จับตา 8 ปัจจัยเสี่ยง”รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ปี 56

1 ม.ค. 56
10:25
380
Logo Thai PBS
จับตา 8 ปัจจัยเสี่ยง”รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ปี 56

นักรัฐศาสตร์ ชี้ 8 ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองปี 56 “แก้รธน.-ทักษิณ-พระวิหาร” 3 ปมสุดร้อน อาจส่งผลรัฐบาลยิ่งลักษณ์เพลี่ยงพล้ำได้ ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน เชื่อ กรณีส่งฟ้อง“อภิสิทธิ์-สุเทพ”นำพาสู่นิรโทษกรรม จุดกระแสต้านนอกสภา ด้าน ส.ส.เพื่อไทย แกนนำนปช.ภาคเหนือ คาดปีหน้าการเมืองสู้เชิงสัญลักษณ์ “กลุ่มรักทักษิณ-ต้านทักษิณ” มั่นใจมวลชน นปช.ช่วยหนุนประชามติผ่านฉลุย

สภาพการเมืองปี 55 ที่ผ่านมา ถือว่านอกเหนือจากมหาอุทกภัยที่สร้างปัญหาหนัก ให้กับประเทศจึงทำให้การต่อสู้ในทางการเมืองลดดีกรีร้อนแรงไปอย่างมาก แต่เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติการเมืองต่อสู้กันอย่างดุเดิอด ในหลายประเด็นทั้งกรณีการยุบพรรค การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การหวนคืนสนามการเมืองของสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับรัฐบาลได้เป็นอย่างดี  ตลอดจนเมื่อล่วงเข้าสู่ปลายปี กับการปลุกมวลชนของ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม หรือ อพส.ที่ประกาศว่าจะล้มรัฐบาลแบบม้วนเดียวจบ แต่สุดท้ายก็มิได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับรัฐบาลมากนัก

ทว่ารัฐบาลกลับถูกตั้งคำถามในเชิงการบริหารอย่างมาก ภายหลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งกรณีความโปร่งใสของโครงรับจำนำข้าว โครงการขุดลอกแหล่งน้ำ และการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งแม้ว่าจะผ่านพ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้ แต่คำถามต่าง ๆ ยังคงปรากฏอยู่เนื่องจากยังคงไร้คำตอบที่ชัดเจน
                            

<"">

อย่างไรก็ตาม การเมืองปี 56 ยังคงมีความเกี่ยวพันกับประเด็นร้อน โดยเฉพาะกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งในปีนี้ (55)ที่กระบวนการขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะดำเนินการต่อเนื่องจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา (55) นั่นเอง

รศ.ยุทธพร อิสรชัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์ ถึงสถานการณ์การเมืองไทยในปี 56 โดยระบุว่า การเมืองไทยในปี 56 จะยังคงมีประเด็นร้อนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลมากที่สุดก็คือ การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่แนวทางการแก้ไขดังกล่าวแม้ว่าจะมีการเสนอแนวทาง “ประชามติ” และ “สานเสวนา” แต่จำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มต่าง ๆ ทางสังคมให้มีส่วนร่วมมากที่สุด มิฉะนั้นก็ไม่อาจที่จะนำไปสู่ทางออกของปัญหาทางการเมืองได้ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรายมาตราจะเป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองมากกว่า ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคม อาทิ การปฏิรูปที่ดิน การแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะสามารถดึงแนวร่วมภาคประชาชนเข้าร่วมได้มากกว่า ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลอาจจะต้องปรับยุทธศาตร์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมให้มากขึ้น

รวมถึง บุคคลที่อิทธิพลทางการเมืองสูง อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ทุกการเคลื่อนไหวยังคงสามารถสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองได้เสมอ โดยเฉพาะกรณีล่าสุด อย่างการปรากฎตัวในการถ่ายทอดการแข่งขันชกมวยไทย ผ่านสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ที่มีคำถามถึงความเหมาะสม และกลายเป็นประเด็นทางการเมืองซึ่ง ในปี 56 หากพ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยเฉพาะ กับกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการนิรโทษกรรม ก็จะถือว่าเป็นปัจจัยที่จะปลุกมวลชนฝั่งตรงข้ามรัฐบาลใหลุกขึ้นต่อต้านได้เร็วมากยิ่งขึ้น
                             

<"">

ขณะที่ในช่วงเดือน มิ.ย.ที่ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จะเรียกคู่ความทั้ง 2 ประเทศ คือไทยและกัมพูชาเข้าพิจารณาในคดีพิพาทปราสาทพระวิหาร โดยรัฐบาลอาจจะต้องแบกรับความกดดันอย่างหนัก ซึ่งกรณีดังกล่าวมีความอ่อนไหวอย่างมาก หากผลการตัดสินออกมาในทางร้าย กระแสชาตินิยมจจะถาโถมเข้าใส่รัฐบาลซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่บั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างรุนแรงที่สุด หากรัฐบาลไม่สามารถชี้แจงหรือตอบคำถามกับสังคมได้  
                           
<"">

ดังนั้น การเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลอย่าง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ พธม . รวมถึง กลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม หรือ อพส.จะกลับเข้าสู่การเคลื่อนไหวคัดค้านการทำงานของรัฐบาลได้รุนแรงขึ้น เนื่องจากมีการขีดเส้นปัจจัยสำคัญไว้ก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การนิรโทษกรรม และ เมื่อรวมกับกรณีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตัดสินคดีพิพาทปราสาทพระวิหาร จะกลายเป็นชนวนที่สามารถจุดกระแสของความไม่พอใจรัฐบาลได้ และอาจเป็นประเด็นที่อ่อนไหวอย่างมากในช่วงปี 56ของรัฐบาล ที่จะต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มมวลชนที่อาจยืนระยะยาวและอาจไม่ง่ายเหมือนเช่นกับการชุมนุมของ อพส.ในช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา
 
จริงอยู่ที่ว่าในการคัดค้านรัฐบาลของกลุ่มอพส.ที่ผ่านมาจะยุติลงอย่างรวดเร็ว แต่ประเด็นที่ร้อนอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเชื่อมโยงกับการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะทำให้สามารถจุดกระแสการต่อต้านรัฐบาลที่เข้มข้นได้ เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีประเด็นที่ร้อนแรงเพียงพอ ” รศ.ยุทธพร ระบุ

นอกจากนี้ยังมีมวลชนที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน ในประเด็นการกำหนดวาระในการดำรงตำแหน่ง ที่ยังคงเป็นประเด็นอ่อนไหว ซึ่ง หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าในการจำกัดอายุกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน โดยยังไม่สามารถชี้แจงทำความเข้าใจได้ ก็อาจจะนำไปสู่ผลกระทบในด้านฐานเสียงของพรรค และไปจนถึงการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลก็เป็นไปได้ โดยเฉพาะตัวเลขกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านที่มีไม่น้อยหรือราว ๆ 3 แสนคนทั่วประเทศ

ขณะที่การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เมื่อพิจารณาในช่วงปีที่ผ่านมา จะพบว่าระดับความรุนแรงนั้นเพิ่มมากขึ้น มีการก่อเหตุที่รุนแรงมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงตัวเลขการสังหารครูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้วกว่า 156 คน จากนี้ไปการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย และ ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศปก.กปต. จะต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและมีรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบสามารถที่จะก่อความรุนแรงยกระดับขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างมีนัยสำคัญทางความมั่นคง การแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กยังคงเป็นโจทย์ที่รัฐบาลจะต้องแก้ไขให้ได้
                         

<"">

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากภายนอกประเทศ โดยเฉพาะการถ่วงดุลอำนาจระหว่าง "สหรัฐอเมริกา" และ "จีน" ซึ่งที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าประเทศมหาอำนาจทั้ง 2 พยายามเข้ามามีบทบาทในพื้นที่อาเซียนอย่างมาก โดยเริ่มจากประเทศพม่าที่มีการเข้ามาลงทุนอย่างมากจากทั้ง 2 ประเทศหลังจากการเปิดประเทศ ซึ่งพม่าก็พยายามที่จะรักษา สมดุลดังกล่าวนี้ ซึ่งกลับมาในฝั่งของประเทศไทยนั้นความเคลื่อนไหวเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้น และรัฐบาลต้องรักษาสมดุลให้ดี เนื่องจากกรณีนี้ได้เคยสร้างสร้างผลกระทบกับรัฐบาลมาแล้ว กับกรณีการขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี ในการสำรวจเมฆขององค์การนาซ่า ซึ่ง หากยังมีความเคลื่อนไหวที่อาจเชื่อมโยงกับด้านความมั่นครัฐบาลก็จะต้องเผชิญกับแรงกดดันอีกครั้ง

และสุดท้าย ก็คือ ประเด็นการใช้นโยบายประชานิยม ที่อาจจะส่งผลกระทบไม่น้อยก็คือ นโยบายค่าแรง 300 บาทที่ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ที่รัฐบาลจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจน นโยบายรับจำนำพืชผลการเกษตร โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ที่รัฐบาลจะต้องพิสูจน์ความโปร่งใสในโครงการดังกล่าวให้ได้ หลังจากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจถูกโจมตีอย่างนักในประเด็นการระบายข้าว รวมถึงการรักษาคุณภาพของข้าว และการลดต้นทุนในการทำนาในส่วนของสารเคมี ยาปราบศัตรูพืช ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงควบคู่กันไปด้วย
                        

<"">

สอดคล้องกับที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่า สภาพการเมืองในช่วงปี 56 ยังคงมีความน่าวิตก จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการผลักดัน พ.ร.บ.ปรองดอง หรือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการดำเนินคดี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพเทือก สุบรรณ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ แจ้งข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผลจากกรณีการสลายการชุมนุมทางการเมืองปี 53  ซึ่ง อาจมองได้ เป็นความพยายามที่จะดึงไปสู่การดำเนินการ นิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วง 4 - 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่การนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งจุดนี้จึงน่าวิตกว่าจะนำไปสู่การที่ปลุกแสของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและนำไปสู่การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอีกครั้ง

การที่คดีของคุณสุเทพและคุณอภิสิทธิ์ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้น มองได้ว่าเป็นความพยายามที่จะนำไปสู่การนิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่ายที่อยู่ช่วงของความขัดแย่งทางการเมืองในช่วง 5 - 6  ปีที่ผ่านมา และ พ.ต.ท.ทักษิณก็จะได้ประโยชน์ด้วยเช่นเดียวกัน” นพ.วรงค์ ระบุ

ขณะที่ นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช .ที่มองว่า การที่รัฐบาลเลือกแนวทางการจัดทำประชามติ หรือ สานเสวนา เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูฯญในวาระที่ 3 นั้นแม้ว่าจะเป็นทางออกในทางหนึ่งที่ช่วยลดอุณหภูมิร้อนทางการเมืองไปได้ แต่ส่วนหนึ่งก็คือ ในภาพรวมที่กลุ่มความคิดต่าง ๆ ยังคงขัดแย้ง และบรรยากาศของการรณรงค์การทำประชามติ จะถูกนำไปสู่การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ของคนในสังคม 2 กลุ่มคือ “กลุ่มรักทักษิณ” และ “กลุ่มต่อต้านทักษิณ” และด้วยตัวเลขของผู้ใช้สิทธิตาม ม.165 ที่ต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 48 ล้านคน หรืออยู่ที่ประมาณ 24 ล้านเสียง ซึ่งถือว่าเป็นการต่อสู้ที่ต้องพิจารณาต่อไปว่าจะช่วยให้สังคมเข้าใจมากขึ้น หรือ เพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น แต่เชื่อว่ามวลชน นปช.จะสามารถช่วยในการทำประชามติดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วงได้

สิ่งที่น่าวิตก คือ การทำประชามติด้วยเสียงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือ 20 กว่าล้านเสียงนั้น ในเชิงสัญลักษณ์ นั่นคือการแบ่งแยกทางความคิดของผู้ที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ และผู้ที่รัก พ.ต.ท.ทักษิณกับการลงประชามติดังกล่าว แต่ ก็เชื่อว่ากลุ่มมวลชนนปช.จะสามารถช่วยให้การลงประชามติผ่านพ้นไปได้ ” สงวน เผย

ดังนั้น สภาพการเมืองไทยในปีหน้าแม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาจะถือว่าไม่ร้อนแรงนัก แต่ในปี 56 ยังถือว่ามีปัจจัยเสี่ยงไม่น้อย โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการตัดสินคดีพิพาทปราสาทพระวิหาร รวมถึงปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ และการเคลื่อนไหวจากประเทศมหาอำนาจ แต่อย่างไรก็ตาม ภาคการเมืองที่ยังคงเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ ก็ยังคงถือว่าหากรัฐบาลเลือกใช้แนวทางที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง สามารถตอบข้อคำถามของทุกฝ่ายได้ก็จะสามารถช่วยให้สภาพการเมืองสามารถเดินต่อไปได้ โดยไม่มีปัญหาหรือเพิ่มความขัดแย้งเหมือนหลายปีที่ผ่านมา...


ข่าวที่เกี่ยวข้อง