ภท.-ปชป.ชี้การแก้รัฐธรรมนูญต้องยึดโยงประโยชน์ประชาชนส่วนรวม

การเมือง
10 ธ.ค. 55
13:28
44
Logo Thai PBS
ภท.-ปชป.ชี้การแก้รัฐธรรมนูญต้องยึดโยงประโยชน์ประชาชนส่วนรวม

พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ระบุการแก้รัฐธรรมนูญจะต้องยึดโยงกับประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม ส่วนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนออกแถลงการณ์ว่าปมปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ได้มีเพียงที่มาอันสืบเนื่องจากการรัฐประหารเท่านั้น ขณะที่กลุ่ม นปช.จัดแรลลี่รณรงค์สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อทวงคืนความยุติธรรม และต่อต้านการรัฐประหารในวันรัฐธรรมนูญ

นายพายัพ ปั้นเกตุ, พ.ต.อ.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ และนางดารุณี กฤตบุญญาลัย พร้อมแนวร่วมกลุ่ม นปช.ซึ่งบางส่วนเดินทางมาด้วยรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ รวมตัวกันบริเวณรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง เพื่อจัดกิจกรรมแรลลี่ไปตามสถานที่ต่างๆ อาทิเช่น รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ลานพระบรมรูปทรงม้า และที่ทำการพรรคการเมืองหลายพรรค โดย พ.ต.อ.ไวพจน์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันรัฐธรรมนูญ จึงได้รวมตัวกันเพื่อแสดงพลัง และออกแถลงการณ์สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ

ขณะที่นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันที่จะเดินหน้าติดตามตรวจสอบความเคลื่อนไหวของพรรคร่วมรัฐบาล และกลุ่มแนวร่วมว่าเข้าข่ายขัดกฎหมายหรือฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อจะได้ระงับยับยั้ง และชี้ว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ควรคำนึงถึงหลักใหญ่ 3 ประการ คือต้องโปร่งใส ไม่มีวาระซ่อนเร้น ควรฟังคำวินิจฉัย และความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญมาก่อนหน้านี้ ที่สำคัญคือการดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม และให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า ทางพรรคจะเรียกประชุมกำหนดท่าทีการแก้รัฐธรรมนูญในวันที่ 23 และ 24 ธันวาคม โดยมั่นใจว่าพรรคสนับสนุนที่จะให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะร่วมผลักดันมาตั้งแต่การเห็นชอบในเหตุผล และหลักการ พร้อมกับการลงมติในวาระที่ 2 แต่การลงมติในวาระที่ 3 กลับมีข้อทักท้วง รวมถึงมีข้อเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการทำประชามติ ดังนั้นการดำเนินการต่อไป จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และยึดหลักประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ และเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ควรเป็นประเด็นทำให้บ้านเมืองเสียหาย

ขณะที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนออกแถลงการณ์เรื่อง "ข้อเสนอกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550" ส่งถึงสื่อมวลชน โดยระบุสาระสำคัญว่าปมปัญหาของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ไม่ได้มีเพียงที่มาอันสืบเนื่องจากการรัฐประหารเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการกำหนดโครงสร้างของสถาบันทางการเมืองที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย การกล่าวอ้างว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วจะนำไปสู่ความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับที่ทั้งไม่ชอบธรรม และไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง