สธ.เร่งเก็บข้อมูลเพื่อยืนยัน "แร่ใยหิน" กระทบสุขภาพคนไทย

สังคม
26 ธ.ค. 55
13:30
86
Logo Thai PBS
สธ.เร่งเก็บข้อมูลเพื่อยืนยัน "แร่ใยหิน" กระทบสุขภาพคนไทย

กว่า 30 ปีที่ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าแร่ใยหินรายสำคัญของโลก แต่กว่า 50 ประเทศยกเลิกนำเข้าแร่ใยหินแล้ว เมื่อองค์การอนามัยโลก ระบุว่า เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตปีละเกือบ 100,000 คนทั่วโลก ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขของไทยกำลังเร่งเก็บข้อมูล เพื่อหาข้อชี้ชัดว่า แร่ใยหินมีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การยกเลิกนำเข้าแร่ใยหินทั้งหมด

วันนี้ (26ธ.ค.55) กระทรวงสาธารณสุข เรียกประชุมด่วน คณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน เพื่อทบทวนข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากแร่ใยหิน หลังมีรายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า แร่ใยหิน หรือ แอสเบสตอส เป็นสารก่อให้เกิดโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด มะเร็งปอด หรือ โรคปอดอักเสบ จากการทำงานมากถึงร้อยละ 54 ของผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็ง โดยแต่ละปีมีผู้ป่วยเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 90,000 คน

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข จะเร่งดำเนินการกระบวนการวินิจฉัยทางการแพทย์ เพื่อศึกษาและรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมอย่างรอบด้านอีกครั้ง ในเดือนมกราคมปีหน้า เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่า แร่ใยหินมีผลกระทบต่อสุขภาพ

   

ไทยนำเข้าแร่ใยหินมากว่า 30 ปี ซึ่งข้อมูลย้อนหลังในช่วง 16 ปี ไทยนำเข้าแร่ไยหินเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 100,000 ตัน โดยประเทศที่ไทยสั่งนำเข้าได้แก่ รัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก รองลงมาคือ บราซิล และแคนาดา

แต่หลังจากปี 2548 การนำเข้าของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2554 ไทยใช้แร่ใยหินมากกว่า 80,000 ตัน เป็นลำดับที่ 7 ของโลก และลำดับที่ 2 ของอาเซียน  ขณะที่ใน 10 เดือนแรกของปีนี้ ไทยนำเข้าลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง เหลือประมาณ 46,000 ตัน มูลค่าเกือบ 700 ล้านบาท

ปริมาณที่ลดน้อยลง เกิดจากการยกเลิกนำเข้าแร่ใยหิน 5 ประเภท เหลือเพียง 1 ประเภท คือ ไครโซไทล์ โดยร้อยละ 90 ใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์กระเบื้อง และซีเมนต์ ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 2 บริษัทผลิตภันฑ์ซีเมนต์ที่ยังคงใช้อยู่

   

ที่เหลือนำมาใช้เป็นส่วนผสมชิ้นส่วนรถยนต์ โดยเฉพาะ เบรค และคลัช เนื่องจากแร่ใยหินทำให้มีความคงทน แต่กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า เสี่ยงต่อการที่สารใยหินจะฟุ้งกระจายมากที่สุด เนื่องจากมีการเสียดสีตลอดเวลา โดยเฉพาะเบรค และคลัช ในรถบรรทุกขนาดใหญ่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง