พื้นที่คนแจ๊สเอเชียบนเวทีโลก

Logo Thai PBS
พื้นที่คนแจ๊สเอเชียบนเวทีโลก

แม้ว่าดนตรีแจ๊สจะมีต้นกำเนิดจากสหรัฐอเมริกา และมีนิวยอร์กเป็นเมืองหลวงทางดนตรี หากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานักดนตรีแจ๊สจากเอเชียเริ่มเข้าไปบทบาทในวงการแจ๊สมากขึ้น รวมถึงมีนักดนตรีจากอาเซียนคนแรกที่ได้รับการยอมรับ และติดอันดับโลกจากการจัดอันดับในวงการแจ๊สอเมริกัน

ไหวพริบในการเลือกตัวโน้ตมาบรรเลงทำให้เสียงจากเครื่องดนตรีคุมจังหวะอย่างเบส น่าฟังยิ่งขึ้น ทั้งยังเล่นรับส่งกับ โจ โลวาโน นักแซ็กโซโฟนระดับโลกได้อย่างเข้าขา คือความสามารถที่ทำให้มือเบสสาวชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน Linda Oh ได้รับเลือกให้เป็นนักดนตรีแจ๊สดาวรุ่งแห่งปี 2012 จากการจัดอันดับของนิตยสาร ดาวน์บีทสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักดนตรีแจ๊สจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนแรก

นอกจาก Linda Oh ยังมีนักดนตรีแจ๊สเชื้อสายเอเชียอีกหลายคนติดอันดับนักดนตรีแจ๊สยอดเยี่ยมในสาขาต่างๆ ของนิตยสารดาวน์บีททั้ง Vijay Iyer, Hiromi Uehara และ Jason Kao Hwang นี่คือสิ่งที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในวงการดนตรีแจ๊สยุคหลังศตวรรษที่ 20

เอกลักษณ์สำเนียงดนตรีตะวันออกที่ถ่ายทอดในงานแจ๊สของ Hiroshima วงดนตรีแจ๊สอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ทำให้นักดนตรีแจ๊สเอเชียเริ่มเป็นที่จับตามากขึ้น หลังจากวงรวมตัวกันในปี 1974 ความโด่งดังของ ซาดาโอะ วาตานาเบ้ นักแซ็กโซโฟนสัญชาติญี่ปุ่นที่ขนานนามว่าเป็น ชาร์ลี ปาร์คเกอร์ จากตะวันออก

แม้นักดนตรีแจ๊สจากเอเชียจะเป็นที่รู้จักไม่น้อยแต่ตลอด 30 ปีที่ผ่านมากลับมีนักดนตรีจากเอเชียเพียงไม่กี่คนที่ได้รับยอมรับในวงการแจ๊สโลก เนื่องจากที่ผ่านมาการจะสร้างชื่อในวงการแจ๊สต้องไปฝังตัวอยู่ที่มหานครนิวยอร์คเมืองหลวงหนึ่งเดียวของวงการแจ๊สโลก

การรวมตัวของนักดนตรีแจ๊สจากตะวันออกทั้งจากมาเลเซีย ญี่ปุ่น และไทยอย่างวงยูนิทเอเชีย ซึ่งมี เศกพล อุ่นสำราญ มือแซ็กโซโฟนแจ๊สของไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกจึงเป็นอีกหนึ่งความพยายามในการสร้างสำเนียงดนตรีแจ๊สของตะวันออกให้โลกได้รู้จัก

เช่นเดียวกับวงการดนตรีอื่นๆ ที่กำลังแสวงหาสิ่งใหม่ๆ ประกอบกับกระแสความเป็นเอเชียที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก นักดนตรีจากตะวันออกจึงมีโอกาสในวงการดนตรีแจ๊สมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงสร้างความหลากหลายแต่ยังเป็นพื้นที่ให้นักดนตรีเอเชียได้แสดงศักยภาพในวงการดนตรีโลก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง