The Space in between เมืองไทยในภาพวาดชาวสวิส

Logo Thai PBS
The Space in between เมืองไทยในภาพวาดชาวสวิส

ตลอด 3 เดือนของการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เพอร์มิน บรอย ศิลปินชาวสวิตเซอร์แลนด์เก็บความเป็นไทยที่เขาพบเห็นรอบๆ ตัว ถ่ายทอดเป็นผลงานศิลปะด้วยกลิ่นอายของกราฟฟิตี้แนวถนัด ในนิทรรศการ The Space in between

รถแท็กซี่หลากสีสัน ผู้หญิงหน้าคมผมดำ ตัวอักษรไทย หรือร้านสะดวกซื้อยอดนิยมที่พบเห็นในเมืองไทยทุกที่ที่ไป คือสิ่งที่ เพอร์มิน บรอย ศิลปินชาวสวิตเซอร์แลนด์ พบเจอตลอด 3 เดือนที่มาอยู่เมืองไทย หลังมาแสดงผลงานครั้งแรก เพื่อฉลอง 80 ปี ความสัมพันธ์ไทย-สวิส เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผลงานในนิทรรศการ The Space in between ครั้งที่ 2 จึงถ่ายทอดจากความประทับใจที่ได้รู้จักเมืองไทยมากขึ้นกว่าเคย ทั้งยังพบว่ามีวิถีชีวิตบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน เช่น วิถีเกษตรกรรมที่ชาวไทยเลี้ยงควายเพื่อไถนา ขณะที่ชาวสวิสเลี้ยงวัวเพื่อรีดนม ไว้ทำเนย

เพอร์มิน บรอย กล่าวว่า เคยมาประเทศไทยกับเพื่อนครั้งแรกเมื่อ 6 ปีก่อน ซึ่งตอนนั้นไม่รู้จักเอเชียเลย แต่เมื่อมาถึงก็ต้องแปลกใจกับความน่ารักของคนไทย อาหารอร่อย และความงามของบ้านเมือง ที่ทำให้อยากกลับมาที่นี่บ่อยๆ นิทรรศการครั้งนี้จึงเป็นงานศิลปะที่บอกเล่าความรู้สึกที่เขามีต่อประเทศไทย

ผลงานส่วนใหญ่ของ เพอร์มิน บรอย จะเป็นสไตล์สตรีทอาร์ต ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือภาพด้านหลังนี้ที่นำเอาหลายสิ่งหลายอย่างที่เขาพบเห็นในประเทศไทยมาทับซ้อนกันหลายชั้น แต่ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมีความหมาย ซึ่งต้องใช้การพินิจพิจารณาในการชมผลงาน เหมือนดั่งชื่อของนิทรรศการ The Space In Between ที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่ว่าง แม้กระทั่งพื้นที่ว่างระหว่างวัตถุใดใด

การส่งความรู้สึกจากภายในขณะพ่นสีสเปรย์ ทำให้ผลงานของ เพอร์มิน บรอย เต็มไปด้วยอารมณ์ และยังเสริมด้วยสีอะคริลิค และสีน้ำมัน คือเทคนิคกราฟฟิตี้ที่เขาหลงใหล และฝากผลงานแนวถนัดไว้ในหลายประเทศ ทั้งบนผนังกำแพง ขบวนรถไฟ เครื่องบิน ทั้งยังเคยพ่นสีสเปรย์ให้บอลลูนหมูขนาดใหญ่ตัวแทนคนโลภ ที่วง พิงค์ ฟลอยด์ ใช้ในคอนเสิร์ตที่สวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 2007

ลูคัส แกสเซอร์ อัครราชทูตสวิสเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เพอร์มิน บรอยเป็นศิลปินที่เก่งรอบด้าน และมีความเป็นสากล เขาใช้องค์ประกอบที่หลากหลายทั้งป็อปอาร์ต และศิลปะพื้นบ้านของสวิส แต่เมื่อมาทำงานที่ไทย เขาผสมผสานความเป็นไทยลงไปด้วย เช่น ใช้รูปช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย เทียบเคียงกับวัวสัตว์ที่ผูกพันกับวิถีของชาวสวิส

ผลงานรูปเสื้อทีเชิ้ตหลายสี เกิดจากภาพชินตาที่เห็นคนไทยใส่เสื้อทีเชิ้ตกันในทุกโอกาส ไม่ว่าจะในชีวิตประจำวันหรือใช้สีแสดงออกทางการเมือง เป็นอีกมุมมองเมืองไทยในสายตาชาวต่างชาติ ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายผลงานยังสมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดล นิทรรศการ The Space in between ครั้งที่ 2 จัดแสดงที่ ก้อย อาร์ต แกลเลอรี่ ซอยสุขุมวิท 31 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง