รถไฟความเร็วสูง ใครได้ ใครเสีย?

4 ธ.ค. 55
05:14
1,088
Logo Thai PBS
รถไฟความเร็วสูง ใครได้ ใครเสีย?

โดย : ดร. ศิวาลัย ขันธะชวนะ

 หากพิจารณาเฉพาะสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ สายเร่งรัดที่รัฐประกาศว่าจะเริ่มเปิดใช้บริการประมาณปี 2018 ระยะทาง 745 กิโลเมตร รถไฟวิ่งด้วยความเร็ว 200-250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมงครึ่ง สู่ใจกลางเมือง ประมาณราคาค่าโดยสารไว้ที่ 1,200 บาทต่อเที่ยว ใครมีแนวโน้มได้รับประโยชน์ หรือเสียประโยชน์ จากรถไฟความเร็วสูงสายนี้บ้าง?

ราคาค่าโดยสาร 1,200 บาทต่อเที่ยว ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย ค่าโดยสาร 1,200 บาท หรือ 1.6 บาท/กิโลเมตร เป็นราคาที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่มีรถไฟความเร็วสูงให้บริการแล้ว เช่น จีน มีค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 2.2 บาท/กิโลเมตร ส่วนญี่ปุ่น มีราคาแพงที่สุด เฉลี่ย 9.5 บาท/กิโลเมตร ในขณะที่ เกาหลี และไต้หวัน ค่าโดยสารเฉลี่ย 3.4 และ 5 บาท/กิโลเมตร ตามลำดับ ซึ่งความแตกต่างของราคา ขึ้นอยู่กับระดับค่าครองชีพและการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ

ในส่วนของไทย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้ร่างกำหนดค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่ 1,200 บาทต่อเที่ยว ไว้เบื้องต้น ซึ่งเมื่อโครงการเป็นรูปธรรมมากขึ้นใน 5 ปีข้างหน้า ค่าโดยสารอาจเปลี่ยนแปลงไป ขึ้นกับค่าครองชีพในขณะนั้น และนโยบายของภาครัฐ ที่อาจยอมแบกรับภาระต้นทุนค่าโดยสาร โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในด้านอื่นมากกว่า เช่น การเติบโตของพื้นที่

ทั้งนี้ การวิเคราะห์ถึงผู้ได้รับประโยชน์ หรือเสียประโยชน์ ในส่วนต่อจากนี้ จะใช้สมมติฐานของราคาค่าโดยสาร 1,200 บาท เป็นหลัก

ผู้โดยสารบางส่วนจากการเดินทางทางรถไฟ และถนน มีแนวโน้มหันมาใช้รถไฟความเร็วสูง เพราะได้ประโยชน์จากการประหยัดเวลาในการเดินทาง โดยเฉพาะผู้โดยสารเดิมที่เดินทางโดยรถไฟแบบด่วนพิเศษ รถโดยสารปรับอากาศชนิด VIP หรือ 1st Class และรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งการเดินทางที่ใช้เวลาสั้นลงจะช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาส จากการใช้เวลาไปทำกิจกรรมอื่นที่สร้างรายได้หรือให้ประโยชน์สูงกว่า

ทั้งนี้ รถไฟเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่แบบด่วนพิเศษ ใช้เวลาในการเดินทางสูงถึง 12 ชั่วโมง ค่าตั๋วโดยสารตู้นอนปรับอากาศชั้น 1 และ 2 มีราคา 800 - 1,450 บาทต่อเที่ยว เมื่อเปรียบเทียบกับค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงที่ 1,200 บาท ผู้โดยสารรถไฟด่วนพิเศษน่าจะยอมจ่ายแพงกว่าเล็กน้อย เพื่อให้สามารถเดินทางได้รวดเร็วขึ้นจาก 12 ชั่วโมง เหลือเพียง 3 ชั่วโมงครึ่ง

ส่วนผู้ที่เคยจ่ายตู้นอนปรับอากาศที่มีราคาสูงถึง 1,450 บาท คงเปลี่ยนไปนั่งรถไฟความเร็วสูงอย่างแน่นอน ยกเว้นผู้ที่ต้องการนอนในรถไฟเพื่อประหยัดค่าที่พัก

เช่นเดียวกับผู้โดยสารรถปรับอากาศชนิด VIP ซึ่งมีราคาค่าโดยสาร 876 บาท ใช้เวลาเดินทาง 9 ชั่วโมงครึ่ง หากเปลี่ยนมาใช้รถไฟความเร็วสูงจะต้องจ่ายค่าโดยสารที่แพงขึ้น แต่สามารถประหยัดเวลาในการเดินทางได้ถึง 6 ชั่วโมง

ส่วนการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว ปกติจะใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง คาดว่าผู้โดยสารส่วนหนึ่งจะหันมาใช้บริการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพราะประหยัดเวลา และน้ำมัน ซึ่งการลดจำนวนรถโดยสารและรถยนต์ในท้องถนน จะช่วยแก้ปัญหาการจราจร และลดอุบัติเหตุได้อีกทางหนึ่ง

โดยอุบัติเหตุทางถนนบริเวณพื้นที่เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ (ไม่รวมอุบัติเหตุในกรุงเทพฯ) ปี 2011 เกิดขึ้นราว 1 หมื่นครั้ง สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินเกือบ 100 ล้านบาท นอกจากนี้ ปริมาณการเดินทางทางถนนที่ลดลงยังช่วยลดปัญหามลพิษ และรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะรถไฟความเร็วสูงปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่ารถยนต์ถึง 10 เท่า

ผู้โดยสารเครื่องบินส่วนหนึ่งจะหันมาใช้รถไฟความเร็วสูง จากการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ด้วยระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นไม่มากนัก ปัจจุบัน ตั๋วเครื่องบินเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ มีราคาประมาณ 2,500 บาทต่อเที่ยว สายการบิน Low cost ราคา 1,650 - 2,000 บาทต่อเที่ยว ใช้ระยะเวลาบิน 1 ชั่วโมง 15 นาที หากรวมเวลาที่ต้องไปสนามบินก่อน 1 ชั่วโมง และเวลาเดินทางจากสนามบินเข้าตัวเมือง เทียบแล้วการเดินทางโดยเครื่องบินยังเร็วกว่าเกือบ 1 ชั่วโมง

ดังนั้น คนที่มีมูลค่าเวลาสูง เช่น นักธุรกิจ อาจยังคงเลือกเดินทางโดยเครื่องบินและยอมจ่ายแพงกว่า ในขณะที่ผู้โดยสารที่ไม่เร่งรีบ น่าจะพึ่งรถไฟความเร็วสูงเพราะมีราคาค่าโดยสารถูกกว่าเครื่องบิน นอกจากนี้ ปัญหาเที่ยวบินดีเลย์ เช่น ในท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่มีอัตราความล่าช้าของเที่ยวบินขาเข้าและขาออก คิดเป็น 26% และ 13% ตามลำดับโดยเฉลี่ย จะเป็นอีกแรงจูงใจที่ทำให้ผู้โดยสารเปลี่ยนมาใช้บริการรถไฟความเร็วสูงซึ่งตรงต่อเวลามากกว่า ซึ่งอัตราความล่าช้าของรถไฟความเร็วสูงทั่วโลกเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 1% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ขณะที่เที่ยวบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ มีทุกๆ 1-2 ชั่วโมง ตารางเวลารถไฟความเร็วสูงที่มีความเหมาะสม เช่น ความถี่ของขบวน ช่วงเวลาในการออกเดินทางและถึงที่หมาย จะมีผลต่อการตัดสินใจของผู้โดยสารเช่นกัน

สินค้าน้ำหนักเบาที่มีมูลค่าสูง และสินค้าเน่าเสียง่าย จะได้ประโยชน์จากการขนส่งทางรถไฟความเร็วสูง ภาคเหนือมีแหล่งผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน ซึ่งห่างจากเชียงใหม่เพียง 25 กิโลเมตร มีการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่มีมูลค่าสูง เช่น ชิ้นส่วนจอ Navigator ในรถยนต์ ส่วนประกอบใน Tablet, Smartphone และ GPS รวมทั้ง Sensor ในยานยนต์ และคอมพิวเตอร์

ดังนั้น หากจัดให้มีพื้นที่ตู้สินค้าในขบวนรถไฟ คาดว่าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ จะมีการขนส่งโดยรถไฟความเร็วสูงจากเชียงใหม่ ลงมากรุงเทพฯ เพื่อกระจายต่อไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ หรือเพื่อการส่งออก ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของภาคเหนือปี 2011 มีมูลค่ากว่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และช่วงปี 2003-2011 มีการเติบโตเฉลี่ย 6% ต่อปี นอกจากนี้ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงสินค้าเน่าเสียง่ายที่ต้องอาศัยความรวดเร็วในการขนส่ง เช่น ดอกไม้เมืองหนาว สตรอเบอรี่ จะได้รับประโยชน์ด้วย

ส่วนการขนส่งจากภาคกลางขึ้นไปภาคเหนือโดยใช้รถไฟความเร็วสูง เพื่อส่งต่อไปยังจีนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยแผงวงจรไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักไปจีนน่าจะได้รับประโยชน์ เพราะมีการเติบโตกว่า 16% ต่อปี ในช่วง 2003-2011 นอกจากนี้ การขนส่งทางราง มีต้นทุนพลังงานที่น้อยกว่าทางถนน และทางอากาศถึง 3.5 และ 55 เท่า ตามลำดับ ดังนั้น การเปลี่ยนรูปแบบขนส่งมาเป็นทางรางมากขึ้น จะช่วยให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศมีแนวโน้มลดลง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง