ประเพณีแห่พระบัวเข็มรอบทะเลสาบอินเล

Logo Thai PBS
ประเพณีแห่พระบัวเข็มรอบทะเลสาบอินเล

แม้จากลาบ้านไปไกลแค่ไหน แต่เมื่อถึงช่วงเวลาแห่พระบัวเข็มทุกปี ชาวบ้านรอบทะเลสาบอินเล สหภาพพม่า จะคืนถิ่นเพื่อร่วมงานประเพณีของชุมชนที่ทุกคนมีส่วนร่วม สะท้อนสายสัมพันธ์ผ่านประเพณีที่ชาวลูกทะเลสาบสืบทอดมาหลายชั่วอายุคน

ขบวนเรือการเวกอัญเชิญพระบัวเข็มไปตามชุมชนรอบทะเลสาบอินเลมาได้กว่าค่อนทางแล้ว อีกไม่กี่วันจะถึงปลายทางซึ่งวนกลับมาที่จุดเริ่มต้นที่วัดผ่องต่ออู 18 วันกับภารกิจอัญเชิญพระศูนย์รวมศรัทธาของชาวบ้าน "อูลาทุน" เป็น1ในผู้ร่วมพายเรืออัญเชิญพระในครั้งนี้เช่นเดียวกับชายอินตาทุกคน ซึ่งถือเป็นหน้าที่ในการร่วมขบวนแห่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน

<"">
<"">

 

อูลาทุน ชาวอินตา ฝีพายเรือชักพระหมู่บ้านโกงเก่ บอกอย่างภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนชักพระบัวเข็ม เขาร่วมพายเรือมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนวันนี้ได้รับเลือกให้พายเรือด้านหน้า ซึ่งถือว่าต้องเป็นผู้มีความชำนาญสูงมาก

เรือการเวกแวะพักที่หมู่บ้านน้ำปัน เพื่อให้ชาวบ้านบริเวณนี้และละแวกใกล้เคียงมีโอกาสสักการะพระบัวเข็มอย่างชิดใกล้ และเป็นเช่นนี้ทุกปี ก่อนช่วงออกพรรษาจะอัญเชิญพระบัวเข็ม 4 องค์ จากวัดผ่องต่องอูไปรอบทะเลสาบโดยเหลืออีกองค์ไว้ที่วัด เพราะเชื่อว่าหากอัญเชิญมาครบทั้ง 5 จะเกิดอาเพศ เช่นเรือพลิกคว่ำเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน

พระบัวเข็ม หรือ ที่คนมอญ พม่า ชาวไทยในภาคเหนือ และอีสาน คุ้นกันในอีกชื่อว่าพระอุปคุต ตามตำนานเล่าว่าจำศีลอยู่กลางสะดือทะเล นิยมอัญเชิญมาในพิธีมงคลเชื่อว่าจะช่วยคุ้มครองป้องภัยและบันดาลความสมบูรณ์ ศรัทธาในองค์พระจึงมีผู้มาปิดทองอยู่ไม่ขาดสาย นานวันทองยิ่งหนาขึ้นจนไม่เห็นองค์ ชาวลูกทะเลสาบทุกคนให้ความสำคัญกับงานนี้ แม้จากลาบ้านไปไกลแค่ไหนก็กลับมาเจอกันในงานประเพณีสำคัญที่สุดของชุมชน

<"">
<"">

 

เมี้ยะจัน สาวไทใหญ่ รับจ้างขายผักอยู่ที่สมุทรสาคร เธอใช้เวลาช่วงกลับมาเยี่ยมบ้านมาช่วยเพื่อนขายของที่วัดใกล้หมู่บ้าน เธอได้ใช้เวลา 20 วัน อยู่กับครอบครัวและร่วมงานประเพณี เวลานี้จึงเป็นอีกช่วงเวลาที่ดีที่สุด

ภัตตาหารที่คัดเลือกแล้วอย่างดีจัดวางสวยงามในพานถวายเป็นพุทธบูชาอวดฝีมือหญิงชาวบ้านรอบทะเลสาบ แม้ไม่มีสิทธิเข้าไปปิดทองถึงองค์พระ แต่การได้ทำหน้าที่นี้ก็สะท้อนศรัทธาสูงสุดที่พึงทำได้ถวายแด่พระบัวเข็ม ขณะที่ผู้ชายได้ทำหน้าที่ยิ่งใหญ่พายเรือชักพระบัวเข็ม

<"">
<"">

อีธาน พอล แวน ดรูแนน นักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน ยอมรับว่าตื่นตาไปกับประเพณีแห่พระบัวเข็ม และชื่นชมกับความสามัคคีร่วมใจของชาวบ้าน ไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้หายไปกับธุรกิจท่องเที่ยว อยากให้มีการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพื่อช่วยชาวอินตาปกป้อง อนุรักษ์ประเพณี และสถานที่แห่งนี้ พร้อมไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น

เรือการเวกนำพาศรัทธาของชุมชนเคลื่อนไปรอบทะเลสาบอินเล พร้อมความสุขใจของชาวบ้านที่ได้ร่วมจัดงานบุญมงคลลุล่วงไปอีกครั้ง

วันนี้ประเพณีของชุมชนอยู่ในโปรแกรมท่องเที่ยวที่พลาดไม่ได้ของพม่า ทำให้หลายปีที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้มาเยือนช่วยให้คนในพื้นที่มีรายได้ และภาคภูมิใจที่ได้อวดงานประเพณี แต่ส่วนหนึ่งก็กังวลถึงความเปลี่ยนแปลงจากการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวที่ยากจะรับมือได้ในอนาคต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง