ดีเอสไอ-กทม. เห็นต่างกันในข้อกฎหมายคดีต่อสัญญาบีทีเอส

การเมือง
9 ม.ค. 56
03:13
45
Logo Thai PBS
ดีเอสไอ-กทม. เห็นต่างกันในข้อกฎหมายคดีต่อสัญญาบีทีเอส

กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตั้งข้อกล่าวหาผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ข้าราชการ และคู่สัญญา กรณีการต่ออายุการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส สิ่งที่ทั้ง 2 ฝ่ายมองต่างกัน คือ การตีความในข้อกฎหมาย ที่ต่างหยิบยกกฎหมายคนละฉบับขึ้นมากล่าวอ้าง

กรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุ การต่ออายุการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส อีก 30 ปี ที่กรุงเทพมหานคร ว่าจ้างบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ให้ทำสัญญา กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด มหาชน หรือ บีทีเอสซี เป็นการกระทำผิดตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ข้อ 3 และข้อ 11

โดยประกาศดังกล่าว ระบุว่า การต่อสัญญาสัมปทานเกี่ยวกับกิจการรถราง การประปา การไฟฟ้า ต้องดำเนินการโดยได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งตามสัญญาเดิมที่ลงนามไว้กับบีทีเอสซีนั้น มีระยะเวลา 30 ปี ซึ่งสัมปทานจะสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2572 และได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่การดำเนินการครั้งใหม่เป็นการต่ออายุสัมปทาน โดยไม่ได้รับอนุญาต

ขณะที่ข้อชี้แจงถึงการทำสัญญาในกรณีนี้ของ กทม. ระบุว่า การต่อสัญญาการเดินรถครั้งนี้ไม่ใช่การต่อสัญญาสัมปทาน จึงไม่เข้าข่ายประกาศคณะปฏิวัติ และเป็นการดำเนินการจ้างตาม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กทม. ปี 2528 จึงไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมอ้างข้อกฎหมายว่า ได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 281 และมาตรา 283 ที่ให้อำนาจในการดำเนินการกับ กทม.

แม้คดีดังกล่าวกฎหมายจะมีบทลงโทษไม่มากนัก คือจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท แต่คดีทางแพ่งอาจมีมูลค่าสูงถึง 200,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นการทำสัญญาที่มีระยะเวลานานถึง 30 ปี ขณะเดียวกันมีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การสั่งคดีในช่วงใกล้กับการเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ทำให้เลี่ยงไม่ได้กับข้อครหาว่าเป็นการดิสเครดิตทางการเมือง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง