สืบความสัมพันธ์พม่า-รามัญ จากทางดนตรี

Logo Thai PBS
สืบความสัมพันธ์พม่า-รามัญ จากทางดนตรี

หากเสน่ห์ของภูมิภาคอาเซียนคือการผสมผสานกันทางวัฒนธรรม ดนตรีไทยก็ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนของการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้าน ทำให้กลุ่มนักศึกษาด้านดนตรีลงลึกศึกษาทำนองเพลงพื้นถิ่น ที่ได้รับอิทธิพลจากเพื่อนบ้าน

แม้เนื้อร้องจะเปลี่ยนจากภาษามอญทั้งหมด เป็นการผสมเนื้อร้องภาษาไทยในบางวรรค แต่สำหรับผู้แสดง “แตะแหยะฮ์” หรือทะแยมอญ การเปล่งเสียงร้องจะต้องชัดถ้อยชัดคำนี่เป็นหนึ่งในเคล็ดการแสดงที่นักศึกษาสาขาวิชาสังคีตศิลป์ไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร ใช้เวลากว่า 3 เดือนศึกษาจากต้นตำรับ “คณะหงส์ฟ้ารามัญ” ของชุมชนมอญบางกระดี่ ไม่เพียงเรียนรู้การละเล่นเก่าแก่ แต่ยังเห็นถึงความคล้ายคลึงและแตกต่าง ทั้งเครื่องดนตรีและสำเนียงมอญ ซึ่งเป็นหนึ่งในทำนองเพลงที่มีอิทธิพลในวงการดนตรีไทย

ไม่เพียงสำเนียงเพลงมอญที่มีอิทธิพลต่อดนตรีไทยเท่านั้น สำเนียงจากเพื่อนบ้านใกล้กันอย่าง “พม่า” ยังปรากฎทั้งในดนตรีไทยล้านนา ดนตรีไทยภาคกลาง รวมถึงดนตรีภาคอีสานเห็นชัดจาก “ลายเต้ยพม่า” ในการลำเต้ยสามจังหวะ ผลงานการแสดงจากการศึกษาดนตรีพื้นถิ่นโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด ตั้งใจนำศิลปะการแสดงพื้นบ้านแลกเปลี่ยนกับเพื่อนนักศึกษาต่างสถาบันและสะท้อนพรมแดนทางดนตรีอุษาคเนย์ที่ไม่มีเส้นกั้น

ดนตรีมอญและพม่า มีความคล้ายคลึงกับดนตรีไทยทั้งในด้านเครื่องเล่น เช่น ฆ้อง ซอ และปี่ ไปจนถึงทางเพลง ปรากฎหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และได้รับการประพันธ์โดยครูเพลงในแต่ละยุคอย่างต่อเนื่อง เส้นทางการแลกเปลี่ยนอาจไม่มีที่มาแน่ชัด แต่สิ่งสำคัญคือความพยายามเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ ที่ยังคงรักษาตัวตนดนตรีอาเซียน ซึ่งมีอัตลักษณ์ที่การผสมผสานระหว่างกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง