นักวิชาการชี้ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์” ลงชิงผู้ว่าฯ กทม.สมัยที่ 2 ปชช.อาจเบื่อหน่ายเพราะผลงานไม่โดดเด่น

การเมือง
8 ม.ค. 56
14:34
66
Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์” ลงชิงผู้ว่าฯ กทม.สมัยที่ 2 ปชช.อาจเบื่อหน่ายเพราะผลงานไม่โดดเด่น

การส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ลงชิงผู้ว่าฯ กทม.สมัยที่ 2 ของพรรคประชาธิปัตย์ นักวิชาการ และภาคประชาชนมองว่า อาจทำให้คน กทม.เบื่อหน่าย เพราะผลงานตลอด 4 ปี กลับไม่โดดเด่น รวมถึงการแก้ปัญหาในหลายประเด็นก็ยังไม่มีความชัดเจน

คำยืนยันจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่เตรียมยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระภายในวันพรุ่งนี้ (9 ม.ค.) เพื่อจะได้มีเวลาในการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์ มีมติส่งลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.เป็นสมัยที่ 2

ตลอดเวลา 4 ปี ในเก้าอี้ ผู้ว่าฯ กทม.ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ หากวิเคราะห์ในด้านผลงานการบริหาร และการแก้ปัญหาที่ผ่านมา นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า มองว่า ยังไม่มีอะไรที่เห็นเป็นรูปธรรม ขณะที่บุคคลิกของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ที่ทำงานแบบตามปัญหา และพรรคประชาธิปัตย์ ก็เลือกส่งลงสมัครเลือกตั้งสมัยที่ 2 อาจทำให้คน กทม.เบื่อหน่าย

ทั้งนี้ยังเชื่อว่า แม้จะไม่ประทับใจตัวบุคคล แต่หากมองที่ฐานเสียงใน กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังเหนือกว่าพรรคเพื่อไทย ดังนั้นสิ่งที่น่าจับตาคือกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจถึงร้อยละ 40 อาจเป็นตัวตัดสินคะแนน

ผลงานที่ไม่โดดเด่น ไม่เป็นที่จดจำของคนกทม. ประธานสมัชชาสภาองค์กรชุมชนกรุงเทพมหานคร จึงให้คะแนนตลอดการทำหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม.ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ว่าสอบไม่ผ่าน และเสียดายที่ผู้ว่าฯ กทม.คนนี้ ไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น เหมือนสมัย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม.ทั้งที่มาจากพรรคเดียวกัน โดยอ้างระเบียบ กฎเกณฑ์การบริหารงาน กทม.ที่แข็งตัวเกินไป ทั้งๆ ที่ชุมชนมีศักยภาพมากพอที่จะขับเคลื่อน

ส่วนการบริหารงานก็ไม่มีประสิทธิภาพ เห็นชัดเจนในการแก้ปัญหาวิกฤติน้่ำท่วม ปลายปี 2554 แม้แต่อุโมงค์ยักษ์ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง รวมถึงปัญหาการต่อสัญญาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส และการก่อสร้างสนามบางกอกฟุตซอล อารีนา หนองจอก ที่เสร็จไม่ทันใช้งาน

การปรับโครงสร้างบริหารงาน กทม.ใหม่ และเน้นให้ความสำคัญกับการมีบทบาทของชุมชน เป็นข้อเสนอที่สมัชชาสภาองค์กรชุมชน กทม.ฝากไปยังผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่ควรนำไปพิจารณาเพื่อการบริหารงานในอีก 4 ข้างหน้า สำหรับผลโพลหลายสำนักที่สำรวจการตัดสินใจของคนกรุงในการเลือกผู้ว่าฯ กทม.พบว่าผู้สมัครจากทั้ง 2 พรรคใหญ่ยังคงมีคะแนนที่สูสีกัน โดยมีผู้สมัครอิสระเป็นตัวสอดแทรก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง