นักเขียนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเสวนาพลังนักเขียนบทละครโทรทัศน์

Logo Thai PBS
นักเขียนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเสวนาพลังนักเขียนบทละครโทรทัศน์

ได้รับความนิยมแทบทุกครั้ง กับการนำบทประพันธ์อมตะของนักเขียนชั้นครู มาสร้างสรรค์เป็นบทละครโทรทัศน์ ยิ่งหากดัดแปลงบทละครให้เข้ายุคสมัย และเพิ่มแง่มุมสะท้อน เสียดสีสังคม ก็ยิ่งเป็นที่พูดถึง อีกประเด็นในงานเสวนา "ปลายนิ้วปั้นโลก...พลังนักเขียนบทละครโทรทัศน์" ที่นักเขียนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

อาจผิดไปกับจากบทประพันธ์เดิมของ "ถ่ายเถา สุจริตกุล" แต่บทบาทตัวละครที่รุนแรงขึ้น และเข้ากับยุคสมัย กลับทำให้ “ดอกส้มสีทอง” ละครดังเมื่อปีก่อน สร้างกระแสนิยมให้ตัวนักแสดง ผู้กำกับ ผู้จัด ไม่เว้นแม้แต่ตัวคนเขียนบท

ผลงานบทละครดัดแปลงของ "ศัลยา สุขะนิวัตติ์" นักเขียนบทที่โลดแล่นในวงการโทรทัศน์ไทยมากว่า 30 ปี โดยเฉพาะบทละครแนวย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์ทางถนัดของ ศัลยา ก็ยังเป็นที่จดจำ เช่น สายโลหิต นางทาส ญาติกา ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ดอกโศก และบทโทรทัศน์อีกกว่า 100 ชิ้น

นักเขียนบทโทรทัศน์รุ่นใหญ่ยอมรับว่างานเขียนบทละครนั้นมีส่วนกำหนดสังคมผ่านปลายปากกา เพราะนอกจากต้องผูกเรื่องให้สนุกซับซ้อนแล้ว การสอดแทรกมุมมองสะท้อนสังคมลงไปยังช่วยเพิ่มคุณค่าให้บทละคร

ศัลยา สุขะนิวัตติ์ นักเขียนบทละครโทรทัศน์ กล่าวว่า ความแรงเช่นนั้นมีอยู่จริง แต่ว่าสิ่งนึงที่จะทำให้ความแรงอันนั้นไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากเกินไปก็คือ จะต้องทำให้แรงอย่างมีเหตุผล แรงแล้วมีการโต้ตอบ แรงแล้วมีเสียงสะท้อนกลับ ว่าตรงนี้แรงแล้วไม่ถูกต้องนะ แต่ว่าความแรงเหล่านั้น มันมีอีกมากมาย เยอะแยะมากทีเดียวในชีวิตของคน ชีวิตจริง

รัมภา ภิรมย์ภักดี นักเขียนบทละครโทรทัศน์ “ภาวิต/ พิกุลแก้ว” กล่าวว่า เวลาที่เราเขียนบทละครเนี้ย เราต้องรับผิดชอบต่อสังคม แน่นอนเราต้องสอดแทรกความคิดหรืออะไรดีๆ เข้าไป หลักธรรมของพระพุทธศาสนา อย่าง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อันเนี้ย แต่จะออกมาในรูปต่างๆ

แต่ละปี มีบทละครรอคิวเตรียมสร้างบนจอแก้วกว่า 200 เรื่อง แต่กลับมีนักเขียนมืออาชีพเพียงไม่กี่คน ที่ผู้จัดไว้ใจให้สร้างสรรค์บทละคร ทำให้นักเขียนบางคนต้องรับผิดหลายชิ้นงานในคราวเดียวกัน สะท้อนความต้องการนักเขียนบทละครรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ และพร้อมสานต่องานสร้างสรรค์บทละคร

สร้างสรรค์ สันติมณีรัตน์ นักเขียนบทรุ่นใหม่ กล่าวว่า เขาได้เล่าปัญหาหลายๆ อย่างที่ผ่านมา ระยะเวลา 30 ปีของเขากับของเราแค่ 3 ปี เรายังคงต้องพัฒนาอะไรอีกเยอะ แล้วก็ต้องเจออะไรอีกเยอะ

อริสา ผ่องสำราญ นักเขียนบทรุ่นใหม่ กล่าวว่า กว่าจะผ่านมาที่พี่เขาประสบความสำเร็จเนี้ย เขาต้องทำงานอะไรยังไงบ้าง ประสบการณ์ทั้งหลาย เราก็ได้กลับมาเอามาเรียนรู้ เอามาพัฒนางานทุกวันนี้ ทำให้ทั้งจุดประกายด้วย ทำให้พอเห็นปัญหาว่าเขาผ่านมาตรงนี้แล้ว เราก็รู้สึกสู้มากขึ้น

ประสบการณ์การทำงานของนักเขียนบทละครโทรทัศน์ชั้นนำของไทยนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนในงาน “ปลายนิ้วปั้นโลก…พลังนักเขียนบทละครโทรทัศน์” ที่ไม่เพียงเป็นพื้นที่พบปะระหว่างผู้รังสรรค์บทละครด้วยกัน แต่ยังจุดประกายพลังสร้างสรรค์ในนักเขียนบทละครโทรทัศน์รุ่นใหม่ โดยนักเขียนบทโทรทัศน์ชั้นครูทั้งศัลยา และรัมภา ยังเผยเคล็ดลับทิ้งท้ายว่า ความรัก ความอดทน และหมั่นเรียนรู้อยู่เสมอ คือหัวใจหลักในการก้าวไปสู่นักเขียนบทละครโทรทัศน์น้ำดีที่ช่วยสร้างสรรค์สังคมต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง