เปิดฉากศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หลัง “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์” ลาออก เลือกตั้ง 3 มี.ค.

การเมือง
10 ม.ค. 56
03:30
135
Logo Thai PBS
เปิดฉากศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หลัง “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์” ลาออก เลือกตั้ง 3 มี.ค.

“คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์” ยืนยัน จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ขณะที่เมื่อวานนี้ (9 ม.ค.) “ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร” ผู้ว่าฯกทม. ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งทำให้เงื่อนไขเวลาการจัดการเลือกตั้งมีความชัดเจนแล้วว่า จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 3 มี.ค.นี้

กระแสการแข่งขันในการลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะมีกระแสไปที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของเก้าอี้ 2 สมัย กับพรรคเพื่อไทย พรรคใหญ่ที่มีแคนดิเดตผู้ลงสมัครคนสำคัญหลายคน แต่หากย้อนกลับไปนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งแรก เมื่อปี 2518 ที่ได้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจากพรรคการเมือง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯอยู่ 8 เดือน หลังจากนั้น ก็เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการแต่งตั้ง

8  ปีต่อมา คือในปี พ.ศ. 2528 ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.กลับมาใช้วิธีการเลือกตั้งอีกครั้ง ซึ่งหากนับตั้งแต่ปีนั้น จนถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดจะพบว่า ผู้สมัครในนามอิสระ ที่ไม่ได้มาจากนักการเมือง หรือเป็นนักการเมืองพรรคเล็ก ได้รับการเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. มากถึง 4 คน จากจำนวน 6 คน ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่า หากกระแสการแข่งขันที่รุนแรงในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นกระแสการโจมตีกันของนักการเมือง มีความเป็นไปได้ว่า คนกรุงเทพฯ อาจตัดสินใจเลือกผู้ลงสมัครอิสระที่ไม่สังกัดพรรคใหญ่

ส่วนกระแสการแข่งขันของ 2 พรรคใหญ่ ที่ขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์ เปิดตัว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ลงสมัครอีกครั้ง หลังนั่งใจตำแหน่งนี้มาแล้ว 2 สมัย พร้อมชูยุทธศาสตร์สานความสำเร็จจากการแก้ปัญหาที่ทำไว้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำท่วม ที่พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์

ขณะที่พรรคเพื่อไทย กลับมองในมุมที่ต่างออกไป เพราะเห็นว่า หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ มีจุดอ่อนในการบริหารจัดการเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 และเตรียมส่ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ลงชิงตำแหน่ง ซึ่งแม้ขณะนี้ยังไม่ประกาศชัดเจน แต่ขณะนี้ยังไม่ปรากฏรายชื่ออื่นนอกเหนือไปจากนี้

สำหรับขั้นตอนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หลังจากนี้ ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งท้องถิ่นประจำกรุงเทพมหานคร จะประกาศวันเลือกตั้ง และวันรับสมัครอย่างเป็นทางการตามกฎหมาย ซึ่งคาดว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ 3 มีนาคม และรับสมัตรในวันที่ 21-25 มกราคม ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า

ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร หรือ กกต.กทม. จะจัดให้มีโครงการเลือกตั้งสมานฉันท์ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง เพื่อเป็นการทำความเข้าใจกับผู้สมัคร ทั้งในเรื่องข้อกฎหมาย ข้อห้ามต่างๆ ร่วมถึงแนวทางการปฏิบัติ ส่วนผู้ที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน กทม.ไม่น้อยกว่า 1 ปี และเกิดก่อน 3 มกราคม 2538 หรือผู้ที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์

 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง