คกก.สมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมค้านปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม

เศรษฐกิจ
19 ธ.ค. 55
11:04
102
Logo Thai PBS
คกก.สมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมค้านปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมคัดค้านการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มหรือ แอลพีจี ที่จะมีผลต้นปีหน้า(2556) โดยเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการปรับขึ้นราคาเชื่อเพลิงประเภทนี้ ในภาคครัวเรือนและภาคยานยนต์ ขณะที่เครือข่ายแท็กซี่ฯขู่หยุดให้บริการบางส่วน พร้อมขอกระทรวงคมนาคม พิจารณาปรับมิเตอร์ค่าโดยสาร หากรัฐบาลยืนยันที่จะขึ้นราคาแอลพีจีและเอ็นจีวี

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมคัดค้านการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มหรือ แอลพีจี ของกระทรวงพลังงานในต้นปีหน้า โดยเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีในภาคครัวเรือนและภาคยานยนต์ รวมทั้งให้ทบทวนการจัดสรรสัดส่วนการใช้ก๊าซแอลพีจี ภาคครัวเรือน ภาคยานยนต์ และภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ควรจัดสรรจากแหล่งผลิตในประเทศเป็นลำดับแรก เนื่องจากแอลพีจีที่ใช้ทั้งหมดในประเทศไทย มาจากแหล่งภายในประเทศถึงร้อยละ 55 หรือประมาณ 3.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งเพียงพอสำหรับภาคครัวเรือนที่ใช้ปีละ 2.6 ล้านตัน

<"">
<"">

 

เครือข่ายแท็กซี่ฯร้องคมนาคมปรับขึ้นค่าโดยสารหากรัฐบาลขึ้นราคาก๊าซ
ขณะที่เครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในกรุงเทพฯ เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อคัดค้านการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี และเอ็นจีวี ในปีหน้า(2556)

พร้อมเรียกร้องให้มีการพิสูจน์ต้นทุนราคาก๊าซที่แท้จริง และเพิ่มการให้บริการให้เพียงพอ ทั้งปริมาณและคุณภาพซึ่งขณะนี้มีแท็กซี่ที่ใช้ NGV ต้องรอเติมก๊าซนาน 2 ชั่วโมง และไม่มีสถานีบริการในกรุงเทพชั้นใน ทำให้แท็กซี่ที่ใช้ LPG ถึง 20,000 คัน ไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้เอ็นจีวีได้ และหากรัฐบาลขึ้นราคา ผู้ขับแท็กซี่อาจหยุดให้บริการในบางช่วง และขอปรับขึ้นค่าโดยสารต่อกระทรวงคมนาคม เนื่องจาก 20 ปีที่ผ่านมาค่าโดยสารแท็กซี่ปรับขึ้นเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น ทำให้รายได้แต่ละวันเหลือต่ำกว่า 300 บาท

นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในกรุงเทพฯ กล่าวว่า หากราคาก๊าซทั้ง 2 ชนิดปรับเพิ่มอีกร้อยละ 10 ค่าโดยสารแท็กซี่ควรเพิ่มอีกร้อยละ 10 หรือค่าโดยสาร 100 บาทปรับเพิ่มอีก 10 บาท


ข่าวที่เกี่ยวข้อง