(บอกว่า) ซิมฟรี แต่....แถม ค่าบริการ

สังคม
22 ธ.ค. 55
10:01
566
Logo Thai PBS
(บอกว่า) ซิมฟรี แต่....แถม ค่าบริการ

โดย สวนีย์ ฉ่ำเฉลียว ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

 
ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค จำนวนหลายราย อย่างต่อเนื่อง กรณีประสบปัญหาได้รับซิมการ์ดแจกฟรีจากตัวแทนจำหน่ายของบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตามสถานที่ต่าง ๆ อาทิ ห้างสรรพสินค้า งานแสดงสินค้า สะพานลอย ป้ายรถเมล์ โดยจะเชิญชวนให้รับซิมการ์ดฟรี หากไม่เปิดใช้งานก็จะไม่มีค่าใช้จ่าย และขอถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไว้เพื่อเป็นหลักฐานการรับซิมการ์ด

ผู้ร้องเรียนเชื่อในข้อมูลดังกล่าว จึงยอมมอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อจะรับซิมการ์ดที่แจกฟรี โดยมิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับบริษัทแต่อย่างใด ต่อมา บริษัทผู้ให้บริการมีการเรียกเก็บค่าใช้บริการจากผู้ที่ได้รับซิมการ์ดแจกฟรี เนื่องจากเป็นโทรศัพท์ที่เคลื่อนที่แบบจดทะเบียนรายเดือน ทั้งนี้ ผู้ร้องเรียนมิได้มีการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวแต่อย่างใด

ปัญหาดังกล่าว “แก้ไขได้ง่ายนิดเดียว” ด้วยตัวของคุณเอง ทางศูนย์ฯ จึงได้นำเคล็ดลับดีๆ มาฝากผู้บริโภคที่ยึดคติ “ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าพร่ำบ่นพันครั้ง” รับรองว่าได้ผลแน่นอน...
เทคนิค ปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อถูกเรียกเก็บค่าบริการจากซิมฟรี

1.ตาม ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 6 กำหนดให้ ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการให้บริการโทรคมนาคมในแต่ละบริการอย่างชัดเจนและครบถ้วน ผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายเพื่อให้ผู้บริโภคทราบและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเข้าทำสัญญาและเลือกใช้บริการได้อย่างถูกต้อง

โดยอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญในเรื่องมาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการ อัตราค่าบริการและวิธีการเรียกเก็บค่าบริการ ข้อจำกัดตลอดจนเงื่อนไขในการให้บริการ ดังนั้น การที่ตัวแทนจำหน่ายของบริษัทให้ข้อมูลว่าซิมการ์ดแจกฟรีนั้น หากไม่ใช้จะไม่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น จึงเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และการไม่แจ้งว่าซิมการ์ดที่แจกฟรีนั้น เป็นโทรศัพท์แบบจดทะเบียนรายเดือน จึงเป็นการปิดบังข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญ เป็นเหตุให้ผู้ร้องเข้ารับซิมการ์ดกับตัวแทนจำหน่ายของบริษัท

2. สัญญาใช้บริการโทรคมนาคมระหว่างผู้ใช้บริการกับกับผู้บริโภคจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ ทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตนาเสนอ สนองถูกต้องตรงกัน แต่จากข้อเท็จจริงผู้ร้องเรียนมิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับบริษัทแต่อย่างใด การมอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ตัวแทนจำหน่ายของบริษัทนั้นก็เพื่อที่จะใช้เป็นหลักฐานประกอบการรับซิมการ์ดแจกฟรี ตามที่ตัวแทนจำหน่ายของบริษัทแจ้งแก่ผู้ร้องเรียน ดังนั้น จึงไม่เกิดสัญญาใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการรายเดือนขึ้นระหว่าง บริษัทผู้ให้บริการและผู้ร้องเรียน

3.หากผู้ร้องเรียนไม่เคยนำซิมการ์ดมาใช้งาน (Call Detail) ต้องให้บริษัทผู้ให้บริการตรวจสอบหากพบว่า ผู้ร้องเรียนไม่มีประวัติการใช้งาน (Call Detail) โทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่สำคัญ สามารถยืนยันว่าผู้ร้องเรียนมิได้มีเจตนาที่จะเข้าทำสัญญาใช้บริการโทรคมนาคมกับบริษัทผู้ให้บริการ

แนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

1. ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาและปฏิเสธการจ่ายเงินตามใบแจ้งหนี้ โดยส่งหนังสือถึง กรรมการผู้จัดการของบริษัทเจ้าของซิม เพื่อขอให้ยุติการเรียกเก็บค่าบริการ พร้อมระบุเหตุผล เช่น ยังไม่ได้ใช้ซิมแต่กลับมีใบแจ้งหนี้มา หรือ การให้บริการไม่ตรงกับเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ไม่ผิดไปจากความต้องการของผู้บริโภค โดยการส่งจดหมาย ต้องส่งแบบลงทะเบียนตอบรับ ไปยังบริษัทของซิมฟรีที่เราไปรับมาเพื่อปฏิเสธการจ่ายเงิน และยกเลิกการใช้บริการ
2. โทรศัพท์แจ้งยกเลิกบริการ ที่ศูนย์บริการของซิมฟรีนั้น หรือส่งอีเมลล์ ไปยังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของซิมนั้น เช่น voc@truecorp.co.th // complain@dtac.co.th //complaint_center@ais.co.th
3. โทรศัพท์ร้องเรียน ไปที่ 1200 สายด่วน กสทช. หรือร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หมายเลขโทรศัพท์ 02-248-3737 หรือ อีเมลล์ complaint@consumerthai.org

ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

แม้ปัญหาของผู้ร้องเรียนจะได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาจนเป็นที่พอใจแล้ว แต่ปรากฏว่ายังมีผู้บริโภคประสบปัญหาในลักษณะดังกล่าว ทั้งที่ร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และร้องเรียนไปยังบริษัทผู้ให้บริการอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น สำนักงาน กสทช. จึงควรมีมาตรการในเชิงป้องกัน โดยแจ้งบริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมทุกรายให้ใช้ความระมัดระวังในการทำการตลาด โดยกำชับตัวแทนจำหน่ายให้แจ้งข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจนแก่ผู้บริโภค และสำนักงาน กสทช. ควรประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความรู้เรื่องสิทธิของผู้ใช้บริการ วิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาในลักษณะดังกล่าวให้ผู้บริโภคทราบอย่างทั่วถึง และควรมีมาตรการลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิดในลักษณะนี้ซ้ำซาก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง