประเทศไทย 2 เสียง แต่สำหรับเสียงสนับสนุนให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป 287 เสียง คือเสียงเดิมของพรรคร่วมรัฐบาลบวกกับเสียงส.ส.ในกลุ่มมัฌชิมา 7 คน ส่วนอีก 3 เสียงที่เพิ่มขึ้น คือ 2 ส.ส.พรรครักประเทศไทยและ 1 ส.ส.ของพรรคมาตุภูมิ สำหรับ ส.ส.ภูมิใจไทยที่เหลืออีก 24 เสียง "งดออกเสียง"

<"">

 

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีเสียงสนับสนุน 284 เสียง ที่มาของคะแนนก็ไม่ต่างจาก ร.ต.อ.เฉลิม แต่ส่วนต่าง 3 เสียง ระหว่าง ร.ต.อ.เฉลิม 287 เสียง กับ พล.อ.อ.สุกำพล 284 เสียง กลับผันไปลงที่คะแนน "ไม่ไว้วางใจ" ของฝ่ายค้าน เพราะ ร.ต.อ.เฉลิม ได้คะแนนไม่ไว้วางใจ 157 เสียง แต่ พล.อ.อ.สุกำพล ได้คะแนนไม่ไว้วางใจ 160 เสียง เพราะมี ส.ส.พรรครักษ์สันติลงมติไม่ไว้วางใจด้วย

<"">

 

พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มี ส.ส.ลงมติให้การ "ไว้วางใจ" 284 เสียง แต่คะแนน"ไม่ไว้วางใจ"กลับสูงถึง 182 เสียง และแน่นอนว่า 284 เสียงที่ไว้วางใจย่อมมี ส.ส.ในกลุ่มมัฌชิมาที่ให้การสนับสนุนอยู่ แต่อีก 24 เสียงในพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเคยงดออกเสียงในการลงคะแนนของ ร.ต.อ.เฉลิม และ พล.อ.อ.สุกำพล กลับพลิกมาลงคะแนน"ไม่ไว้วางใจ"จนทำให้คะแนนของฝ่ายค้านสูงถึง 182 เสียง เพราะมีคะแนนที่"งดออกเสียง"แค่ 5 เสียง

การลงมติครั้งนี้ พรรคภูมิใจไทย ถูกถามทันทีว่า เสียงที่เทแบบหมดหน้าตักให้นายกฯยิ่งลักษณ์ คือ การส่งสัญญาณสนับสนุนรัฐบาล และอยากจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พรรคที่ 7 หรือไม่ โดยคำตอบที่ได้ คือ "ลงมติตามพื้นฐานข้อมูลที่ได้รับจากการอภิปราย"

<"">

 

ถ้าประมวลจากบริบทของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร แทบจะระบุได้ว่า ทุกพรรคให้การสนับสนุนรัฐบาล จะมีก็แต่ 2 เสียงของพรรครักประเทศไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ 157 เสียง ที่เรียกตัวเองอย่างเต็มศักยภาพว่า"ฝ่ายค้าน" และปฏิเสธว่า ไม่ได้รู้สึกกังวล หากต้องถูกโดดเดี่ยว

ครม.ยิ่งลักษณ์ 3 ภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผ่านมาแล้วทั้งศึกในสภาผู้แทนราษฎรและศึกนอกสภาฯ หากแต่ว่านับจากนี้ไป ข้อมูลการอภิปรายไม่ไว้วางใจจากฝ่ายค้าน หรือ ข้อมูลการปราศรัยและจุดยืนการต่อต้านรัฐบาลขององค์การพิทักษ์สยาม ย่อมเป็นบาดแผลให้ต้องขบคิดและทบทวนการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงเวลาที่เหลืออีก 2 ปีเศษ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง