เสียงเพลงสานสัมพันธ์ 2 ฝั่งโขง

Logo Thai PBS
เสียงเพลงสานสัมพันธ์ 2 ฝั่งโขง

ความร่วมมือระหว่างศิลปินแห่งชาติของไทย และลาว ทำให้เกิดงานเพลงที่บ่งบอกความเป็น 2 วัฒนธรรมได้อย่างถูกต้อง ลึกซึ้ง ทั้งเสียงเพลง และท่วงท่าร่ายรำ ยังเป็นความสนุกที่เกิดร่วมกัน ตอกย้ำความผูกพันระหว่าง 2 ประเทศริมฝั่งโขง

สถานที่ขึ้นชื่อ และทิวทัศน์ของประเทศลาวทั้งประตูชัย วัดพระธาตุหลวง น้ำตกกวางสี และทุ่งไหหิน ถูกถ่ายทอดอย่างงดงามผ่านมิวสิกวิดีโอเพลง “สวรรค์เมืองลาว” 1 ใน 3 บทเพลงของอัลบั้ม “รวมใจ 2 ฝั่งโขง” ที่แต่งโดยครูเพลงชาวไทย โดยได้ ชาลี อินทรวิจิตร นักประพันธ์ชั้นครู ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นที่ปรึกษา

นี่เป็นครั้งแรกที่ 3 บทเพลงได้รับลิขสิทธิ์ให้บันทึกภาพมิวสิควิดีโอภายในประเทศลาว โดยมีหมอลำหญิง อมรรัตน์ วงศ์ษา รับหน้าที่ขับร้องหลายบทเพลงที่สื่อถึงความสัมพันธ์อันกลมเกลียวของไทย และลาว สะท้อนความคล้ายคลึงทางด้านภาษา และวัฒนธรรมของ 2 ประเทศริมฝั่งโขง

อมรรัตน์ วงศ์ษา (จิ๋ว อมรรัตน์) นักร้อง กล่าวว่า ความที่ภาษาใกล้เคียง เเละเเม้เเต่การเเต่งกาย เเม้เเต่คำพูดบางคำยังเหมือนคำไทยอีสาน จิ๋วว่าสิ่งเหล่านี้มันสวยงามที่จะสืบสานในด้านนี้ ในการสื่อด้วยเพลงจิ๋วว่าเป็นอะไรที่พี่น้องเเฟนเพลงให้การตอบรับ เพราะว่าในด้านของการร้องเพลงหรือว่าเสียงเพลง เพราะทำให้คนมีความสุข

ท่วงท่าก้าวขาสลับซ้าย ขวา อย่างพร้อมเพรียง “บาสโลป” ไม่เพียงเพิ่มความสนุกสนานให้ผู้เต้น แต่ยังเป็นเอกลักษณ์ของงานรื่นเริงในประเทศลาว ครั้งนี้ศิลปินแห่งชาติลาว สาขาศิลปะการแสดง ไมสิน หงสะหวัน ยังเป็นที่ปรึกษาในเรื่องท่วงท่าฟ้อนรำในงานเพลงระหว่างไทยลาวครั้งนี้ และร่วมโชว์ลีลาบาสโลปกับพี่น้องศิลปินอย่างเป็นกันเอง

ไมสิน หงสะหวันศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง สปป. ลาว กล่าวว่า ระหว่างการฟ้อนของลาว เเละภาคอีสานมีความเหมือนกันที่สุด ถ้าพูดไป เเต่ว่าสำหรับพวกเราเป็นนักฟ้อนนักรำ เราก็จะดูออกว่าฟ้อนลาวกับไทยมันมีความเเตกต่างกันเเค่นิดเดียว ลาวก็จะเป็นความนิ่มนวล เเละก็อ่อนหวานกว่านิดนึง ทางฝั่งประเทศไทย การฟ้อนนี่จะเน้นการฟ้อนที่เเรงกว่า อันนี้มันจะดูออก

ชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง กล่าวว่า คือเราต่างคนต่างก็มีศิลปวัฒนธรรมของเราคนละเเบบกัน เเต่มาเข้ากัน มาผูกพันกัน 2 ฝั่งเนี่ยกลายเป็นฝั่งเดียวกันได้ครับ

ความสัมพันธ์ที่ดีงามระหว่างประเทศไทย และลาวถูกบอกต่อผ่านบทเพลงมาแล้วหลายครั้ง และได้รับความนิยมทั้งใน 2 ประเทศ เช่นเพลง "เดือนหงายที่ริมโขง" ที่ราชาเพลงลูกทุ่ง “สุรพล สมบัติเจริญ” ขับร้องไว้เมื่อ 50 ปีก่อน พูดถึงความรักหนุ่มสาวที่มีอุปสรรคเป็นการเดินทางข้ามพรมแดน เมื่อครั้งยังไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำโขง

และเพลง "สาวลาว บ่าวไทย" ที่บอกความเป็นไปอย่างทันยุคทันสมัยระหว่างหนุ่มไทย และสาวลาว เสียงเพลงที่ขับขานเรื่องราวสะท้อนวัฒนธรรมของ 2 ฟากฝั่ง ไม่เพียงเสริมสร้างการเรียนรู้ระหว่างเพื่อนบ้านให้เข้าใจง่ายขึ้น แต่ยังเป็นอีกวิธีที่ช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างไทย - ลาว ให้มั่นคงแน่นแฟ้นต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง