ประเมินความเสี่ยงไทยเกิดสึนามิ

13 ธ.ค. 55
13:05
2,127
Logo Thai PBS
ประเมินความเสี่ยงไทยเกิดสึนามิ

หลังจากที่การค้นพบข้อมูลว่าปฏิทินของชนเผ่าชาวมายาที่มีอายุเก่าแก่กว่า 5,000 ปี ที่จะมีวันสิ้นสุดปฏิทินในวันที่ 21 ธันวาคม ปีนี้ จึงทำให้เกิดกระแสข่าวว่าอาจเป็นวันสิ้นโลกตามปฏิทินมายา ซึ่งจะทำให้ทั่วโลกเกิดภัยพิบัติครั้งรุนแรง จนนักวิชาการด้านภัยพิบัติต่างประเทศ รวมทั้งประเทศไทย บางกลุ่มออกมาเตือนว่าอาจจะเกิดสึนามิครั้งรุนแรงในประเทศไทย และในภูมิภาคนี้ได้อีกครั้ง ล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวจากประเทศญี่ปุ่นเพิ่งจะเปิดเผยถึงความเป็นไปได้ ที่โลกอาจเผชิญกับเหตุการณ์สึนามิรุนแรง โดยอาจจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงถึง 10 ริกเตอร์ ซึ่งจะทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิต่อเนื่องนานหลายวันในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ

เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่ม 6 จังหวัด ภาคใต้ แถบชายฝั่งทะเลอันดามัน ในวันที่ 26 ธันวาคมปี 2547 คือภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 5,400 คน สูญหายกว่า 3,000 คน แม้จะผ่านมา 8 ปีแล้ว แต่ยังมีนักวิชาการหลายคนเคยออกมาเตือนว่าอาจจะเกิดคลื่นยักษ์สึนามิครั้งรุนแรงขึ้นอีกในช่วงปลายปี 2553 บริเวณชายฝั่งอ่าวไทย และทะเลอันดามัน แต่ยังไม่เคยเกิดขึ้นจริง

ล่าสุด วันที่ 11 เมษายน 2555 เกิดแผ่นดินไหว ที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย วัดความสั่นสะเทือนได้ 8.6 ริกเตอร์ ส่งผลให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติประกาศเตือนพร้อมเฝ้าระวังการเกิดสึนามิพัดถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ของไทย แต่ข้อมูลที่ชาวบ้านได้รับในช่วงภาวะวิกฤตกลับสร้างความสับสนในการอพยพ

ไมตรี จงไกรจักร ประธานศูนย์เตือนภัยพิบัติบ้านน้ำเค็ม จ.พังงา กล่าวว่า ในวันนั้นเนื่องจากว่ามันมีอุปสรรค ผมว่ามันเป็นช่องว่างในการประสานงานผมว่าเกิดการดูแลรอยต่อตรงนี้มันหายไป หลังจากนั้นเราก็ได้มีการปรึกษาหารือกันว่า ในอนาคตต้องเป็นบทบาทหน้าที่ชัดเจนของท้องถิ่นที่จะต้องดูแลคนเมื่ออพยพเมื่อถึงจุดปลอดภัย เฉพาะในพื้นทีที่เตรียมอย่างบ้านน้ำเค็ม แต่พื้นที่อื่นนะครับเมื่อเกิด ระบบการเตือนภัยแบบนี้ เปรียบเสมือนเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น มันทำให้เกิดความสับสนในหลายพื้นที่

สถิติการเกิดแผ่นดินไหวของนักธรณีวิทยาพบว่าแผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์ จะเกิดขึ้น 1 ครั้งต่อปี ส่วนใหญ่เกิดในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีความเสี่ยงที่จะเกิดสึนามิอีกครั้งภายในรอบ 30 ปีนี้ต่างจากความรุนแรงแผ่นดินไหวในประเทศไทยจากข้อมูลที่เคยบันทึกไว้

ไทยเคยมีแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดขนาด 5.9 ริกเตอร์ ที่จังหวัดกาญจนบุรี และเคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในเมืองไทยเมื่อหลายพันปีก่อน เมื่อเทียบกับความรุนแรงแผ่นดินไหวในปัจจุบันที่ระดับ 3 - 4 ริกเตอร์ ไทยยังมีความเสี่ยงน้อยกว่ามากที่จะเกิดสึนามิ

ศ.ธนวัตน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาภัยพิบัติและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ถ้าตามสถิติแล้วถ้าเกิดแผ่นดินไหวในทะเลมากกว่า 7 ริกเตอร์ขึ้นไป ศูนย์เตือนภัยพิบัติของแปซิฟิกที่เป็นเซนเตอร์จะเตือน แต่ไม่ได้หมายความว่าเกิด 7 ริกเตอร์จะเกิดสึนามิทุกครั้ง แต่ถ้าเกิด 8 หรือ 9 ริกเตอร์ ส่วนใหญ่จะเกิดสึนามิใหญ่ๆ ยกตัวอย่างที่เซนได

แต่ล่าสุดผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวจากประเทศญี่ปุ่นเพิ่งจะเปิดเผยถึงความเป็นไปได้ ที่โลกอาจเผชิญกับเหตุการณ์สึนามิครั้งรุนแรงอีกครั้ง โดยอาจจะเกิดแผ่นดินไหวแรงถึง 10 ริกเตอร์ ส่งผลให้รอยเลื่อนเปลือกโลก ความยาว 8,800 กิโลเมตร ตามร่องลึกบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ เคลื่อนที่ไป 20 เมตร เกิดการสั่นสะเทือน 20 นาที ถึง 1 ชั่วโมง เพราะเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงกว่าขนาด 9 ริกเตอร์ถึง 30 เท่า ซึ่งอาจทำให้คลื่นยักษ์สึนามิต่อเนื่องนานหลายวัน แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร และพื้นที่ไหนของโลก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง