“Hear Here” นิทรรศการเสียงครั้งแรกในไทย

Logo Thai PBS
“Hear Here” นิทรรศการเสียงครั้งแรกในไทย

หลายครั้งที่เสียงในชีวิตประจำวันถูกมองข้าม แต่แท้จริงแล้วคนเราสามารถเรียนรู้เรื่องราวมากมายได้จากเสียงเหล่านั้น การเปิดประสบการณ์ใหม่จากเสียงเดิมๆ ที่รับฟังกันเป็นประจำในนิทรรศการเสียงครั้งแรกของประเทศไทย “Hear Here” ไม่เพียงกระตุ้นให้หันมาใส่ใจสิ่งรอบตัวมากขึ้น หากยังสะท้อนมุมมองชีวิตดีๆ ที่อาจถูกละเลยไปในปัจจุบัน

วรงค์ ราชปรีชา และ พร้อมวุฒิ อัศวโสภณกุล ใช้เวลาหนึ่งเดือนเต็มในการออกแบบสร้างสรรค์ “Why you hear (here?)” ที่เพียงหมุนฟันเฟืองเดียว กลายเป็นกลไกให้ฟันเฟืองไม้ทั้ง 9 ขับเคลื่อนกระทบกันจนเกิดเป็นเสียง นอกจากแสดงระบบเครื่องจักรกลที่แต่ละชิ้นไม่สามารถทำงานได้โดยลำพังแล้ว ยังสะท้อนโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เคยหยุดนิ่ง หากยังขับเคลื่อนไปด้วยมนุษย์แต่ละ นี่เป็นหนึ่งใน 8 ผลงานจากศิลปิน 10 คน ที่ร่วมส่งเสียงให้คนในสังคมให้หันมาฟังกันและกันมากขึ้น ในนิทรรศการจัดวางเสียง “Hear Here”

“ชุดกลไกเปรียบเสมือนสังคม มนุษย์ก็เหมือนเป็นส่วนเล็กๆ ในระบบกลไก ถ้าอยู่ชิ้นเดียวโดดๆ มันทำอะไรไม่ได้เลย แต่พอมีตั้งแต่ 2 ชิ้นขึ้นไป มันเริ่มมีประโยชน์ เริ่มเป็นระบบจักรกลขึ้นมา ก็เหมือนสังคมที่ปรับเปลี่ยนไปตามปัจเจกบุคคล” วรงค์ ราชปรีชา กล่าว

กว่า 120 ภาพวาดสีสันสดใสแสดงปฏิกิริยาแตกต่างของหญิงสาวเมื่อได้ยินเสียง ถูกร้อยเรียงเป็นแอนิเมชั่น สะกดผู้ชมให้เฝ้ารอฟังเสียงของเธอ ก่อนต้องผิดหวัง เพราะไม่มีเสียงใดๆ เปล่งออกมาจากเธอ ไม่เพียงทำให้รับรู้พลังของเสียงผ่านการรับรู้ทางสายตา แต่ความเงียบยังเปิดโอกาสให้ผู้คนได้รับฟังเสียงรอบข้างมากขึ้น เป็นอีกหนึ่งแนวคิดปรัชญาที่สะท้อนผ่านงาน “Hear Their Everyware”

ศิลปินจะใช้เสียงคนอื่น ยืมเสียงของศิลปินคนอื่นมาประกอบงาน ทั้งงานจะมีความเงียบตลอด ถ้าเราเงียบ เราจะได้ยินเสียงของคนอื่น เสียงรอบๆ ตัวเราชัดขึ้น แล้วเมื่อกลับมามองตัวเอง ก็จะได้ยินเสียงตัวเราชัดขึ้นด้วย เช่นเสียงที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน เช่น เสียงหายใจ หัวใจเต้น ซึ่งสำคัญนะที่เราได้ยินเสียงของตัวเอง

จริงๆ แล้วการทำงานศิลปะ หรืออะไรก็ตาม กลับไปตอบคำถามในตัวเราว่า เราเกี่ยวข้องกับคนรอบข้างอย่างไร จะอยู่กับคนรอบข้างอย่างไร ด้วยสภาพสังคม หรืออะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว การฟังจริงๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ

การรับรู้เสียงที่เกิดขึ้นรอบตัวผ่านงานศิลปะจัดวาง นอกจากสะท้อนความเป็นไปในสังคมปัจจุบัน ยังกระตุ้นให้ผู้คนสังเกต เรียนรู้ และทำความเข้าใจกับเสียงของตัวเองและคนรอบข้างมากขึ้น เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่น ร่วมเปิดหู เปิดตา เปิดใจ รับฟังเสียงของตัวเอง และคนรอบข้างได้ ในนิทรรศการจัดวางเสียง “Hear Here” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2556


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง