"สตง."พบพิรุธฮั้วประมูลจัดซื้อสารเคมีวงเงินกว่า 5,000 ล้านบาท

การเมือง
30 พ.ย. 55
13:41
306
Logo Thai PBS
"สตง."พบพิรุธฮั้วประมูลจัดซื้อสารเคมีวงเงินกว่า 5,000 ล้านบาท

การประกาศพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินด้านพืชในหลายจังหวัด ระหว่างปี 2553 - 2555 ที่มีการอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกร รวมกว่า 5,000 ล้านบาท การตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งพบข้อพิรุธเกี่ยวกับการจัดซื้อในหลายประเด็น นอกจากความผิดปกติเรื่องราคาสารเคมีที่มีสูงเกินจริงแล้ว สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินยังพบพฤติกรรมหลายอย่างที่ส่อในทางทุจริตของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบริษัทที่เข้ายื่นเสนอราคามีหลักฐานว่า มีลักษณะเข้าข่ายการฮั้วประมูลโครงการจัดซื้อสารเคมี

บ้านเลขที่ 8 หมู่ 15 ต.เสือเฒ่า อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม ถูกระบุว่า เป็นที่ทำการของห้างหุ้นส่วนจำกัดนำทรัพย์เจริญ 1 ในบริษัทที่ยื่นเสนอราคาในโครงการจัดซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในจังหวัดบึงกาฬ เจ้าของบ้านกล่าวว่า มีผู้ติดต่อขอเช่า เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาฆ่าแมลง แต่มาทราบภายหลังว่า เลขที่บ้านถูกนำไปจดทะเบียนเป็นที่ทำการบริษัท โดยกำหนดระยะเวลาเช่า 3 ปี

ห้างหุ้นส่วนจำกัดนำทรัพย์เจริญ เป็น 1 ใน 4 บริษัท ที่เข้ายื่นเสนอราคาจัดซื้อสารเคมี เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินโรคยางพารา ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบพบว่าทั้ง 4 บริษัท มีเจ้าของรายเดียวกัน และมีพฤติกรรมจัดซื้อสารเคมีราคาแพงกว่าที่ขายในท้องตลาด และฮั้วประมูล
                                  

<"">

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ที่ปรึกษาสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า "ในข้อเท็จจริงที่ดำเนินการไป ไม่ได้ทำตามระเบียบ ไม่ได้ใช้ราคาของสารเคมีเป็นฐานในการจัดซื้อโดยให้ผู้ค้าจากจังหวัดอื่นเข้ามาเสนอราคาโดยไม่มีการแข่งขันอย่างแท้จริง"

ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบพบพฤติกรรมลักษณะดังกล่าว เกือบทุกจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี มีการใช้งบประมาณจัดซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืช รวมกว่า 1,200 ล้านบาท
                                    

<"">

นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า "ที่มันใช้งบตัวนี้ มันเกิน 20 จังหวัด แต่เราจะไม่ตั้งเป้าไปที่จังหวัดซื้อ 1- 2 ครั้ง เราเน้นที่จังหวัดใหญ่อย่างอุบลราชธานีที่วงเงิน 1,200 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการระบาดมากขึ้น และมีการซื้อยาที่แพงกว่า 10 เท่า และหากซื้อในราคาปกติตามที่มีการระบาดตามที่ประกาศภัยพิบัติก็เท่ากับว่ามีจำนวนยามากกว่านี้อีก 10 เท่า "

สอดคล้องกับการตรวจสอบการใช้งบประมาณ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน ด้านพืช ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. ที่พบว่ามีการประกาศโรคระบาดในพืชเศรษฐกิจอย่างยางพารา,มันสำปะหลัง,และข้าว ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างปี 2553 - 2555 ข้อเท็จจริงส่วนใหญ่พบว่า ไม่ได้เกิดโรคระบาด หรือระบาดไม่รุนแรง ซึ่งมีการอนุมัติประมาณจำนวนกว่า 5,000 ล้านบาท ส่วนจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำผิดหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล ส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตรวจสอบความผิด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง