"เดวิด คาเมรอน" เป็นนายกฯ อังกฤษอีกสมัย-ได้เสียงข้างมากในสภาฯ

ต่างประเทศ
8 พ.ค. 58
16:00
1,473
Logo Thai PBS
"เดวิด คาเมรอน" เป็นนายกฯ อังกฤษอีกสมัย-ได้เสียงข้างมากในสภาฯ

วันนี้ (8 พ.ค.2558) เวลาประมาณ 15.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 21.30 น.เวลาประเทศไทย การนับคะแนนเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักรทั้ง 650 เขตเสร็จสิ้นไปแล้ว ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคอนุรักษ์นิยมที่มีนายเดวิด คาเมรอน เป็นหัวหน้าพรรค ได้เสียงข้างมากคือ 331 ที่นั่ง ทำให้เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรต่ออีกหนึ่งสมัยและพรรคอนุรักษ์นิยมได้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากพรรคเดียว ขณะที่ผลการเลือกตั้งทำให้หัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ 3 พรรคประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้

ขณะที่ผลการเลือกตั้งเต็มไปด้วยสิ่งที่เหนือความคาดหมาย ทั้งการพ่ายแพ้ของผู้สมัครที่เป็นตัวเก็ง ชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรค SNP ในสกอตแลนด์ ไปจนถึงการสอบตกของ "ไนเจล ฟาราจ" หัวหน้าพรรค UKIP

พรรคที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ พรรคอนุรักษ์นิยม 331, พรรคแรงงาน 232, พรรคสกอตติช เนชันแนล (SNP) 56, พรรคลิเบอรัล เดโมแครต 8, เดโมแครต ยูเนียนนิสต์ 8

ผลการนับคะแนนที่ออกมาแตกต่างจากผลการหยั่งเสียงหน้าคูหาเลือกตั้งหรือเอ็กซิท โพล ที่บอกว่าพรรคอนุรักษ์นิยมจะได้ 316 ที่นั่ง และพรรคแรงงานได้  239 และพรรคลิเบอรัล เดโมแครตได้ 10 ที่นั่ง

ภายหลังรู้ผลการเลือกตั้งเกือบครบทุกเขต "ไนเจล ฟาราจ" หัวหน้าพรรค UKIP ได้แถลงลาออกจากตำแหน่ง ตามด้วย "นิค เคล็กก์" ที่ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคลิเบอรัล เดโมแครต เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการที่พรรคได้ส.ส.น้อยกว่าที่ตั้งเป้า

เวลาใกล้เคียงกัน "เอ็ด มิลิแบนด์" ได้แถลงยอมรับความพ่ายแพ้และประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแรงงาน เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่ไม่สามารถทำให้พรรคได้จำนวนส.ส.เข้าไปนั่งในสภาฯ ตามจำนวนที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้

                          

<"">

มิลิแบนด์แสดงความเสียใจต่อผู้สมัครของพรรคที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งและบอกว่าความพ่ายแพ้นี้เป็นความรับผิดชอบของเขาแต่เพียงผู้เดียว เขากล่าวขอโทษที่ทำตามเป้าหมายไม่ได้ แต่เขาได้พยายามอย่างดีที่สุดแล้วตลอด 5 ปีที่ผ่านมา พร้อมกับขอบคุณทีมงานของพรรค ประชาชนที่สนับสนุนทุกคน และยืนยันว่าเขาจะเดินหน้าทำงานเพื่อประชาชนต่อไป

"ขออย่าได้เสียใจกับความพ่ายแพ้ พรรคแรงงานของเราเคยกลับมาแข็งแกร่งมาแล้วในอดีต และเราจะต้องกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง" มิลิแบนด์กล่าว เรียกเสียงปรบมือดังกึกก้องจากผู้สนับสนุน

การที่พรรคอนุรักษ์นิยมมีเสียงข้างมากในสภาเวสต์มินสเตอร์ส่งผลให้นายเดวิด คาเมรอน หัวหน้าพรรคได้เป็นนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรต่ออีกสมัย ซึ่งนายคาเมรอนได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เวลา 12.30 น.ตามเวลาอังกฤษ จากนั้นได้เดินทางมาที่บ้านเลขที่ 10 ถ.ดาวนิง ที่พำนักของนายกรัฐมนตรีอังกฤษและกล่าวถ้อยแถลงเป็นครั้งแรกหลังรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

นายคาเมรอนกล่าวว่าเขาจะทำตามนโยบายที่แถลงไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งโดยเร็ว ซึ่งรวมถึงการจัดลงประชามติว่าสหราชอาณาจักรจะเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไปหรือไม่ ให้อำนาจการปกครองตนเองแก่สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม

นายกฯ อังกฤษบอกว่า เอ็ด มิลิแบนด์ หัวหน้าพรรคแรงงานโทรศัพท์มาแสดงความยินดีกับเขาเมื่อเช้านี้ นายคาเมรอน ยกย่องหัวหน้าพรรคแรงงานว่าเป็นผู้ที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อสาธารณะอย่างแท้จริง

ส่วนผลการเลือกตั้งในสกอตแลนด์ พรรคสกอตติช เนชันแนลหรือ SNP กวาดที่นั่งเกือบหมดคือ 56 จาก 59 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งก่อนในปี 2010 ถึง 50 ที่นั่ง ส่วนพรรคแรงงาน คู่แข่งสำคัญของ SNP ได้ส.ส.มาเพียง 1 คน ลดลงจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วถึง 40 คน

สรุปผลการเลือกตั้งในสกอตแลนด์ พรรค SNP ได้ส.ส.56 คน, พรรคแรงงาน 1 คน, พรรคอนุรักษ์นิยม 1 คน และ พรรคลิเบอรัล เดโมแครต 1 คน รวมส.ส. 59 คน

พรรค SNP ช่วงชิงที่นั่งจากพรรคแรงงานไปได้หลายเขตรวมทั้งเขตเลือกตั้งของ "จิม เมอร์ฟีย์" ผู้นำพรรคแรงงานในสกอตแลนด์ และ "ดักลาส อเล็กซานเดอร์" โฆษกฝ่ายการต่างประเทศและผู้อำนวยการเลือกตั้งของพรรคแรงงานที่พ่ายแพ้ต่อผู้สมัครจากพรรค SNP คือ "ไมรี แบล็ค" ชัยชนะครั้งนี้ทำให้แบล็ค อายุ 20 ปี เป็นส.ส.ที่มีอายุน้อยที่สุดในสภาฯ นับตั้งแต่ปี 1667

ด้วยจำนวน ส.ส.ถึง 56 คน ทำให้พรรค SNP เป็นพรรคใหญ่อันดับสามในสภาเวสต์มินสเตอร์ ตามหลังพรรคอนุรักษ์นิยม และพรรคแรงงาน

"นิโคลา สเตอร์เจียน" นักการเมืองหญิงวัย 45 ปีหัวหน้าพรรค SNP จึงน่าจะเป็นผู้ที่มีความสุขมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในการนำพาพรรคช่วงชิงที่นั่งจากพรรคคู่แข่งได้จำนวนมาก ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าเป็นผลจากการที่พรรค SNP มีบทบาทในการลงประชามติแยกสกอตแลนด์เมื่อปีที่แล้ว

ก่อนการเลือกตั้ง พรรค SNP ถูกโจมตีอย่างหนักโดยเฉพาะจากพรรคแรงงานว่ามีนโยบายที่จะทำให้สหราชอาณาจักรแตกแยกเนื่องจากพรรค SNP เป็นพรรคที่สนับสนุนให้สกอตแลนด์แยกตัวเป็นอิสระจากสหราชอาณาจักร และมีบทบาทอย่างมากในช่วงที่มีการลงประชามติแยกสกอตแลนด์เมื่อเดือนกันยายน 2557 ซึ่งผลออกมา 55 ต่อ 45 เปอร์เซ็นต์ไม่ต้องการให้แยกประเทศ

แต่สเตอร์เจียนยืนยันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้จะนำไปสู่การลงประชามติแยกสกอตแลนด์อีกครั้งหนึ่งอย่างที่หลายคนกล่าวหา เธอให้สัมภาษณ์บีบีซีหลังจากรู้ผลการเลือกตั้งในสกอตแลนด์ว่า คนที่เลือกพรรค SNP ไม่ได้มีแต่ผู้ที่สนับสนุนการแยกสกอตแลนด์ คนที่ไม่เห็นด้วยกับการแยกประเทศก็เลือกพรรค SNP เช่นกัน ซึ่งนั่นแสดงว่าพรรคของเธอเป็นตัวแทนของชาวสกอตแลนด์อย่างแท้จริง  
  
                           

<"">

เธอย้ำอีกครั้งว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้ที่พรรค SNP ได้ส.ส.มากถึง 56 คน ไม่ได้เป็นสัญญาว่าจะมีการทำประชามติแยกสกอตแลนด์เป็นครั้งที่ 2

"การลงประชามติจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น" สเตอร์เจียนกล่าว

"ไทยพีบีเอส" ได้สัมภาษณ์ชาวสกอตแลนด์บางคนที่เป็นผู้สนับสนุนพรรค SNP ซึ่งมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการแยกประเทศ ส่วนใหญ่บอกว่าเลือกพรรค SNP เพราะอยากให้มี ส.ส.สกอตแลนด์เข้าไปนั่งในสภาฯ เยอะๆ เพื่อให้การกำหนดนโยบายของประเทศเป็นไปในทางที่ดีต่อสกอตแลนด์

การเลือกตั้งสหราชอาณาจักรโดยภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย นับตั้งแต่เปิดคูหาให้ประชาชนมาลงคะแนนเลือกตั้งระหว่างเวลา 07.00-22.00 น. ของวันที่ 7 พ.ค.2558 มีหน่วยเลือกตั้งประมาณ 50,000 แห่งทั่วประเทศ และมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งประมาณ 35 ล้านคน การนับคะแนนใช้เวลาทั้งหมดราว 15 ชั่วโมง คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ประกาศชื่อผู้ชนะในแต่ละเขต โดยผู้สมัครทุกคนจะมายืนรวมกันบนเวทีขณะฟังประกาศผลการนับคะแนนและชื่อผู้ชนะ หลังจากนั้นผู้สมัครอาจขึ้นมากล่าวอะไรเล็กน้อย เช่น ขอบคุณผู้มาใช้สิทธิ์ อวยพรให้ผู้ชนะหรือประกาศท่าทีทางการเมืองของตนหลังการเลือกตั้ง

ขณะที่อัตราการออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งของประชาชนคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 66 เปอรเซ็นต์ นับว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 1997

กุลธิดา สามะพุทธิ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงานจากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร


ข่าวที่เกี่ยวข้อง