ภาพยนตร์ย้อนรอยความอดอยากในประวัติศาสตร์จีน

Logo Thai PBS
ภาพยนตร์ย้อนรอยความอดอยากในประวัติศาสตร์จีน

ขณะที่จีนกำลังก้าวขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ของผู้นำเศรษฐกิจโลก คนไม่น้อยอาจลืมไปว่าชาติอันยิ่งใหญ่นี้เคยผ่านประวัติศาสตร์อันขมขืนจาก ความอดอยากมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวถือเป็นประเด็นต้องห้ามในสังคมจีน ล่าสุดมีการอนุญาตให้ฉายภาพยนตร์แนวนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนเปิดใจต่อบาดแผลทางประวัติศาสตร์มากขึ้น

ปี 1942 ก่อนที่โลกจะเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวบ้านมณฑลเหอหนานต้องเผชิญกับการอพยพครั้งใหญ่ นอกจากการรุกรานของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นแล้ว ยังมีทุพภิกขภัยทำให้มีผู้เสียชีวิตนับล้าน คือเนื้อหาที่ถ่ายทอดใน Back to 1942 ภาพยนตร์จีนเรื่องใหม่ของผู้กำกับ เฟิงเสี่ยวกัง ที่สร้างความแปลกใจด้วยการหยิบประเด็นต้องห้ามของจีน เกี่ยวกับความยากไร้ของประชาชนอันเกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลมา เผยแพร่

สาเหตุความแร้นแค้นของเหอหนาน มาจากแผนการสร้างเขื่อนบริเวณแม่น้ำฮวงโห เพื่อป้องกันกองทัพญี่ปุ่น แต่เหตุจากกำแพงกั้นน้ำรั่ว ทำให้เกิดอุทกภัยติดต่อกันถึง 4 ปี ตามด้วยปัญหาภัยแล้งและศัตรูพืชกองทัพตั๊กแตน รวมถึงการบริหารงานผิดพลาดโดยดูแลกองทัพในภาวะสงคราม แต่กลับละเลยประชาชนที่กำลังจะอดตาย ทำให้มีผู้คนเสียชีวิตจากความอดอยากกว่า 3 ล้านคน ซึ่งเฟิงเสี่ยวกัง กล่าวว่า เหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดนี้ไม่เคยเป็นที่รับรู้ของตะวันตก และนำเสนอเพื่อเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์

การนำเสนอประเด็นความอดอยากจนทำให้ผู้คนเสียชีวิตเป็นเรื่องต้องห้ามในจีน เนื่องจากฟ้องถึงล้มเหลวของนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบก้าวกระโดดของเหมา เจ๋อตง เมื่อปี 1962 ที่ฝันจะเปลี่ยนจีนเป็นมหาอำนาจอุตสาหกรรม ในเวลาอันสั้น ด้วยนโยบายเพิ่มประชากรในชาติเป็นพันล้านคน และเกณฑ์ชาวนาไปใช้แรงงานในเหมืองเหล็กและถ่านหินแบบหามรุ่งหามค่ำ แม้แต่อุปกรณ์ทำนาก็นำไปหลอมเหล็ก จนเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหาร ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 40 ล้านคนในเวลาเพียง 4 ปี ซึ่งทุกวันนี้หนังสือหลายเล่มที่นำเสนอเรื่องดังกล่าวยังคงถูกแบนในเมืองจีน

Back to 1942 ซึ่งใช้ทุนสร้างกว่า 210 ล้านหยวนหรือกว่าพันล้านบาท ได้มีโอกาสไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงโรม รวมถึงรายงานว่า ทางการจีนสั่งให้มีการเลื่อนฉายภาคล่าสุดของหนังสายลับ 007 ในเมืองจีนออกไป เพื่อเปิดทางให้ Back to 1942 ทำเงินได้อย่างเต็มที่ ซึ่งการออกมาสนับสนุนหนังที่ต่อต้านนโยบายของรัฐบาลในอดีต แสดงถึงความผ่อนปรนต่อสื่อ ที่นำเสนอเรื่องราวซึ่งเคยเป็นข้อต้องห้ามมากขึ้นในวันนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง