ชาวอียิปต์ปักหลักชุมนุมขับไล่ประธานาธิบดี

ต่างประเทศ
28 พ.ย. 55
13:49
73
Logo Thai PBS
ชาวอียิปต์ปักหลักชุมนุมขับไล่ประธานาธิบดี

ชาวอียิปต์ที่ไม่พอใจการประกาศใช้กฤษฎีการที่เป็นเหมือนการรวบอำนาจโดยประธานาธิบดียังคงเดินหน้าประท้วง หลังการชุมนุมใหญ่เมื่อวานนี้ ซึ่งมีผู้ออกมาร่วมขับไล่ประธานาธิบดีมากที่สุด นับตั้งแต่การโค่นล้มอดีตผู้นำเผด็จการ และเผยให้เห็นถึงความแตกแยกอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มภราดรมุสลิมที่อยู่ในอำนาจ กับผู้มีบทบาททางการเมืองที่กลายเป็นฝ่ายค้าน ทั้งที่เคยจับมือกันโค้นล้มอดีตผู้นำมาก่อน

ผู้ชุมนุมอียิปต์ยังคงปักหลักชุมนุมบริเวณจตุรัสตารีห์ เพื่อรอท่าทีการเคลื่อนไหวต่อไป หลังรวมตัวชุมนุมใหญ่เมื่อวานนี้ และไม่มีทีท่าจะถอยหลัง ทำให้เกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจที่พยายามยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมอีกครั้งเมื่อช่วงเช้าวันนี้ตามเวลาท้องถิ่น

การชุมนุมไม่ได้จำกัดเพียงในกรุงไคโรเท่านั้น เพราะมีรายงานผู้ที่ไม่พอใจการประกาศกฤษฎีการวมอำนาจโดยประธานาธิบดี รวมตัวประท้วงในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่อเล็กซานเตรีย สุเอซ มินยา และเมืองต่างๆ บริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ำไนล์ เช่นที่เมืองมาฮาล่า ซึ่งเกิดการปะทะระหว่างกลุ่มหนุนกับกลุ่มต้านประธานาธิบดี จนมีคนบาดเจ็บถึง 127 คน

การรวมตัวครั้งนี้ของประชาชนนับว่าเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การปฏิวัติประชาชนโค่นล้มอำนาจอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัคที่ครองอำนาจยาวนาน 30 ปีได้สำเร็จ ทำให้สถานการณ์ในอียิปต์ขณะนี้เริ่มวิกฤตหนัก ท่ามกลางการจับตาของนานาชาติ เพราะช่วงเวลานี้อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนถ่ายสู่ประชาธิปไตยในประเทศ

การประท้วงที่เกิดขึ้น ทำให้กลุ่มการเมืองฝ่ายค้านที่เคยแตกแยก ไม่ว่าจะเป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมืองคนสำคัญอย่างนายโมฮัมเหม็ด เอล บาราเด อดีตผอ.ไอเออีเอ และนายอามีร์ มุซซา อดีตประธานสันนิบาตรอาหรับ และบรรดาผู้ที่เคยสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี กลับมาผนึกกำลังกันได้อีกครั้ง เพื่อต่อต้านนายมอร์ซี และกลุ่มภราดรมุสลิม

ทั้งยังเผยให้เห็นรอยร้าวลึกระหว่างกลุ่มการเมืองทั้ง 2 ขั้ว ทั้งที่ต่างก็เคยร่วมมือกันโค่นล้มอดีตผู้นำเผด็จการ แต่หลังจากนั้นกลุ่มภราดรมุสลิม กลับก้าวขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองเพียงกลุ่มเดียว โดยหลังจากคว้าชัยถล่มทลายในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรเฉพาะกาลแล้ว กลุ่มภราดรมุสลิมก็กลับคำมั่นที่เคยให้ไว้ว่าจะไม่ส่งผู้แทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และส่งนายมอร์ซีลงชิงชัย จนได้ขึ้นเป็นผู้นำประเทศ

คนของกลุ่มภราดรมุสลิมยังเป็นเสียงข้างมากในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จนทำให้ตัวแทนของกลุ่มเสรีนิยม กลุ่มสังคมนิยม และกลุ่มผู้แทนศาสนา วอล์ค เอาท์จากการประชุมหลายต่อหลายครั้ง เพราะมองว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นตัวแทนชาวอียิปต์ทุกคนอย่างแท้จริง ทำให้การร่างรัฐธรรมนูญไม่คืบหน้า และกลายเป็นข้ออ้างให้นายมอร์ซี ประกาศกฤษฎีการวบอำนาจ ซึ่งยิ่งสร้างความกังวลว่าจะทำให้ทิศทางการเมืองการปกครองของอียิปต์ ถอยห่างจากประชาธิปไตยให้ตัวแทนของกลุ่มเสรีนิยม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง