จับจังหวะแรงงานไทยขาขึ้น เรียนรู้ -รอด ในปี 2556

24 ธ.ค. 55
05:41
97
Logo Thai PBS
จับจังหวะแรงงานไทยขาขึ้น เรียนรู้ -รอด ในปี 2556

 ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) สรุปไฮไลท์แรงงานไทยในปี 2555 และโอกาสและความท้าทายในปี2556 ระบุเป็นช่วงแรงงานไทยขาขึ้นเกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ของโครงสร้างตลาดแรงงานไทยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ก่อผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของทั้งผู้ประกอบการและตัวแรงงาน พร้อมโอกาสที่ยังมีมาต่อเนื่องจากแรงกดดันตลาดแรงงานเสรีในประชาคมอาเซียน ทั้งนายจ้างลูกจ้างจึงต้องปรับตัว เรียนรู้ จึงอยู่รอด ที่สำคัญทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักเศรษฐกิจแรงงานราคาถูก สู่การใช้แรงงานที่มีความรู้ความสามารถมากขึ้น

ไฮไลท์แรงงานไทยในปี 2555 : โอกาสที่มาแบบไม่ตั้งตัว

ในภาพรวมด้านจำนวนแรงงาน แนวโน้มการจ้างงานยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงการฟื้นตัวจากผลกระทบน้ำท่วมปลายปี2554 แต่ความตึงตัวของแรงงานไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลง เนื่องจากบางสาขาการผลิตที่ฟื้นตัวมาแล้วแต่ก็ยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะ สาขาการก่อสร้าง หรืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานแบบเข้มข้น เช่น สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ ตัดเย็บกระเป๋า รองเท้า ฯลฯ ซึ่งมีภาวะการเข้าออกสูง จึงมีความต้องการแรงงานต่อเนื่อง และยังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้

ขณะที่ผลจากการปรับขึ้นค่าจ้างตามนโยบายค่าจ้าง300บาทของรัฐบาลรอบแรกเมื่อเดือนเมษายน ดึงดูดให้มีคนเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งมาจากผู้ที่ว่างงานอยู่แล้วปรับตัวเองมาสู่ตลาดแรงงาน ทำให้สถานการณ์ตึงตัวของตลาดแรงงานผ่อนคลายลงเล็กน้อย

แต่หากดูในเชิงคุณภาพ ความขาดแคลนในเชิงคุณภาพยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากมีปัญหาเรื่องสมรรถนะและทัศนคติของแรงงานบางอย่างที่สืบเนื่องมาจากระบบการศึกษา แรงงานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานยังมีปัญหาเรื่องพื้นฐานความรู้ทางการศึกษา เป็นภาระของผู้ประกอบการในการจัดฝึกอบรมเพิ่มเติมให้

ขณะที่แรงงานในสายอาชีวศึกษาเกิดความต้องการสูงขึ้นมาก ซึ่งมีลักษณะพิเศษต่างจากปีก่อน ๆ คือมีภาพของการปรับเปลี่ยนในการใช้ขบวนการปรับปรุงการผลิตที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้น 2 ช่วง ช่างแรกเมื่อมีการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทรอบแรก ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ปรับตัว ปรับขบวนการใช้แรงงานระหว่างปี มีการเพิ่มผลิตภาพมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิต

ตัวเลขที่ยืนยันประเด็นนี้จากผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงานคือผลิตภาพแรงงานที่สูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเพิ่มสูงถึง 8% ต่างจากในอดีตที่ผลิตภาพแรงงานจะอยู่ในระดับ 3-4% มาโดยตลอด ดังนั้นผลจากภาวะช็อคขึ้นค่าจ้าง300 บาททำให้ผลิตภาพแรงงานมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเป็นเท่าตัว และมีการปรับประสิทธิภาพการผลิตอย่างมากเพื่อปรับตัวให้อยู่รอด โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม

การเปลี่ยนแปลงช่วงที่สอง คือ หลังจากน้ำท่วมใหญ่และค่อย ๆ ฟื้นตัวมาในปลายปีนี้ (ปลายปี 54 ต่อเนื่องถึงปี 55 ) ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ทำให้มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งเกิดจากมีการทบยอดคำสั่งซื้อในช่วงเกิดภาวะน้ำท่วมมาเร่งผลิตในต้นปี 55 ทำให้เกิดความต้องการแรงงานมากผิดปกติโดยเฉพาะสายวิชาชีพ

อีกส่วนหนึ่งคือมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานสายช่างเพื่อไปดูแลอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนมาใช้ ทำให้มีความต้องการแรงงานสายวิชาชีพเพิ่มมากขึ้นเปลี่ยนแปลงจากแนวโน้มเดิมที่เคยมีมาในอดีต ปรากฏเด่นชัดในสายยานยนต์ ที่รับเพิ่มนับหมื่นคน

สรุปภาพรวมของสถานการณ์แรงานในปี 2555 ก็คือ ปริมาณแรงงาน ผลกระทบจากน้ำท่วมส่วนหนึ่งทำให้การคลายตัวของความตึงตัวของตลาดแรงงานมีอยู่บ้างเป็นการชั่วคราว แต่พอหลังเริ่มต้นปี 2555 ภาคธุรกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวกลับมาผลิตเพิ่มได้เต็ม 70-80% ส่วนแรงงานที่หลุดออกไปจากระบบก็มีไม่มากนัก ปี 55 จึงเป็นโอกาสที่เกินคาดของแรงงานไทย เกิดการยกระดับครั้งใหญ่ ปรับตัวและพัฒนาในทิศทางดีขึ้น

แรงงานไทยปี 2556 : โอกาสและความท้าทาย

ก้าวสู่ปี 2556 สิ่งที่ยังน่าวิตก คืออัตราการว่างงานของผู้มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากนโยบายปรับอัตราเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท แม้จะบังคับใช้ในภาคราชการแต่มีผลกระทบกับตลาดแรงงานภาคเอกชนที่ผู้ประกอบการขนาดกลางลงมาไม่สามารถจ้างแรงงานระดับป.ตรีขึ้นไปได้มากนัก แต่เน้นการใช้คนเดิมมากกว่าการจ้างคนใหม่

ขณะที่ในภาคราชการจะมีผู้จบการศึกษาปริญญาบัตรทั้งคนเก่าและผู้จบใหม่จะแข่งขันกันเข้าเป็นข้าราชการ ซึ่งก็รับได้จำนวนไม่มาก ดังนั้นโอกาสการมีงานทำของแรงงานปริญญาบัตรจึงไม่สดใสนัก ขณะที่ในกลุ่มผู้จบใหม่ก็มีต้นทุนในการศึกษาต่อระดับสูงกว่าป.ตรีแพงมากตั้งแต่หลักหลายแสนบาทจนถึงหลักล้านบาท

สำหรับอุตสาหกรรมบางสาขาที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าว นับจากวันที่ 14 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไปมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการใช้แรงงานต่างด้าวครั้งใหญ่ โดยไม่เปิดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพิ่มอีกต่อไป โดยให้แรงงานเก่าที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วและยังมีการจ้างงานอยู่ เมื่อหมดสัญญาก็จะต้องกลับออกไปก่อน หากประสงค์จะทำงานค่อยยื่นขอกลับเข้ามาอย่างถูกต้อง

การดำเนินการเช่นนี้แม้จะทำให้ต้นทุนนายจ้างสูงขึ้น แต่ก็แลกมากับระบบน้ำดีที่มีจำนวนมากขึ้นคือระบบการจ้างงานที่มีความโปร่งใสและสามารถบังคับใช้กฎหมายและการคุ้มครองแรงงานได้ดีกว่าเดิม ทั้งเรื่องค่าจ้างสวัสดิการต่าง ๆ และสิ่งที่นโยบายเร่งรัดกว่าเดิมคือการนำเข้าแรงงานแบบจีทูทีจากบางประเทศในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งค่าจ้างแรงงานยังต่ำกว่าไทย เพื่อมาทดแทนแรงงานที่ขาด คนเก่าที่ผิดกฎหมายและถูกผลักดันกลับออกไป

เป็นความท้าทายของผู้ประกอบการที่ต้องใช้ความสามารถในการบริหารจัดการคนมากกว่าเดิม หากคิดว่าต้นทุนการนำคนเข้ามาทำงานแพงขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะต้องคิดปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตโดยการใช้แรงงานต่างด้าวน้อยลงใช้แรงงานไทยมากขึ้น ฉะนั้นอุตสาหกรรมทั้งหลายจึงจำเป็นต้องหาทางที่จะเพิ่มผลิตภาพแรงงานอย่างไม่มีทางเลี่ยง อีกทั้งกระแสการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีก็กดดันให้มีการปรับตัวเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งผลิตภาพแรงงานจะเป็นปัจจัยสำคัญ

นอกจากนี้สิ่งที่ทุกสถานประกอบการต้องเจอแน่เมื่อเข้าสู่เดือนมกราคม 2556 คือการปรับค่าจ้างขึ้นต่ำวันละ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ข้อเสนอคือในช่วงที่จะไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างต่อไปอีก 2 ปี (2557-2558) รัฐบาลควรมีมาตรการเข้าไปช่วยในการปรับปรุงเรื่องประสิทธิภาพและคุณภาพอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะเอสเอ็มอี เพื่อให้ปรับตัวอยู่รอดได้ สำหรับคนที่ไม่ไหวก็ควรให้ความรู้เพื่อตั้งตัวเปลี่ยนธุรกิจใหม่ได้ สร้างโอกาสเป็นเถ้าแก่ให้มากขึ้น นอกจากนี้นโยบายสร้างงานขนาดใหญ่ควรเน้นการให้คนไทยเข้ามาทำงานให้มากที่สุด หากจะมีมาตรการช่วยเหลือด้วยการลดการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามที่ภาคธุรกิจเรียกร้องก็ไม่ควรลดเกิน 2% และมีกำหนดระยะเวลาชัดเจนเฉพาะในช่วง2ปีที่ไม่มีการปรับค่าจ้าง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับกรณีชราภาพซึ่งเป็นเงินออมของผู้กันตนในระยะยาว

ในส่วนของกลุ่มแรงงานนอกระบบ เป็นเรื่องใหญ่ที่ควรต้องมีการดูแลติดตาม สิ่งที่ต้องทำมากขึ้นคือ การให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางรายได้และสิทธิความคุ้มครองต่าง ๆ ที่แรงงานนอกระบบยังด้อยสิทธิอยู่มาก รวมถึงการดูแลติดตามการใช้แรงงานเด็กที่ต้องทำให้ไม่มีการใช้แรงงานเด็กในสภาพเลวร้ายเกิดขึ้น

"ทอล์คออฟเดอะทาวน์" ค่าจ้าง 300 และ15,000 จุดเปลี่ยนแรงงานไทย

การที่รัฐบาลมีนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทและเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ทำให้ประเด็นเรื่องแรงงานมีการพูดถึงมาตลอดในช่วงปี 2555 เป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์เรื่องหนึ่ง และจะยังคงต่อเนื่องไปถึงปี 2556 เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีผลกระทบสูง

นับว่าเป็นครั้งหนึ่งในรอบเกิน 10 ปีที่มีผลกระทบกับแรงงานเยอะมาก มีการรื้อโครงสร้างตลาดแรงงานก่อผลกระทบกว้างขวางในสังคมและทำให้เรื่องแรงงานเป็นที่สนใจในสังคม ทำให้ภาคแรงงานมีความเข้มแข็งขึ้น ซึ่งภาพรวมในแง่สมรรถนะแรงงานไทยดีขึ้น และในช่วงปีที่ผ่านมาเริ่มมีการปรับตัวไปสู่การใช้แรงงานที่มีสมรรถนะดีขึ้นโดยเฉพาะ ในธุรกิจขนาดใหญ่มีการใช้แรงงานความรู้สูงเพิ่มมากขึ้น

หากมองด้วยแว่นเศรษฐศาสตร์ความท้าทายของแรงงานไทยอยู่ที่ทิศทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งพัฒนามาถึงจุดเปลี่ยนที่จะต้องขยับหนีจากการใช้ฐานเทคโนโลยีต่ำ ประสิทธิภาพต่ำ สมรรถนะต่ำ ค่าจ้างแรงงานต่ำ ออกจากกับดักมาสู่ความท้าทายใหม่ ที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้ทุกรูปแบบ เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันในตลาดเสรีที่ไม่ใช่แค่ในประเทศอีกต่อไป จึงเป็นอีกจังหวะก้าวของแรงงานไทย โดยเฉพาะแรงงานรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีจะสามารถก้าวมาเป็นผู้ประกอบการได้มากขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง