"ไทยพีบีเอส" พร้อมสร้างสื่อพัฒนา "ผู้ชม" สู่ "พลเมือง" ร่วมขับเคลื่อนสังคมไทย

สังคม
29 พ.ย. 55
09:24
148
Logo Thai PBS
"ไทยพีบีเอส" พร้อมสร้างสื่อพัฒนา "ผู้ชม" สู่ "พลเมือง" ร่วมขับเคลื่อนสังคมไทย

ผู้อำนวยการนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ชี้ สื่อไทยพีบีเอสใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้ ช่วยให้นักศึกษาเรียนรู้และเข้าใจง่ายขึ้น ขณะที่โปรดิวเซอร์ รายการหลงกรุง,ลุยไม่รู้โรย และ คนกล้าฝัน สำนักรายการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ระบุถึง แนวทางการสร้างสรรค์สื่อเพื่อสร้างการเรียนรู้ แต่ละรายการจะพยายามสร้างผู้ชมให้เป็นพลเมืองเพื่อให้พลเมืองได้กลายเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

รศ.ดร.สมใจ ศิริโชค ผู้อำนวยการนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวในงานเสวนา "การใช้สื่อของไทยพีบีเอสเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างการเรียนรู้"ว่า สื่อของไทยพีบีเอส ได้ช่วยในการนำสิ่งที่อยู่รอบตัว หรือ สิ่งที่เป็นทฤษฎีแสดงออกมาให้เห็นในเชิงปฏิบัติ ซึ่งสามารถช่วยให้นิสิตได้เรียนรู้และเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น มากกว่าการสอนด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว

                   

<"">

รศ.ดร.สมใจ ยัง ระบุว่า ที่ผ่านมากว่า 2-3 ปี ทางมหาวิทยาลัยได้นำสื่อจากไทยพีบีเอสในรายการต่าง ๆ ไปใช้ในการเรียนการสอ ในรายวิชาทั่วไปสำหรับนิสิตชั้นปีที่ 1 ในทุกคณะ อาทิ รายการ กรีนสเตชั่น ,หลงกรุง ,ลุยไม่รู้โรย, สารคดีขุนรองปลัดชู และ สารคดี 2475 ซึ่งช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากขึ้น และ เปิดโลกทัศน์ของนิสิตได้มากขึ้น และ ได้ร่วมทำเอ็มโอยูเพื่อนำเทปรายการไปใช้ในการเรียนการสอนมากขึ้น

นายวีรวิชญ์ โชติกิจสมบูรณ์ โปรดิวเซอร์ รายการหลงกรุง, ลุยไม่รู้โรย และ คนกล้าฝัน สำนักรายการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า แนวทางการสร้างสรรค์สื่อเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับสังคมโดยแต่ละรายการจะพยายามสร้างผู้ชมให้เป็นพลเมือง ซึ่งเป็นพันธกิจที่วางไว้เพื่อให้พลเมืองเหล่านี้ได้กลายเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ อาทิ รายการ ลุยไม่รู้โรย ที่ส่งเสริมคุณค่าของผู้สูงอายุ เพื่อแสดงให้เห็นประสบการณ์ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้สูงอายุที่อยู่ในช่วงใกล้เกษียณ เพื่อนำประสบการณ์และความรู้ไปใช้หลังเกษียณ รวมถึงในกลุ่มผู้ชมที่เป็นวัยรุ่น ก็สามารถนำประสบการณ์ที่ได้รับชมไปปรับใช้หรือเป็นแบบอย่างในการวางแผนการใช้ชีวิตได้

                   

<"">

นอกจากนี้ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยหลายแห่งได้นำ เทปรายการไปใช้สอนให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ประสบการณ์ของผู้สูงอายุเหล่านี้ รวมถึงการนำไปเรียนรู้การดูแลผู้สูงอายุหลังการเกษียณ

ขณะที่ น.ส. นิสา แสงกนึก นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนหนองแซงวิทยา จ.สระบุรี กล่าวว่า ได้ติดตามชม "รายการหลงกรุง" ซึ่งช่วยให้เข้าใจมุมมองใหม่ ๆ ต่อชีวิต ความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของไทย ซึ่งแตกต่างจากรายการท่องเที่ยวทั่วไป รวมถึงการเข้ามาเรียนรู้กระบวนการทำงานของ "ทีมข่าวไทยพีบีเอส" ที่ได้ลงมือทำอย่างแท้จริง มากกว่าการดูวิธีการทำงานเพียงอย่างเดียวซึ่งช่วยให้เข้าใจวิธีการทำงานมากขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง