กระทรวงสารณสุข เร่งศึกษาหาข้อมูลอันตรายจากแร่ใยหิน

สังคม
27 ธ.ค. 55
03:07
156
Logo Thai PBS
กระทรวงสารณสุข เร่งศึกษาหาข้อมูลอันตรายจากแร่ใยหิน

กระทรวงสารณสุข เร่งดำเนินการกระบวนการวินิจฉัยทางการแพทย์ เพื่อศึกษาและรวบรวมข้อมูลอันตรายจากแร่ใยหินเพิ่มเติมอย่างรอบด้านอีกครั้ง ในเดือนมกราคมปีหน้า

นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรียกประชุมด่วน คณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน เพื่อทบทวนข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากแร่ใยหิน หลังมีรายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า แร่ใยหิน หรือ แอสเบสตอส เป็นสารก่อให้เกิดโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด , มะเร็งปอด หรือ โรคปอดอักเสบ จากการทำงานมากถึงร้อยละ 54 ของผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็ง โดยแต่ละปีมีผู้ป่วยเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 90,000คน

ด้านนพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่า ประเทศไทย พบข้อมูลผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากแอสเบสตอส ซึ่งมีประวัติทำงานในโรงงานทำกระเบื้องมุงหลังคา แต่ยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแน่ชัดว่าเกิดจากแร่ใยหินหรือไม่ เนื่องจากการก่อตัวของโรคนี้ ใช้ระยะนานถึง 10 ปี ขณะที่ประเทศไทยประสบปัญหาด้านการวินิจฉัยโรค และการจัดเก็บข้อมูล

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข จะเร่งดำเนินการกระบวนการวินิจฉัยทางการแพทย์ เพื่อศึกษาและรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมอย่างรอบด้านอีกครั้ง ในเดือนมกราคมปีหน้า เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่า แร่ใยหินมีผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อนำสู่การยกเลิกนำเข้า กว่า 30 ปี ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าแร่ใยหิน หรือ แอสเบสตอส รายสำคัญของโลก แต่ระยะหลังลดการนำเข้าลง ขณะที่กว่า 50 ประเทศยกเลิกนำเข้าแล้ว เนื่องจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่าเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกถึงเกือบ 1 แสนคนในแต่ละปี

ปัจจุบันไทยนำเข้าแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์เพียงประเภทเดียว ขณะที่ประเภทอื่นถูกกำหนดให้เป็นวัตถุอันตราย แม้ภาพรวมปริมาณการนำเข้าจะลดลงต่อเนื่อง แต่ยังเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีการใช้แร่ใยหินสูง โดยในปี 2554 ไทยมีปริมาณการใช้แร่ใยหินกว่า 80,000 ตัน เป็นลำดับ 7 ของโลก และลำดับ 2 ของอาเซียน แต่ข้อมูลจากกรมศุลกากร จะเห็นว่า 10 เดือนแรกของปีนี้ ปริมาณการนำเข้าของไทยลดลงเกือบจะครึ่งหนึ่ง เหลือปริมาณการนำเข้าประมาณ 46,000 ตัน มูลค่าเกือบ 700 ล้านบาท

ทั้งนี้ ไทยมีข้อมูลย้อนหลังช่วง 16 ปี ระบุนำเข้าแร่ไยหินเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 100,000 ตัน โดยประเทศสำคัญๆ ที่ไทยสั่งนำเข้าได้แก่รัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก รองลงมาคือ บราซิล และแคนาดา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง