สมาคมแบงก์ดันร่าง กม. แปลงสินทรัพย์ ดึงคนเข้าถึงแหล่งทุน ให้ลดประชานิยม เพิ่มสวัสดิการ

เศรษฐกิจ
17 ธ.ค. 55
09:59
56
Logo Thai PBS
สมาคมแบงก์ดันร่าง กม. แปลงสินทรัพย์ ดึงคนเข้าถึงแหล่งทุน ให้ลดประชานิยม เพิ่มสวัสดิการ

เสนอแนะรัฐ แก้ปัญหากู้เงินนอกระบบ เน้นให้ความรู้กับประชาชนว่าควรใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็นระมัดระวังในการใช้จ่าย และระบบการเงินแก่ประชาชน

 นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวในการเสวนา"หนี้นอกระบบ-ทางออกสังคมไทย?" จัดโดยศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมกระทรวงวัฒนธรรม (ศนธ.ยธ.) ว่า การแก้ปัญหาการกู้เงินนอกระบบ ควรจะมีการให้ความรู้กับประชาชนว่าควรใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็นระมัดระวังในการใช้จ่าย และให้ความรู้เกี่ยวกับระบบการเงินแก่ประชาชนด้วย

นายธวัชชัย กล่าวว่า หลักการปล่อยเงินกู้ของธนาคารเนื่องจากธนาคารระดมเงินฝากมาจากประชาชนธนาคารจึงต้องคำนึงว่าเมื่อปล่อยเงินกู้ไปแล้วลูกหนี้จะสามารถชำระหนี้ได้ส่วนเรื่องหลักประกันนั้นเป็นสิ่งที่รองลงมา ซึ่งเมื่อหลายปีที่ผ่านมามีโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนซึ่งเป็นโครงการที่จะช่วยเหลือคนที่ไม่มีหลักประกันให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้อาทิ สัญญาเช่า รถเข็น เป็นต้น ซึ่งหากลูกหนี้ผิดชำระเจ้าหนี้ก็สามารถยึดไปได้แต่กฎหมายนี้ก็แท้งไป แต่อย่างไรก็ตามได้มีการจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาใหม่ซึ่งร่างเสร็จแล้ว และจะมีการผลักดันเพื่อให้เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนให้เข้าถึงแหล่งเงินได้

นายธวัชชัย กล่าวว่า การทำให้ปัญหาลดลง คือ การฝึกความมีวินัยการใช้เงินของประชาชนเองและให้ความรู้กับประชาชนให้ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นและมาตรการทางกฎหมายเรื่องหนี้นอกระบบควรจะเข้มงวดมากขึ้นส่วนโครงการกู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ในระดับมัธยมนั้น ควรจะมีการยกเลิกเนื่องจากเด็กยังไม่มีความสามารถที่จะชำระหนี้ได้ควรเปลี่ยนเป็นโครงการให้ทุนการศึกษาแทน และรัฐบาลควรจะเปลี่ยนการลงทุนในนโยบายประชานิยมมามาพัฒนาโครงการสวัสดิการสังคมให้ดีขึ้น

นายณรงค์ เพร็ชประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สาเหตุที่คนเป็นหนี้นอกระบบเนื่องจากมีความจำเป็นในการใช้เงิน แต่ไม่สามารถเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ได้หรือมีความต้องการใช้เงินด่วน กู้ในระบบไม่ทัน อาทิ แม่ค้าที่ต้องนำเงินมาหมุนเวียนซื้อสินค้าหรือการใช้เงินเกินตัว ซึ่งได้รับอิทธิพลจากโฆษณาสินค้าทำให้กระตุ้นการใช้จ่ายเกินตัว

นายณรงค์ กล่าวถึงทางออกในการแก้ปัญหาว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะจัดการระบบการเงินให้พอเพียงกับความต้องการ โดยให้รัฐบาลออกพันธบัตรมาจำนวนหนึ่ง แล้วนำเงินนั้นให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.) เป็นคนจัดการปล่อยเงินกู้โดยเฉพาะกลุ่มคนงานในโรงงาน ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ ทางที่ 2 คือการจัดทำบัญชีครัวเรือนที่แม้ ธกส. จะทำอยู่แล้ว แต่ยังขาดแรงกระตุ้นดังนั้นจะต้องมีหน่วยงานขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้เกิดขึ้นต่อไปในระยะยาวไม่หยุดชะงัก

อีกทางหนึ่ง คือการให้ความรู้ทางด้านการเงินรวมถึงด้านกฎหมายกับประชาชน เนื่องจากประชาชนยังขาดความรู้ทางด้านการทำสัญญาทำให้ถูกหลอกเซ็นเอกสารหรือสัญญาในกระดาษเปล่าได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง