ตามดู "เอฟทีเอ" เสนอรัฐบาลเจรจาอียู ทางเลือกที่ดีไทยต้องไม่ยอมรับ"ทริปส์พลัส"

เศรษฐกิจ
24 ธ.ค. 55
05:25
109
Logo Thai PBS
ตามดู "เอฟทีเอ" เสนอรัฐบาลเจรจาอียู ทางเลือกที่ดีไทยต้องไม่ยอมรับ"ทริปส์พลัส"

เปิดเอกสารคณะกรรมการศึกษา-ติดตามผลกระทบต่อสุขภาพ เสนอต้องเจรจาต่อรองเข้มเพื่อป้องกันผลกระทบ

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลต่อสุขภาพและนโยบายเชิงสุขภาพฯ ในคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มีนางศิรินา ปวโรฬารวิทยา ตัวแทนจากภาคธุรกิจเอกชนเป็นประธาน ได้ทำหนังสือถึงนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และนายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เพื่อนำเสนอเอกสารทางเลือกเชิงนโยบาย หากรัฐบาลต้องการเดินหน้าการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการผูกขาดยาเชิงพาณิชย์ โดยทางเลือกที่ดีที่สุด คือ การไม่รับเงื่อนไขที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ เพราะหากไทยยอมรับทริปส์ผนวกก็ต้องให้สิทธินี้กับทุกประเทศใน WTO ไม่ใช่เฉพาะกับสหภาพยุโรปเท่านั้น

“ไทยต้องไม่หลงเชื่อว่า การเพิ่มการคุ้มครองสิทธิบัตรจะทำให้เกิดการพัฒนายาใหม่และการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการวิจัยพัฒนายาให้กับประเทศไทยมากขึ้น ข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่า หลังจากขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยา ตั้งแต่ปี 2535 ไม่ได้เกิดผลที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆทั่วโลก ผลที่เกิดขึ้นมีเพียงแต่ราคายาใหม่ที่แพงขึ้น มีการผูกขาดนานขึ้น อุตสาหกรรมในประเทศอ่อนแอลง และคนไทยต้องพึ่งยานำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้นกว่าสองเท่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่สามารถครอบคลุมการให้ยาใหม่ๆหลายขนานในชุดสิทธิประโยชน์ เพราะมีราคาแพง ไม่สามารถรับภาระงบประมาณได้”

อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องเจรจาการค้าเสรีโดยมีข้อเสนอทริปส์ผนวก ทางคณะกรรมการมีข้อเสนอให้ต้องดำเนินการในประเทศเพื่อเยียวยาให้แล้วเสร็จก่อนการเจรจาจะมีผล เช่น รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้กับระบบหลักประกันสุขภาพในอัตราที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าอัตราเพิ่มของมูลค่ายาที่จะได้รับประโยชน์จากเอฟทีเอครอบคลุมทุกกองทุนสุขภาพ, เก็ยค่าธรรมเนียมไม่ต่ำกว่าร้อยละห้าของมูลค่าการจำหน่ายยาที่ได้ประโยชน์จากเอฟทีเอเพื่อตั้งกองทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาระบบยา โดยให้มีการตรา พรบ.กองทุนฯก่อนการเจรจาจะเริ่มต้น, ให้มีการควบคุมราคายาที่มีสิทธิบัตรและตั้งคณะกรรมการควบคุมราคายาที่มีสิทธิบัตรซึ่งการเจรจาเอฟทีเอจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการควบคุมราคายา, สร้างความเข้มแข็งและเข้มงวดจริงจังด้วยการดำเนินมาตรการทุกข้อภายใต้นโยบายแห่งชาติด้านยาและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ, เพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับติดตามและใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลสิทธิบัตรอย่างสูงสุด

เอกสารข้อเสนอเชิงนโยบายของคณะกรรมการฯยังได้ระบุรายละเอียดข้อเสนอแนะการเจรจาในข้อเรียกร้องที่เป็นทริปส์ผนวกในแต่ละข้อ ควบคู่กับการเจรจาให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและกำหนดให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม

“ประเด็นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการขยายระยะเวลาของการผูกขาดทางการพาณิชย์ (เช่น การขอขยายระยะเวลาความคุ้มครองสิทธิบัตร (patent term extension); การให้สิทธิเด็ดขาดสำหรับข้อมูลผลการทดสอบที่เกี่ยวกับยา (data exclusivity); การเชื่อมโยงระหว่างการขออนุญาตจำหน่ายยาและสิทธิบัตร (linkage between drug registration and patents); การเพิ่มระยะเวลาความคุ้มครองสิทธิบัตรเนื่องจากความล่าช้าของกระบวนการขอสิทธิบัตร (patent term compensation for granting delay); การเพิ่มระยะเวลาความคุ้มครองสิทธิบัตรเนื่องจากความล่าช้าของกระบวนการขออนุญาตจำหน่ายยา (patent term compensation for the delay of marketing approval) เป็นต้น)
ข้อเสนอ การเจรจาจะต้อง

๑) ทำให้การขยายระยะเวลาเหล่านั้นสั้นที่สุด เนื่องจาก ระยะเวลาการขยายยิ่งนานเท่าใดจะยิ่งเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านยาและสุขภาพ และการจำกัดการพัฒนาความสามารถของอุตสาหกรรมการผลิตยาในประเทศมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะจะต้องระมัดระวังในกรณีของ data exclusivity ซึ่งจะเป็นการให้ระยะเวลาสิทธิผูกขาดทางการพาณิชย์กับยาทั้งที่มีและไม่มีสิทธิบัตร โดยเฉพาะยาที่ไม่มีสิทธิบัตรจะได้ระยะเวลาการผูกขาดเต็มจำนวนโดยปริยาย นอกจากนี้ ต้องกำหนดขอบเขตของยาใหม่ให้ชัดเจน รวมถึงประเภท/ชนิดของข้อมูลที่จะให้การผูกขาดซึ่งไม่ควรเป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะแล้ว (เช่น งานวิจัยที่มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการแล้ว เป็นต้น) ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดต่อเนื่องซึ่งจะช่วยให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

๒) การชดเชยเวลาที่เกิดจากความล่าช้าต่าง ๆ ควรอนุญาตเป็นกรณี ๆ ไปเมื่อพิสูจน์ได้ว่า ความล่าช้านั้นเกิดจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบดำเนินการ

๓) การใช้มาตรการลงโทษต่อการเรียกร้องที่ไม่เป็นจริง มีเจตนาให้การดำเนินการของการขออนุญาตจำหน่ายของยาสามัญล่าช้าออกไป และผู้ร้องจะต้องชดเชยความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นจากความล่าช้าของการผลิตต่อผู้ผลิตยาสามัญและการเข้าถึงยาของประชาชน

ประเด็นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มข้อจำกัดการใช้ความยืดหยุ่นของทริปส์ (เช่น การจำกัดการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (compulsory licensing restriction); การยกเลิกมาตรการนำเข้าซ้อน (parallel import limitation); และ การจำกัดเงื่อนไขการเพิกถอนสิทธิบัตร (prohibition of the revocation of patent) เป็นต้น) ข้อเสนอ ไม่ลดทอนการใช้มาตรการเหล่านี้ เนื่องจาก เป็นมาตรการในการสร้างสมดุลระหว่างการให้สิทธิกับบุคคลเชิงพาณิชย์และสิทธิของส่วนรวม เป็นมาตรการสำคัญเพื่อใช้ในการปกป้องสังคมส่วนรวม ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการให้สิทธิผูกขาดในเชิงพาณิชย์ที่มากเกินไปโดยสิทธิ์นั้นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติ

ประเด็นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการขยายขอบเขตของการประดิษฐ์คิดค้นที่สามารถขอสิทธิบัตรได้ (เช่น การให้สิทธิบัตรในสัตว์และพืช หรือข้อบ่งใช้ใหม่ การรักษา การวินิจฉัย (patentability of animals and plants, new use, diagnostic) เป็นต้น) ข้อเสนอ เนื่องจากผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจะคล้ายคลึงกับการขยายระยะเวลาการผูกขาดในข้อ ๒.๑ ในด้านค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากจะมีสิทธิบัตรมากขึ้น ดังนั้น ควรจำกัดขอบเขตให้น้อยที่สุด

ประเด็นการบังคับใช้กฎหมายสิทธิบัตรในทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดมากขึ้น (IP enforcement and boarder measure) ซึ่งต้องการให้เพิ่มกระบวนการทางอาญา และมาตรการทางการบริหาร/ปกครอง รวมถึงมาตรการเยียวยาต่อผู้ทรงสิทธิ ข้อเสนอ ต้องมุ่งเน้นหลักการสร้างความเป็นธรรมของทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา แยกแยะเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรและยาปลอมในความหมายทางการค้าออกจาก ยาสามัญและยาปลอมในความหมายทางสาธารณสุข การใช้ดุลยพินิจในการกักกันสินค้าของเจ้าหน้าที่อย่างสมเหตุผล และไม่เกินเลยไปยังกรณีการผ่านแดนเพื่อการส่งต่อของยาสามัญด้วยกฎหมายสิทธิบัตรในประเทศตน และการดำเนินการเหล่านี้ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการสุขภาพและผู้ป่วย

ทั้งนี้ข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายดังกล่าวได้ทำสำเนาถึงกระทรวงพาณิชย์ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ด้วย อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังไม่มีทีท่าตอบรับข้อเสนอดังกล่าว ซึ่ง(ร่าง)กรอบเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในการเปิดสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติที่เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง