เปิดสถิติ "หนี้" ข้าราชการไทย สูง 1.1 ล้านบาทต่อครอบครัว

สังคม
8 ม.ค. 56
12:29
746
Logo Thai PBS
เปิดสถิติ "หนี้" ข้าราชการไทย สูง 1.1 ล้านบาทต่อครอบครัว

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ ผลการสำรวจภาวะการครองชีพของข้าราชการพลเรือนสามัญประจำปี 2555 พบหนี้สูง 1.1ล้านบาทต่อครอบครัว

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ ผลการสำรวจภาวะการครองชีพของข้าราชการพลเรือนสามัญประจำปี 2555 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จากตัวอย่างข้าราชการในสังกัด กพ.ในทุกจังกวัดทั้งสิ้น 13,252 ราย โดยมีผลสำรวจดังนี้

1. รายได้ของครอบครัวข้าราชการ
ครอบครัวข้าราชการทุกประเภทและระดับตำแหน่งทั่วประเทศ มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 49,915 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าตอบแทนที่ได้รับเป็นประจำจากการทำงาน เช่น เงินเดือน/เงินประจำตำแหน่ง และเงินเพิ่มเติมพิเศษ (ร้อยละ 83.0) รองลงมาคือรายได้จากการประกอบธุรกิจส่วนตัว (ร้อยละ 9.4) รายได้ที่ได้รับเป็นครั้งคราว เช่น ค่าเบี้ยประชุม/ค่าล่วงเวลา/โบนัส (ร้อยละ 2.3) รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน (ร้อยละ 1.5) และรายได้อื่น ๆ เช่น ดอกเบี้ยเงินปันผล และเงินช่วยเหลือจากบุคคลอื่น/รัฐ เป็นต้น (ร้อยละ 3.8)

2. ค่าใช้จ่ายของครอบครัวข้าราชการ
ครอบครัวข้าราชการทุกประเภทและระดับตำแหน่งทั่วประเทศ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 41,081 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม (ร้อยละ 20.6) รองลงมาคือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทาง / การสื่อสาร (ร้อยละ 15.1) ค่ายานพาหนะ / อุปกรณ์ (ร้อยละ 13.5) ค่าเครื่องแต่งบ้าน / เครื่องใช้เบ็ดเตล็ดฯ (ร้อยละ 9.2) ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล / เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (ร้อยละ 8.4) การศึกษา (ร้อยละ 7.0) การบันเทิง / การอ่าน (ร้อยละ 5.4) ยา เวชภัณฑ์และค่ารักษาพยาบาล (ร้อยละ 3.5) ค่าที่อยู่อาศัย (ร้อยละ 2.6) ค่าจ้างส่วนบุคคลและค่าใช้จ่ายสมทบ (ร้อยละ 1.3) สำหรับค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค เช่น ค่าภาษี ค่าเบี้ยประกันภัย ค่าซื้อสลากกินแบ่ง ฯลฯ มีร้อยละ 13.4

3.หนี้สินของครอบครัวข้าราชการ
ครอบครัวข้าราชการทุกประเภทและระดับตำแหน่ง มีหนี้สินร้อยละ 83.2 มีจำนวนหนี้เฉลี่ย 1,111,425 บาทต่อครอบครัวที่มีหนี้ และพบว่าข้าราชการประเภททั่วไปมีสัดส่วนของครอบครัวที่เป็นหนี้สูงสุด (ร้อยละ 86.3) รองลงมาคือข้าราชการประเภทวิชาการและอำนวยการ (ร้อยละ 83.4 และ 65.5) ส่วนข้าราชการประเภทบริหารมีสัดส่วนที่เป็นหนี้ต่ำสุด (ร้อยละ 31.9) แต่จำนวนเงินที่เป็นหนี้กลับพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามประเภทและระดับตำแหน่งที่สูงขึ้น กล่าวคือประเภทบริหารมีจำนวนหนี้สินเฉลี่ยสูงสุด (1,511,645 บาท) และข้าราชการประเภททั่วไปมีจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่ำสุด (996,931 บาท)

4. วัตถุประสงค์ของการเป็นหนี้ของครอบครัวข้าราชการ
หนี้สินเพื่อที่อยู่อาศัยสูงที่สุดคือร้อยละ 54.7 รองลงมาเป็นหนี้เพื่อซื้อหรือซ่อมแซมยานพาหนะ (ร้อยละ 16.5) เพื่อใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภค (ร้อยละ 15.4) เพื่อการลงทุนในธุรกิจของครอบครัว (ร้อยละ 5.9) และหนี้สินเพื่อการศึกษา (ร้อยละ 3.6)

5. เปรียบเทียบราคารายได้ ค่าใช้จ่าย หนี้สิน และหนี้สินต่อรายได้ ในปี 2551 – 2555
เมื่อเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย หนี้สิน และหนี้สินต่อรายได้ของครอบครัวข้าราชการ ปี 2551 – 2555 พบว่า ครอบครัวข้าราชการมีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย โดยรายได้และค่าใช้จ่ายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกล่าวคือรายได้เพิ่มจาก 41,139 บาท ในปี 2551 เป็น 43,650 บาท และ 49,915 บาท ในปี 2553 และ 2555 ตามลำดับ ส่วนค่าใช้จ่ายในปี 2553 ลดลงจากปี 2551 เล็กน้อย จากนั้นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2555 คือจาก 32,411 บาท ในปี 2551 เป็น 41,081 บาท ในปี 2555

สำหรับครอบครัวข้าราชการที่มีหนี้มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 84.0 ในปี 2551 เป็น 83.2 ในปี 2555 เมื่อพิจารณาจำนวนหนี้สินพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 749,771 บาท ในปี 2551 เป็น 1,111,425 บาท ในปี 2555 และพบว่าหนี้สินต่อรายได้ของครอบครัวข้าราชการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 18.2 เท่า ในปี 2551 เป็น 20.0 เท่า ในปี 2553 และ 22.3 เท่า ในปี 2555


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง