1 ปีปัญหารับจำนำข้าวของรัฐบาล"ยิ่งลักษณ์"

25 ธ.ค. 55
13:45
2,336
Logo Thai PBS
1 ปีปัญหารับจำนำข้าวของรัฐบาล"ยิ่งลักษณ์"

โครงการรับจำนำข้าวเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และนับเป็นนโยบายประชานิยมแรกๆ ที่เดินหน้าทันทีท่ามกลางเสียงคัดค้าน เพราะตั้งราคารับจำนำข้าวสูงกว่าราคาตลาดเกือบร้อยละ 50 การคัดค้านมีตั้งแต่เรียกร้องให้ทบทวนยุติโครงการ รวมถึงมีการยื่นต่อศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่สามารถที่จะหยุดยั้งโครงการนี้ของรัฐบาลได้ ไทยพีบีเอสให้ความสำคัญเกาะติดความเคลื่อนไหวโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่เริ่มโครงการอย่างรอบด้าน

โครงการรับจำนำข้าวนั้นเป็นหนึ่งในนโยบายประชานิยมที่อยู่ในความสนใจของสังคมมากที่สุดโครงการหนึ่ง และเป็นโครงการที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าส่งผลกระทบกว้างขวางต่อระบบเศรษฐกิจ การเมือง การผลิตและส่งออกข้าวอย่างรุนแรง เกิดปัญหาทุจริต และทำให้ประเทศเดินหน้าสู่วิกฤติหนี้จากการใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่ออุดหนุนโครงการนี้

7 ตุลาคมปี 2554 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตัดสินใจเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวเป็นปีแรกตามที่หาเสียงไว้กับประชาชนภายใต้เป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาให้ดีขึ้น ด้วยการตั้งราคารับซื้อสูงกว่าราคาตลาดเกือบร้อยละ 50 ทำให้ข้าวไทยสูงกว่าราคาตลาดโลก

กว่า 1 ปีของโครงการนี้ ไทยพีบีเอสลงพื้นที่สอบถามชาวนาในหลายจังหวัด ได้คำตอบที่ต่างกันชาวนาที่มีข้าวพอเข้าร่วมโครงการบอกว่าไม่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ ส่วนชาวนาที่เข้าร่วมโครงการนี้ บอกพอใจกับราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นแต่ชีวิตของพวกเขาไม่ได้ดีขึ้นเพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

แม้ชาวนาบางส่วนจะพอใจกับราคาข้าวเพิ่มที่เพิ่มขึ้น แต่อีกด้านมีเสียงทักท้วงจากนักวิชาการ ภาคเอกชน รวมไปถึง ส.ว.บางกลุ่มที่เห็นตรงกันว่าประโยชน์ที่ชาวนาได้รับอาจเทียบไม่ได้กับความเสียหายของประเทศที่ต้องใช้เงินอุดหนุนจำนวนมาก มีการประเมินว่าความสูญเสียของประเทศจากการรับจำนำ 2 ปี รัฐบาลอาจเสียหายสูงกว่า 3 แสนล้านบาท

โครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิต 2554/2555 รัฐบาลใช้งบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท รับจำนำข้าว 21.6 ล้านตัน จากการกู้ธนาคารของรัฐ ทั้ง ธกส. ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย ซึ่งเกือบเทียบเท่างบประมาณลงทุนประจำปีของประเทศที่มีเพียง 4.2 แสนล้านบาท

และต่อเนื่องด้วยการรับจำนำข้าวรอบใหม่เมื่อ 1 ตุลาคม 2555 ใช้งบประมาณอีกประมาณ 4.5 แสนล้านบาท รับจำนำข้าว 25 ล้านตัน รวม 2 ปีรัฐบาลใช้เงินไปเกือบ 1 ล้านล้านบาท

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากรัฐบาลเดินหน้าโครงการต่อ ความสูญเสียจะยิ่งเพิ่มขึ้น และทำให้ระดับหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มเป็นร้อยละ 61 ต่อจีดีพีในปี 2562 และหากบวกกับภาระการขาดดุลงบประมาณอีก 1 แสนล้านบาทต่อปี จะทำให้หนี้สาธารณะพุ่งกว่าร้อยละ 65 ต่อจีดีพี

ขณะที่สำนักบริหารหนี้สาธารณะประเมินหนี้สาธาณะของประเทศ ณ วันที่ 30 เมษายน มีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 42.2 แต่เดือนกรกฎาคมขยับมาอยู่ที่ร้อยละ 44.8 คาดว่าภายในสิ้นปีนี้หนี้สาธารณะของประเทศจะอยู่ร้อยละ 49.9 ปี 2556 คาดว่าจะอยู่ที่ 50.7

แม้ขณะนี้กรอบวงเงินหนี้สาธารณะยังไม่เกินร้อยละ 60 ต่อจีดีพี แต่หลายฝ่ายก็เชื่อว่าหากรัฐบาลยังเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปเรื่อยๆ และตั้งงบประมาณขาดดุลที่มีการกู้เพิ่มจะทำให้หนี้สาธารณะสูงเกินร้อยละ 60 ต่อจีดีพี

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังประเมินความสูญเสียโครงการรับจำนำข้าวในปีการผลิต 2554/55 จะอยู่ที่ 140,000 ล้านบาท และหากรวมกับการรับจำนำข้าวในปีการผลิต 2555/56 อีก 33 ล้านตัน ความสูญเสียจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.1 แสนล้านบาท รวม 2 ปีรัฐอาจเสียหายถึง 3.5 แสนล้านบาท

ความเห็นนี้สอดคล้องกับความเป็นห่วงจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน.ที่มีหนังสือด่วนที่สุด 2 ฉบับลงนามโดยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังถึงคณะรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยต่อผลกระทบด้านการคลังจากการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าว

อีก 1 ฉบับ ลงนามโดยรองปลัดกระทรวงการคลังในฐานะประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวระบุว่าที่ผ่านมาโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรขาดทุนแล้วกว่า 2.6 แสนล้านบาท พร้อมระบุว่าโครงการนี้เป็นการอุดหนุนภาคการเกษตรเกิดภาระหนี้แบบปลายเปิด

นักวิชาการ และภาคเอกชนมองว่าโครงการรับจำนำข้าวนอกจากใช้งบประมาณมหาศาลแต่มีชาวนาเพียง 1.3 ล้านครัวเรือนจากชาวนา 3.7 ล้านครัวเรือน ที่ได้ประโยชน์ หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8 ที่สำคัญชาวนาที่ยากจน โดยเฉพาะในภาคอีสานที่มีที่นาน้อยไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้

ขณะเดียวกัน ยังเกิดผลกระทบกว้างขวาง ทำลายอุตสาหกรรมข้าวไทย ตลาดกลางซื้อขายข้าวโรงสีชุมชนถูกทำลาย คุณภาพข้าวต่ำลงจากการเร่งปลูก สูญเสียตลาดส่งออก เกิดปัญหาทุจริตทั้งกระบวนการรับจำนำตั้งแต่โกงความชื้นสิ่งเจือปน ทำให้ชาวนาขายข้าวไม่ได้ในราคาที่รัฐบาลตั้งไว้

นอกจากนี้ ยังพบกระบวนการทุจริตในขั้นตอนรับจำนำตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางเช่น การสวมสิทธิ์ระหว่างเกษตรกรกับโรงสี การลักลอบนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน การบริหารสต็อกข้าว แม้รัฐบาลจะระบุว่ามีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือได้กว่า 7 ล้านตัน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันโดยรัฐบาลอ้างเป็นความลับ

มีการประเมินว่าขณะนี้ไทยเก็บข้าวในสต็อกสูงกว่า 10 ล้านตัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหากไม่สามารถระบายข้าวได้หรือระบายได้น้อย ทำให้เกิดปัญหาตามมาทั้งสถานที่เก็บข้าวไม่เพียงพอ ภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเพิ่มขึ้น คุณภาพข้าวด้อยลง เมื่อมีระบายข้าวจะทำให้ยิ่งขาดทุนมาก

นักวิชาการจากสถาบันคลังสมองของชาติ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอเสนอว่ารัฐบาลควรทบทวนนโนบายรับจำนำข้าวทั้งระบบ เช่น เน้นการช่วยชาวนารายเล็กที่ยากจน กำหนดปริมาณการรับซื้อ ปรับราคา และวงเงินรับจำนำ ปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง การเปิดเผยข้อมูลการระบายข้าวส่งเสริม และลดต้นทุนการผลิตเพื่อสร้างความยั่งยืนให้อุตสาหกรรมข้าวระยะยาว

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโครงการนี้ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้ ซึ่งหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่ารัฐบาลควรนำข้อบกพร่องต่างๆ ไปปรับปรุง เพื่อให้โครงการนี้ไม่เป็นเพียงโครงการที่สร้างประโยชน์ระยะสั้น แต่สร้างหนี้ระยะยาว
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง