นักวิชาการชี้ "ประชาเสวนา" ดีกว่า "ประชามติ"

การเมือง
15 ธ.ค. 55
13:56
95
Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้ "ประชาเสวนา" ดีกว่า "ประชามติ"

พรรคเพื่อไทยเรียกประชุมส.ส.ในวันที่ 25 ธันวาคมนี้ เพื่อทำความเข้าใจในทิศทางการแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ต้องเลือกทำ"ประชามติ"ก่อนการลงมติวาระที่ 3 ของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่ค้างการพิจารณาของรัฐสภา ทั้งที่ก่อนหน้านี้คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเสนอให้ลงมติในทันที นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ยอมรับว่า กระบวนการทำ"ประชามติ"เป็นแนวทางที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้รัฐธรรมนูญ แต่บทบาทเพียงแค่การใช้สิทธิ์กากบาทออกเสียงเท่านั้น ต่างกับการทำ"ประชาเสวนา"ที่ยังมีช่องทางให้แลกเปลี่ยนความเห็นได้และร่วมลงฉันทามติ ขณะที่นายกรัฐมนตรี ชี้แจงเหตุผลที่ต้องทำ"ประชามติ"เกิดจากวัตถุประสงค์ที่อยากเห็นบ้านเมืองอยู่ในความสงบสุข

นอกจากคำยืนยันว่า หลักการและเหตุผล รวมถึงกรอบการดำเนินการทำ"ประชามติ"จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 18 ธันวาคมแล้ว นายกรัฐมนตรี ยังระบุด้วยว่า วัตถุประสงค์หลักของ ครม.ในวันนี้ คือ อยากเห็นบ้านเมืองอยู่ในความสงบสุข ตามที่ได้น้อมนำพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเห็นควรตัดสินใจสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการแก้รัฐธรรมนูญ ด้วยการทำ"ประชามติ"

รองศาสตราจารย์ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ชี้แจงว่า กระบวนการทำ"ประชาเสวนา" ถือเป็นการเปิดเวทีรับฟังแลกเปลี่ยนความเห็นกับประชาชนได้อย่างกว้างขวางและโดยขั้นตอนยอมรับในระดับหนึ่งว่า ทั่วถึง ส่วนกระบวนการทำ"ประชามติ" แม้จะมีแผนรณรงค์ประชาสัมพันธ์ถึง 90 วัน แต่บทบาทของประชาชนก็เพียงแค่ออกเสียงกากบาทเลือกความเห็นที่ถูกกำหนดไว้

หลักสากลในการทำ"ประชาเสวนา" คือกระบวนการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น คือการเรียนรู้ระหว่างกันของประชาชน จากเสวนากลุ่มย่อยนำไปสู่กลุ่มใหญ่ ก่อนกำหนดภาพในอนาคตจากฉันทามติในทุกระดับ ซึ่งหากเปิดเวทีทั่วประเทศ อาจใช้เวลาถึง 6 เดือน สำหรับการทำประชามติ จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด ซึ่งหลังมีราชกิจจานุเบกษาต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จ ภายใน 120 วันและในเวลาที่กำหนดต้องกำหนดแผนรณรงค์ประชาสัมพันธ์

และมีรายงานว่า หาก ครม.เห็นชอบในวันอังคารนี้แล้ว พรรคเพื่อไทยจะเรียกประชุมส.ส.ในวันที่ 25 ธันวาคม เพื่อแจ้งทิศทางการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญให้ความเข้าใจตรงกัน ก่อนทำความเข้าใจกับส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและส.ว.บางส่วน รวมถึงกลุ่ม นปช.และฐานมวลชนของพรรค เพื่อป้องกันเสียงคัดค้านหรือการเคลื่อนไหวสวนทางกับแนวทางที่พรรคเลือกไป โดยเฉพาะคำกล่าวย้ำที่เตรียมไว้ว่า "พรรคไม่ได้คิดถอย แต่ยังเดินหน้าตามเป้าประสงค์หากแต่เป็นไปตามกระบวนการ เพื่อลดความเสี่ยงในเสถียรภาพของรัฐบาล" หรือที่กล่าวขานกันภายในพรรคเพื่อไทยว่าทางเลือกนี้ คือทางเลือกที่ชัดเจนแล้วว่า "ช้า..แต่ชัวร์"


ข่าวที่เกี่ยวข้อง