เสรีภาพในละครการเมือง ในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน

Logo Thai PBS
เสรีภาพในละครการเมือง ในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน

แม้เสรีภาพในการแสดงออกจะเป็นสิทธิอันพึงมีที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ หากแต่บ่อยครั้งเมื่อเนื้อหาที่นำเสนอไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง ผู้ผลิตอาจตกเป็นเหยื่อและถูกริดรอนสิทธิอยู่เสมอ มีตัวอย่างสื่อละคร และภาพยนตร์ ที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง และได้รับการปฏิบัติจากรัฐแตกต่างกันไปค่ะ

เพราะถูกขุดคุ้ยเบื้องหลังว่ามีบิดาเป็นนักการเมืองฉ้อราษฎร์บังหลวง ทำให้ เคตะ อาซากุระ ครูผู้มาชิงตำแหน่ง ส.ส.จังหวัดฟุกุโอกะ ถูกผู้มารอฟังปราศัยตำหนิด่าทอ แต่แทนที่เขาจะโยนความผิดว่าเป็นเกมการเมืองของพรรคคู่แข่ง กลับใช้โอกาสนี้ขอโทษแทนบิดาที่เคยทรยศประชาชน และไม่เห็นด้วยกับความคิดของพ่อที่ว่า การเมืองมีค่าใช้จ่ายสูง จึงต้องโกงกินบ้านเมืองเพื่อความอยู่รอด เพราะครูอย่างเขาไม่คิดว่าความชั่วร้ายเป็นสิ่งจำเป็นบนโลกใบนี้ คือเนื้อหาสะท้อนภาพเน่าเฟาะทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมาในละครเรื่อง Change นายกฯ (มือใหม่) หัวใจประชาชน แม้ละครซึ่งดูหนักเคร่งเครียดจะทำให้เรตติ้งช่วงกลางต่ำกว่าร้อยละ 20 แต่ความโดดเด่นของเนื้อหาที่ตีแผ่การเมืองในญี่ปุ่นก็ชนะใจผู้ชมจนทำเรตติ้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีเรตติ้งตอนจบที่สูงเกือบร้อยละ 30

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ละครที่นำประเด็นทางการเมืองมาตีแผ่ได้รับความสนใจจากแฟนละครเสมอ ทั้ง Yes Minister ละครซิดคอมของอังกฤษ เป็นเรื่องราวของข้าราชการที่ต้องอยู่ตรงกลางความขัดแย้งระหว่างนายกรัฐมนตรี และสำนักราชเลขาธิการ ถูกนำมาสร้างใหม่หลายครั้ง และมีการดัดแปลงเป็นละครเวที ส่วนสหรัฐฯ มี The West Wing เป็นผลงานเชิดหน้าชูตาวงการละครอเมริกา การันตีด้วย 26 รางวัลเอมมี อวอร์ดส์ ซึ่งตีแผ่เบื้องหลังการทำงานของรัฐบาลในทำเนียบขาว ทำยอดผู้ชมได้ถึง 16 ล้านคนต่อสัปดาห์ แม้แต่ผลงานโทรทัศน์ที่วิจารณ์นักการเมืองที่มีตัวตนอยู่จริงๆ ก็เป็นที่นิยม ทั้ง The Kennedys ที่เผยชีวิตรุ่งโรจน์ และตกต่ำของครอบครัวนักการเมืองตระกูลเคเนดี้ หรือ Game Change ภาพยนตร์ทางช่อง HBO ที่ย้อนรอยความล้มเหลวในการหาเสียงของ จอห์น แม็คเคน และ ซาร่า เพลิน ซึ่งแม้แต่ สตีฟ ชมิดท์ หัวหน้าทีมรณรงค์หาเสียงของรีพับลิกันยังยกย่องผู้สร้างที่นำเสนอออกมาได้อย่างแยบยล

อำนาจที่สามารถเข้าถึงมวลชน ทำให้บ่อยครั้งสื่อถูกคุกคามโดยรัฐ ตั้งแต่ช่วงปฎิวัติฝรั่งเศสปี 1848 มีการเซนเซอร์เนื้อหาการเมืองทั้งในหนังสือพิมพ์ และละครเวที ซึ่งถือเป็นวิธีนี้ควบคุมความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างมีประสิทธิภาพโดยพรรคคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต จนเป็นแบบอย่างให้กับผู้นำเผด็จการมากมายนำไปใช้ทั้ง นิโคไล เชาเชสคู ของโรมาเนีย จนถึง ซัดดัม ฮูสเซน อดีตผู้นำของอิรัก

ปัจจุบันสื่อยังคงถูกคุกคามจากอำนาจรัฐอยู่เสมอ ทั้งการออกมาคว่ำบาตรเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์โดยกระทรวงวัฒนธรรมของอิตาลี หลังอนุญาตให้มีการฉาย Draquila–Italy Shakes สารคดีโจมตี ซิลวิโอ้ แบลูสโคนี่ ผู้สร้างภาพจากการลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว เพื่อลบภาพตนเองจากคดีอื้อฉาวทางเพศ การคว่ำบาตรงานแจกรางวัลออสการ์ของรัฐบาลอิหร่านเพื่อประท้วงหนังหมิ่นศาสนา จน A Club of Sugar ภาพยนตร์ตัวแทนของชาติหมดสิทธิ์เข้าชิงไปโดยปริยาย เช่นเดียวกับการควบคุมสื่อของทางการจีนที่ทำให้เกิดการรวมตัวของผู้กำกับแดนมังกร ออกมาวิจารณ์ว่าการควบคุมเนื้อหาทำให้หนังจีนไม่สามารถสะท้อนความเป็นไปในสังคมได้อย่างแท้จริง

บ่อยครั้งที่การเซนเซอร์สื่อยังถูกตัดสินไม่ชอบด้วยกฏหมาย เช่นครั้งที่สถานีโทรทัศน์ BBC, ITV และ Channel 4 ถูกศาลอุทธรณ์ของอังกฤษตัดสินให้มีความผิดจากการเซนเซอร์หนังที่มีเนื้อหาต่อต้านการทำแท้ง หรือกรณีของ Hillary: The Movie ภาพยนตร์โจมตีนางฮิลลารี คลินตันโดยกลุ่มอนุรักษ์นิยม ที่เคยถูกศาลในวอชิงตัน ดี.ซี. ห้ามฉายทางโทรทัศน์ระหว่างมีการหาเสียง ก่อนศาลสูงจะกลับคำพิพากษา เนื่องจากมองว่าการห้ามฉายขัดต่อกฏหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออก โดยทางกูเกิล เซิร์ซเอนจิ้นชั้นนำและเจ้าของเว็บไซต์ยูทูป เผยว่าปัจจุบันได้รับการร้องเรียนจากรัฐบาลในหลายประเทศให้ลบเนื้อหาที่มีความเห็นทางการเมืองเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ขณะที่เว็บไซต์มีการลบเนื้อหาที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาถึงร้อยละ 97 จากคำร้องกว่า 3 ล้านครั้งเมื่อปี 2011 แต่กูเกิลแทบไม่ให้ความร่วมมือในการลบเนื้อหาทางการเมือง เนื่องจากเว็บไซต์ให้ความสำคัญต่อสิทธิในการรับรู้ของผู้ใช้เป็นหลัก


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง