จับตากระแส "คำฮิตโลกออนไลน์" สะท้อนการใช้ภาษาไทยอย่างไร?

30 ธ.ค. 55
09:52
5,329
Logo Thai PBS
จับตากระแส "คำฮิตโลกออนไลน์" สะท้อนการใช้ภาษาไทยอย่างไร?

โดย : กัลยาวีร์ แววคล้ายหงษ์ “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” แล้ว “คำศัพท์ฮอตฮิต” ในสังคมออนไลน์ ส่ออะไร? เป็นปกติสำหรับผู้ที่ใช้สังคมออนไลน์ที่ต้องคุ้นชินกับการเกาะกระแส “การใช้คำศัพท์” ใหม่ ๆ ที่ฝุดขึ้นในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต บางคำไปไวมาไว ใช้พอหอมปากหอมคอ แล้วหายเข้ากลีบเมฆ ขณะที่บางคำถูกนำมาใช้จนเคยชิน จนบางครั้งทำให้ลืมต้นตอของความหมาย รวมถึงการเขียน-ใช้อย่างไรให้ถูกต้อง

ส่องคำฮิตติดลมในสังคมออนไลน์

ปี 2555 มีคำมากมายฝุดขึ้นมาอย่าง แล้วใช้กันอย่างรวดเร็วและแพร่หลาย ยกตัวอย่างเช่น คำว่า ฟิน ที่มีความหมายถึงความรู้สึกมีความสุข,สุดยอด,อิ่มเอิ่บ กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

คำว่า ดราม่า เป็นคำอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากความคิดเห็นที่แตกต่าง อคติ หรือจริงจังมากเกินไป แล้วก่อให้เกิดความขัดแย้ง รำคาญใจ กับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมด ที่มีที่มาจากเว็บไซต์ยอดนิยมอย่างพันทิป ส่วน เงิบ ที่มาจากการตัดคำจากคำว่า “หงายเงิบ” เพื่อสื่อถึงอาการงง หรืออึ้งจนพูดไม่ออก

ขณะที่คำที่พิมพ์ผิดโดยไม่ตั้งใจ แต่มีการนำมาใช้ด้วยความ "จงใจ" อย่าง จุงเบย ที่มาจากคำว่า จังเลย และ เมพขิง ๆ ที่มาจากคำว่า เทพจริง ๆ

นอกจากนี้ยังมีวลีเด็ด เช่น เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่ ซึ่งเกิดจากการที่เด็กชั้น ม. 1 อัดคลิปลงยูทูบเพื่อต้องการตอบโต้เพื่อน ๆ ในห้องที่แบนตนเองในสังคมออนไลน์ ขณะที่ แก่ ใจดี สปอร์ต กทม. ที่มีที่มาจากหนุ่มใหญ่คนหนึ่งที่อธิบายความเป็นตัวเอง จนหลายคนนำลักษณะวลีดังกล่าว ใช้เพื่อบอกถึงตัวตนของตัวเอง และ จนธนูปักที่หัวเข่า เป็นคำพูดที่อยู่ในเกม ที่ต่อมากลายเป็นคำนี้ฮิตทั้งไทย และต่างประเทศ

“ครอบครัว-สถาบันการศึกษา” ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน “การใช้ภาษา” ของวัยรุ่นได้

<"">

คำยืนยันของ น.ส.สุปัญญา ชมจินดา ผู้อำนวยการกรมวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน ที่ระบุว่า ภาษามีการเปลี่ยนแปลงและสามารถเกิดคำศัพท์ใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา ถือเป็นปกติอย่างยิ่ง หากแต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีด้านการสื่อสารคอยช่วยให้คำเหล่านั้นเผยแพร่เร็วขึ้น จึงก่อให้เกิดการใช้วงกว้าง และส่งผลให้รู้สึกว่ามีคำศัพท์เกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก แต่การใช้คำก็ยังคงจำกัดอยู่ในการสื่อสารเฉพาะกลุ่มอยู่ดี เช่น เพื่อนกับเพื่อน

และด้วยสาเหตุที่มีการใช้กันเพียงแค่สังคมออนไลน์ จึงเป็นสิ่งที่ผู้อำนวยการกรมวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน กังวลว่า การใช้คำศัพท์เหล่านี้อย่างไม่รู้ที่มาที่ไปอาจจะส่งผลให้เกิดความสับสน เมื่อต้องใช้สื่อสารอย่างเป็นทางการ เช่น กับผู้ที่อาวุโส การติดต่อราชการ รวมไปทักษะการเขียน

“เด็กวัยุร่นบางคนอาจจะยังแยกแยะไม่ได้ เนื่องจากเด็กไม่มีภูมิคุ้มกัน ที่จะมีคนคอยให้ความรู้หรือคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้คำ ซึ่งครอบครัว และสถาบันการศึกษาต้องช่วยกันในการส่งเสริม”

ผู้อำนวยการกรมวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน ยังระบุอีกว่า จากการประเมินภาพรวมในการใช้ภาษาของวัยรุ่นปัจจุบัน ยังพบว่า มีความสับสนในการใช้คำ ซึ่งมาจากหลาย ๆ ปัจจัย โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้คำ ทั้งนี้ เรื่องของภาษานั้น ไม่สามารถสร้างความเข้าใจได้ภายในเร็ววัน จำเป็นต้องใช้เวลา


“ใช้-แชร์” คำฮิตติดกระแส สร้างจุดยืนและตัวตนในสังคมที่อยู่

<"">

อีกหนึ่งมุมมองจากนักจิตวิทยา พญ.วิมลรัตน์ วัญเพ็ญ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ที่มองในเรื่องการสร้างตัวตนช่วยสนับสนุน “ความจำเป็น” ที่หลายต้อง “ใช้-แชร์” คำศัพท์ รวมถึงกระแสด้านอื่น ๆ ว่า การตามกระแสของวัยรุ่นเป็นพัฒนาการอย่างหนึ่ง ถือเป็นความสำเร็จในวัย ที่วัยรุ่นต้องการมีเอกลักษณ์ของตนเอง เพื่อให้เกิดการยอมรับในสังคมที่ตัวเองอยู่

วัยรุ่นบางคนนั้น ที่ไม่สามารถหาจุดยืนให้กับตัวเองได้ จึงต้องทำตามกระแสในสังคมก่อน ซึ่งเรื่องภาษาเป็นเรื่องที่ง่าย และใกล้ตัว นอกจากนี้ยังมีการตามกระแสด้านอื่น ๆ เช่น การแต่งกาย ตามดารา หรือภาพยนตร์ ประกอบกับการมีเทคโนโลยีเป็นสื่อกลางการสื่อสาร พญ.วิมลรัตย์ยังกล่าววว่า การตามกระแสนั้น ทำให้ภาพลักษณ์ของคนที่ใช้ ดูไม่แก่

อย่างไรก็ตาม พญ.วิมลรัตน์ยังเน้นย้ำว่า ในเมื่อวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่ตามกระแส ดังนั้นสังคมควรช่วยกันสร้างกระแสที่ดี และนำเทคโนโลยีมาช่วยในการสร้างกระแสนั้นจะเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่สะกดถูก-ผิด แต่อยู่ที่การเรียบเรียงภาษา

“ผมว่าปัญหาการสะกดคำผิดถูก ยังไม่สำคัญเท่าทักษะการเรียบเรียงภาษา หรือการคิดวิเคราะห์ของคนรุ่นใหม่”

นี่คือคำตอบที่ได้ หลังเปิดหัวข้อผลกระทบของการใช้ “คำศัพท์” และภาษาโดยที่ไม่รู้ที่มาที่ไปในสังคมออนไลน์ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม ให้ทัศนะในกรณีดังกล่าวว่า ส่วนตัวให้ความสำคัญในการสะกดคำน้อยกว่า ความสามารถในการเรียบเรียงภาษา เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ภาษา หรือถ่ายทอดในสังคมออนไลน์นั้น มักจะเป็นประโยคสั้น ๆ คิดอย่างไรก็พิมพ์ออกมาอย่างนั้น

“บางทีบ่นเรื่องของอากาศร้อน, หิวข้าว จะเป็นการพูดแบบประเด็นเดียว ไม่มีการคิดวิเคราะห์ หรือมองประเด็นทางสังคม หรือแสดงความเห็นมุมเดียว ไม่ได้กลั่นกรองหรือมองให้รอบมุม ประกอบกับเทคโนโลยี สมาร์ทโฟน ไม่เอื้อให้พิมพ์อะไรยาวๆ สุดท้ายแล้ว “สื่อ” เป็นตัวที่เปลี่ยนวิถีการสื่อสารของสังคม ”

สำหรับกรณีการเกิดคำศัพท์ใหม่ จนกลายเป็นที่นิยมนั้น ผศ.ดร.วรัชญ์ ระบุว่า ส่วนใหญ่คำที่ฮิตนั้นมาจากความไม่ตั้งใจ เช่น พิมพ์ผิด แต่จะนำมาใช้ด้วยความตั้งใจ โดยที่ผศ.ดร.วรัชญ์มองว่า สาเหตุหนึ่งของการใช้คำเพื่อไม่ให้ตกขบวนของกระแสนั้น เพื่อเป็นรักษาสถานะของตัวเองในโลกออนไลน์

นอกจากนี้แล้ว “ความขี้เกียจ” ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ ผศ.ดร.วรัชญ์มองว่า เป็นสาเหตุของการใช้คำที่สั้น ๆ หรือเฉพาะกลุ่มเป็นประจำ จึงก่อให้เกิดความเคยชิน ซึ่งอาจถูกมองว่าหลงลืมคำศัพท์ที่แท้จริง หรือการสะกดที่ถูกต้องเป็นอย่างไร แต่ผศ.ดร.วรัชญ์กลับมองว่า การสื่อสารในโลกออนไลน์นั้น เป็นเพียงการสื่อสารเพียงตัวอักษรที่บางครั้งตั้งใจพิมพ์ผิด เพื่อต้องการสื่ออารมณ์เท่านั้น

แต่เมื่อไหร่ที่ “สื่อกระแสหลัก” นำ “คำศัพท์” นั้นไปใช้ในการนำเสนอข่าว คำศัพท์นั้นจะกลายเป็นที่ยอมรับในสังคมวงกว้าง ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มอีกต่อไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มจากข่าวบันเทิง เช่น แซ่บเวอร์ หรือ ซุป’ตาร์ เป็นต้น

“เด็กวัยรุ่น” รู้จัก “กาละเทศะ” ของการใช้ “ศัพท์ใหม่โลกออนไลน์” ในชีวิตจริงแค่ไหน

<"">

“กาละเทศะในการใช้คำ” เป็นคำที่ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวออกมามากที่สุด ในระหว่างพูดถึงภาพสะท้อนของผลกระทบในการใช้คำศัพท์ในสังคมออนไลน์อย่างไม่รู้ต้นตอของคำอย่างแท้จริง

ดร.มานะ ระบุว่า ศัพท์ที่เกิดขึ้นใหม่ หลายคำมาจากการพิมพ์ผิด หลายคำเกิดจากการตัดทอนคำให้สั้นลง หรือบางครั้งเกิดสำนวนใหม่ๆ ขึ่นมา ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นปกติ

แต่สิ่งที่ผู้ใช้ภาษาต้องตระหนักถึง “กาละเทศะ” ในขณะที่ใช้ ว่าควรจะใช้ในคำไหน เวลาไหน ใช้กับคนในระดับใดมากกว่า เพราะว่าการสื่อสารปกติ กับการสื่อสารในโลกออนไลน์จะต่างกัน ซึ่งบางครั้งอาจจะทำให้ลืมต้นตอ หรือที่มาของคำเดิม เช่น ครับ,มหาวิทยาลัย รวมไปถึงคำควบกล้ำต่าง ๆ ด้วย

“เทคโนโลยี ทำให้คำศัพท์พวกนี้เผยแพร่เร็ว และเป็นที่นิยมในระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งในอดีตนั้นคำศัพท์มักมาจากการพาดหัวข่าว หรือผ่านสื่อ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติมาก และมีคนใช้สังคมออนไลน์จำนวนมาก จึงทำให้เกิดคำศัพท์ใหม่มากขึ้น” ดร.มานะกล่าว

นอกจากนี้ ดร.มานะ ยังพูดถึงตัวการ์ตูนที่เรียกว่า meme ที่มีการนำบุคคลดังทั้งดารา นักการเมือง เซเลบบริตี้ เป็นต้น มาล้อเลียนด้วยลักษณะคำพูดเฉพาะตัวบุคคลนั้น ๆ เพื่อเสียดสีกระแสสังคมในประเด็นต่าง ๆ ว่า

“การนำตัวการ์ตูนมาใช้นั้น ถือเป็นความสร้างสรรค์ เป็นนวัตกรรมการสื่อสารในโลกดิจิทัลอย่างหนึ่ง ที่มีการผสมผสานกันมากขึ้น อย่างไรก็ตามปกรากฏการณ์ดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องให้ผู้ใช้ และผู้รับสารรู้เท่าทันด้วย”
ดร.มานะทิ้งท้าย

จุงเบย-ดราม่า-เมพขิง ๆ “ใคร ๆ ก็ใช้กัน”

น้ำเสียงกวน ๆ เมื่อได้ยินคำถาม เพราะอะไรจึงใช้คำศัพท์ที่นิยมในสังคมออนไลน์ ของ “เติ้ล” พัทธดนย์ ธาราธีรเศรษฐ์ และ “ดราฟ” วีรภัทร ประเสริฐศรี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ทั้งสองระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า สาเหตุที่ใช้คำศัพท์ที่กำลังเป็นที่นิยมในสังคมออนไลน์นั้น เพราะ “ใคร ๆ และคนรอบตัวก็ใช้กัน” ซึ่งไม่อยากตกกระแสที่กำลังเป็นอยู่ ทั้งนี้ทั้ง 2 เห็นว่า คำศัพท์ที่เป็นที่นิยมนั้นไม่นานเท่าไหร่ เดี๋ยวมันก็หายไปตามกาลเวลา


แม้การ “ใช้-แชร์” คำศัพท์ฮอตฮิต อาจไม่ได้ “ส่อ” ถึงอวสานของภาษาไทย และอาจไม่ใช่คำตอบที่จะเป็นจุดพลิกผันของวงการ แต่นี่เป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ที่ทำให้กลับมาตั้งคำถามถึง “วิธีการใช้” ภาษาไทยอย่างไรให้ถูกต้อง ไม่สับสน เหมาะสมกับสถานการณ์ บุคคล และกาละเทศะ เพื่อสร้างตัวตนและจุดยืนของตัวเอง รวมถึงสามารถใช้ภาษาไทยถ่ายทอดความคิดที่มีระบบ-รอบด้าน โดยไม่ถูกเทคโนโลยีที่ “ยัดเยียดความเร็ว” จนหลงลืมการใช้ภาษาไทยที่แท้จริงในชีวิตประจำวัน

ภาพประกอบ  : พญ.วิมลรัตน์ วัญเพ็ญ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์  จาก เว็บไซต์ ผู้จัดการ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง