เวทีสมัชชาสุขภาพฯครั้งที่ 5 มีมติรองรับปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ 9 เรื่อง

20 ธ.ค. 55
13:52
127
Logo Thai PBS
เวทีสมัชชาสุขภาพฯครั้งที่ 5 มีมติรองรับปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ 9 เรื่อง

เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 ในปีนี้มีมติรับรองวาระที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ 9 เรื่อง ซึ่งให้ความสำคัญครอบคลุมทุกมิติ โดยเฉพาะการลดผลกระทบต่อสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล การปฏิรูประบบวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EIA และ EHIA สนับสนุนการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เพื่อให้นำไปสู่แนวทางแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม

ภาคีเครือข่ายสุขภาพจากทั่วประเทศใช้เวลาร่วมกันตลอด 3 วันในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 ประจำปี 2555 ผลักดันนโยบายด้านสุขภาพ และ รับรองมติสมัชชาสุขภาพในปีนี้ 9 เรื่อง ประกอบด้วย การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยมีมติให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานปรับปรุงประกาศหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขการออกใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาต มาตรการลงโทษทางแพ่ง แล ะอาญากับผู้ประกอบการที่ขาดคุณสมบัติ หรือ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย , กำหนดที่ตั้ง ระยะห่างของโรงไฟฟ้าชีวะมวลภายในชุมชนให้เหมาะสม, จัดตั้งกองทุนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ และจัดทำแผนพัฒนาพลังงานและแผนแม่บทพลังงานชีวมวลของแต่ละจังหวัด โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน

ส่วน การปฏิรูประบบการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EIA และ EHIA มีมติให้จัดตั้งองค์กรอิสระ ร่วมกับชุมชน ประเมินการจัดทำรายงาน EIA และ EHIA , จัดตั้งกองทุนดูแลการจัดทำรายงานเป็นการเฉพาะ แก้ปัญหาการเอื้อประโยชน์กับเจ้าของโครงการ

ขณะที่ "การจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่กระทบต่อสุขภาพ" ให้ตั้งคณะกรรมการติดตามผลตรวจสอบปัญหาโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกระดับ ส่วน "การจัดระบบโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน" ให้จัดทำยุทธศาสตร์ดำเนินการแบบองค์รวม เช่น มีทางจักรยานเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ ปรับปรุงกฎหมายควบคุมอาคารสาธารณะ ให้มีที่จอดจักรยานและจัดทำมาตรการทางภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน

สำหรับ "ความปลอดภัยทางอาหาร การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช" ให้ทบทวนการอนุญาตขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 4 ชนิดคือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น เพื่อผลักดันให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4

ด้านการพัฒนาสุขภาวะพระสงฆ์ให้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนวัดส่งเสริมสุขภาพ, สถานบริการสาธารณสุขทุกระดับพัฒนารูปแบบการตรวจ, คัดกรองโรคเรื้อรังพระสงฆ์อย่างทั่วถึงต่อเนื่อง

ขณะที่กรณีเด็กไทยกับไอที ให้ประเมินนโยบายการแจกแท็บเล็ตเพื่อให้เกิดการคุ้มค่า และ พัฒนากระบวนการบำบัดเด็กติดเกมส์-อินเทอร์เน็ต ให้มีประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้มีมติให้ปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพให้ได้บุคลากรที่มีความรู้ มีเทคนิควิชาชีพควบคู่กับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป และ สุดท้ายให้คณะกรรมการอาหารแห่งชาติเตรียมความพร้อม ด้านบุคลากร พัฒนาเกษตรกร ผู้ผลิตอาหาร สินค้าเกษตรให้ปลอดภัย มีคุณภาพ รับมือการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หวังว่า มติจากสมัชชาสุขภาพครั้งนี้จะแก้ปัญหาครอบคลุมผลกระทบต่อสุขภาพในทุกมิติ แม้ยอมรับว่าการขับเคลื่อนอาจต้องใช้เวลาเพื่อให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง