การออกแบบเพื่อความอยู่รอดจากภัยพิบัติ

Logo Thai PBS
การออกแบบเพื่อความอยู่รอดจากภัยพิบัติ

ขณะที่คนส่วนใหญ่อาจตื่นไปกับกระแสวันสิ้นโลก แต่ใกล้ตัวกว่านั้นเรากำลังเผชิญพิบัติภัยหลายรูปแบบ อยู่อย่างไรท่ามกลางวิกฤต นี่คือโจทย์ที่น่าสนใจและถูกนำไปออกแบบเพื่อให้มนุษย์อยู่รอดได้เมื่อเผชิญภัยธรรมชาติ

ในขณะที่หลายคนกำลังกังวลเรื่องวันสิ้นโลก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้มีเหตุการณ์ทางธรรมชาติร้ายแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่นเหตุการณ์พายุแซนดี้พัดถล่มกรุงนิวยอร์กและนิวเจอร์ซีย์ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หรืออย่างในบ้านเราที่เกิดมหาอุทกภัยเมื่อ พ.ศ. 2554 คำถามคือมนุษย์ต้องทำอย่างไรจึงจะอยู่รอดได้ ท่ามกลางเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และนี่ก็คือโจทย์สำคัญที่ทำให้เกิดงานออกแบบครั้งนี้

น้ำหนักที่มากถึง 80 กิโลกรัม และกว้างไม่ต่างจากสุขา 1 ห้อง อาจดูเคลื่อนย้ายลำบากในยามคับขัน หากการออกแบบให้ส่วนฐานสามารถพับเก็บได้ และเสาโครงเหล็กอะลูมิเนียมถอดประกอบได้เหมือนการกางเต๊นท์ ก็ช่วยให้สุขาลอยน้ำสำหรับน้ำท่วมชิ้นนี้ง่ายต่อการใช้งาน การจัดเก็บที่ทำได้ง่ายยังทำให้ขนย้ายสะดวกกว่าสุขาแบบเดิมที่ทำจากเหล็กทั้งหมด

โถสุขาที่ออกแบบเพื่อแยกปัสสาวะ-อุจจาระออกจากกัน โดยปัสสาวะจะถูกฆ่าเชื้อด้วยก้อนคลอรีนก่อนปล่อยลงน้ำ ขณะที่อุจจาระสามารถนำไปทำปุ๋ยในภายหลังได้ สะท้อนความเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อม แม้อยู่ในสถานการณ์ไม่คาดฝัน อีกหนึ่งสิ่งที่เสริมสุข ศรีพงษ์ธนากุล ผู้ออกแบบสุขาลอยน้ำสำหรับน้ำท่วม ให้ความสำคัญนอกเหนือจากการออกแบบเพื่อให้ใช้งานได้มีประสิทธิภาพสูงสุด

"น้ำท่วมเนี่ย เราต้องกำจัดสิ่งปฏิกูลให้มีประสิทธิภาพ ถ้าเราสามารถแยกปัสสาวะออกจากอุจจาระมันก็จะช่วยได้ อุจจาระตอนนี้ที่มีถุงก็เอาไปทิ้งได้เลยทีเดียว ส่วนปัสสาวะ มีงานวิจัยจากจุฬาว่า ถ้าผ่านการฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนก่อนก็ปล่อยลงแหล่งน้ำได้เลย" เสริมสุขกล่าว

เพราะต้องออกแบบให้นักเรียนใช้งาน ชุดโต๊ะและเก้าอี้เฟอร์ไฟท์ฟลัดจึงมีสีสันสดใส ขนาดเหมาะสำหรับเด็ก อีกทั้งยังน้ำหนักเบาขนย้ายได้ง่าย การออกแบบโต๊ะเขียนหนังสือให้แยกต่อชิ้นส่วนได้เหมือนเลโก้เพื่อนำไปประกอบ เป็นอุปกรณ์อื่นๆ เช่น ทางเดิน แพวางสิ่งของ หรือแม้กระทั่งกำแพงกั้นน้ำ คือผลงานที่ออกแบบให้มีลูกเล่น โดยคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยยามอยู่ในภาวะฉุกเฉิน

นอกจากความสวยงาม ดีไซน์ที่สร้างสรรค์ได้ตอบโจทย์การดำเนินชีวิตท่ามกลางวิกฤตอย่างลงตัว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง