ศธ.ร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐ เตรียมปล่อยกู้ให้นศ. ประกอบธุรกิจของตัวเอง

สังคม
12 ธ.ค. 55
06:17
73
Logo Thai PBS
ศธ.ร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐ เตรียมปล่อยกู้ให้นศ. ประกอบธุรกิจของตัวเอง

กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันสถาบันการเงินของรัฐ เปิดตัวกองทุนตั้งตัวได้ เพื่อเปิดโอกาสให้กับนักศึกษา ที่มีความรู้ความสามารถ แต่ขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สามารถกู้ยืมเงินเพื่อนำมาประกอบธุรกิจของตัวเองได้ โดยจะปล่อยกู้ให้กับนักศึกษาที่อยู่ระหว่างการศึกษาระดับ ปวส.ถึงปริญญาตรีหรือสำเร็จการศึกษามาแล้วไม่เกิน 5ปี ทั้งนี้ คาดว่าไตรมาสแรกจะมีผู้ขอสินเชื่อ 5,000-10,000 คน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดตัวโครงการกองทุนตั้งตัวได้ พร้อมร่วมเป็นสักขีพยานลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. กับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย.และสถาบันการเงินของรัฐจำนวน 5แห่ง เช่น ธนาคากรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอิสลาม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินทุน ในการปล่อยกู้ให้กับนักศึกษาที่อยู่ระหว่างการศึกษาระดับ ปวส.จนถึงระดับปริญญาตรี หรือสำเร็จการศึกษาไปแล้วไม่เกิน 5 ปี ซึ่งมีทั้งทักษะและองค์ความรู้ ซึ่งต้องการเป็นเจ้าของกิจการ แต่ขาดทุนทรัพย์ ให้มีเงินทุนไปประกอบอาชีพอิสระ

โดยจะอนุมัติวงเงินกู้สูงสุดไม่เกินรายละ 3 ล้านบาท ทั้งนี้ เม็ดเงิน 15,000 ล้านบาทของกองทุนตั้งตัวได้ มาจาก 2 แหล่งคือ งบประมาณแผ่นดินจำนวน 5,000 ล้านบาท และจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่นำมาร่วมลงทุนอีก 10,000 ล้านบาท โดยกลุ่มอาชีพที่จะสามารถขอกู้เงินจากกองทุนฯ มีทั้งหมด 10 กลุ่ม อาทิ การลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การเกษตร ภูมิปัญญาไทย และอุตสาหกรรมต่างๆ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กองทุนตั้งตัวได้ เป็นนโยบายในการสร้างงาน สร้างเงินและสร้างอาชีพให้กับนักศึกษาที่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจและพัฒนาเป็นนักธุรกิจมืออาชีพ เป็นเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ เพราะการตั้งตัวถือว่าทำได้ยาก แม้จะมีความรู้ความสามารถ แต่หากขาดโอกาสก็ไม่สามารถทำธุรกิจของตัวเองได้ กองทุนฯนี้จึงเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่จบใหม่ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน

ด้านนายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนตั้งตัวได้ บอกว่า รูปแบบการอนุมัติเงินกู้ จะประกอบด้วยเงินกู้จากกองทุนตั้งตัวได้ วงเงินไม่เกิน 1ล้านบาทต่อ 1ธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 และจากธนาคารของรัฐ วงเงินไม่เกิน 2ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย เอ็มแอลอาร์บวกร้อยละ 2 กำหนดระยะเวลาคืนเงิน 7-10 ปี และต้องได้รับการค้าประกันจากบรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม

ทั้งนี้ คาดว่าไตรมาสแรกจะมีผู้ขอสินเชื่อประมาณ 5,000-10,000 คน และจะเริ่มอนุมัติเงินกู้ให้กลุ่มธุรกิจได้ 100 โครงการ ผู้ที่สนใจสามารถขอรับการสมัครได้ที่หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา 56 แห่งทั่วประเทศ หรือที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง