คดีเพลิงไหม้ซานติก้ากับช่องว่างทางกฎหมาย

31 ธ.ค. 55
13:45
426
Logo Thai PBS
คดีเพลิงไหม้ซานติก้ากับช่องว่างทางกฎหมาย

เหตุการณ์หนึ่งที่ถูกบันทึกไว้สำหรับค่ำคืนแห่งการนับถอยหลังส่งท้ายปีเก่า คือ เหตุการณ์เพลิงไหม้ซานติก้าผับ 1 มกราคม 2552 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 60 คน และบาดเจ็บมากกว่า 220 คน ตลอดเวลาที่ผ่านมา ยังคงมีการต่อสู้คดีในชั้นศาลทั้งคดีอาญาและแพ่ง โดยมีการนำเอาพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีคุ้มครองผู้บริโภคเป็นกฏหมายพิเศษ ในการเรียกค่าเสียหาย

แต่ดูเหมือนว่า พรบ.ฉบับนี้ ยังไม่ไม่ช่วยให้คดีนี้บรรลุผลได้เร็วตามเจตนาของกฏหมาย เพราะที่ผ่านมา ผู้เสียหายต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและการรักษาตัวด้วยตนเอง ทั้งที่เป็นฝ่ายชนะคดีอาญา ทำให้นักกฏหมาย จึงมองว่า นี่เป็นคดีตัวอย่างที่จะสะท้อนช่องว่างของกระบวนการยุติธรรมไทยได้เป็นอย่างดี

4 มิถุนายน 2556 เป็นการนัดสืบพยานคดีอาญาครั้งแรกของธนัชชา สุนทรชัย โจทก์ยื่นฟ้องผู้บริหารซานติก้าผับและกทม. หลังจากเหตุการณ์เพลิงไหม้สถานบันเทิงซานติก้าผับ ผ่านมามากกว่า 3 ปีเต็ม แม้จะทำใจรับกับชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปได้แล้ว แต่ความทรงจำอันเลวร้ายจากเหตุการณ์ไม่อาจลบเลือน ภาพถ่ายในวันที่เกิดเหตุการณ์ยังช่วยลำดับเหตุการณ์ ได้เป็นอย่างดี ใบเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาล เพื่อรักษาร่างกายที่ถูกเพลิงไหม้ แสดงให้เห็นถึงภาระค่าใช้จ่ายสะสมจนกลายเป็นหนี้สินของครอบครัว ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินคดี ทั้งหมดนี้มากเกินกว่ารายได้จากอาชีพพนักงานขายที่ทำอยู่ในปัจจุบัน  

ธนัชชา สุนทรชัย ผู้เสียหาย เล่าว่า ที่ผ่านมาในคดีนี้มีผู้ร้องเพียง 5 คน จากกว่า 60 คน ที่ได้รับการพิจารณาคดีอาญา โดยศาลได้ตัดสินให้เป็นฝ่ายชนะคดี และถูกนำผลของคดีมาใช้เป็นคดีตัวอย่าง ให้กับผู้ร้องคนอื่นๆในคดีแพ่ง ซึ่งเป็นการเรียกร้องค่าเสียหาย  แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถเริ่มต้นกระบวนการได้  เพราะฝ่ายผู้ประกอบการได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล  ทำให้ต้องรอผลจากคดีอาญามาใช้อ้างอิงเป็นหลัก

ตามปกติแล้ว การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ประกอบการต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก และทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ทำให้การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในคดีนี้ ฝ่ายผู้เสียหายได้นำพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 2551 มาเป็นเครื่องมือฟ้องร้องค่าเสียหายจากผู้ประกอบการ เพื่อความรวดเร็วและเป็นธรรม แต่ความล่าช้าที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่สะท้อนว่า ยังมีช่องว่างในตัวกฏหมายกับคดีในลักษณะนี้

พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มีเจตนารมณ์เพื่อให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายได้รับการแก้ไขเยียวยา ด้วยความรวดเร็ว ประหยัด และมีประสิทธิภาพ อันเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค หากเกิดข้อพิพาทระหว่างผู้ประกอบการและผู้รับบริการ ซึ่งมักพบว่า มีกระบวนการในการเรียกร้องค่าเสียหายต้องใช้เวลานาน และสร้าง ความยุ่งยากให้แก่ผู้บริโภค ที่จะต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งไม่อยู่ในความรู้เห็นของตนเอง อีกทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีสูง และลดการเผชิญหน้าระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ กับกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

แต่สำหรับคดีนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น ข้อมูลจากสภาทนายความ พบว่า มีผู้เสียหายทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิต ฟ้องร้องทั้งทางอาญาและแพ่ง รวม 56 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยและภูมิลำเนาในต่างจังหวัด ค่าใช้จ่ายและข้อจำกัดเรื่องเวลาที่ต้องเดินทางไป-มาหลายครั้ง ทำให้ผู้เสียหายประมาณ 8 ราย ได้ขอรับเงินชดเชยจำนวน 40,000 บาท เป็นการยุติการฟ้องร้อง

เจษฎา อนุจารี อุปนายก สภาทนายความ ยังกล่าวด้วยว่า พรบ.ฉบับดังกล่าว ยังแตกต่างจากต่างประเทศ ซึ่งบังคับใช้แล้ว ทำให้เกิดการพิจารณาคดีที่รวดเร็ว และมีการชดเชยค่าเสียหายที่สูงกว่า ทำให้สภาทนายความแสดงความกังวลว่า คดีนี้อาจยืดเยื้ออีกกว่า 5 ปี ซึ่งท้ายที่สุดแล้วแม้ฝ่ายผู้เสียหายจะเป็นฝ่ายชนะคดี แต่การบังคับผลของคดีอาจทำได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากทรัพย์สินของผู้ประกอบการอาจเปลี่ยนแปลงไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง