“ศัลยกรรม” รู้ก่อนทำ สวยอย่างปลอดภัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

11 ม.ค. 56
04:09
3,172
Logo Thai PBS
“ศัลยกรรม” รู้ก่อนทำ สวยอย่างปลอดภัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

การทำศัลยกรรมความงามได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก โดยมีการทำศัลยกรรมกันแพร่หลายในโรงพยาบาล คลินิคเสริมความงามทั้งในต่างประเทศและต่างประเทศ ซึ่งผู้ทำศัลกรรมหลายคนประสบปัญหาหลังการทำศัลยกรรมไม่ได้ดังที่คาดหวัง บางรายเกิดอาการแพ้จนถึงขึ้นเสียชีวิต เพราะไม่มีการศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน หรือการไปทำศัลยกรรมเถื่อน

นายแพทย์กิดากร กิระนันทวัฒน์ อาจารย์สาขาวิชาศัลยศาสตร์ตกแต่ง ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ศัลยกรรมตกแต่ง  เป็นชื่อของ วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่ง  ซึ่งขอบข่ายงานครอบคลุมถึง การศัลยกรรมเพื่อเสริมสวย (Aesthetic/Cosmetic Surgery) และศัลยกรรมเพื่อเสริมสร้าง แก้ไขความพิการต่างๆ(Reconstructive Surgery) รวมถึงความพิการแต่กำเนิด เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่  ใบหน้าและศีรษะผิดรูปแต่กำเนิด ภาวะพิการทางมือ นิ้วเกิน นิ้วติดกัน เป็นต้น และความพิการที่เกิดภายหลัง เช่น บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก  ความพิการที่เกิดจากการผ่าตัดมะเร็ง ในบริเวณต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งบริเวณศรีษะ ช่องปาก ใบหน้า เต้านม มือ แขน ขา เช่น ผู้ป่วยเป็นมะเร็งบริเวณขากรรไกร ต้องทำการตัดขากรรไกรออก จึงต้องได้รับการนำเอากระดูกชิ้นเล็กที่ขามาเสริมสร้างให้เป็นขากรรไกรใหม่ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด หรือความพิการที่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ผู้ป่วยตกตึกรอดชีวิตแต่กระดูกใบหน้าแตกละเอียด ศัลยแพทย์ตกแต่งก็จะเป็นผู้ที่ทำการผ่าตัดจัดกระดูกใบหน้าให้ใกล้เคียงกับปกติ สามารถทำงานได้ใกล้เคียงเดิม และมีลักษณะภายนอกใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด เป็นต้น

ส่วนศัลยกรรมเสริมสวย หมายถึงการทำให้ผู้ที่ปกติอยู่แล้ว ดูดีขึ้นกว่าปกติ (beautiful normal) จำแนกได้ตามอวัยวะต่างๆ เช่น ศัลยกรรมตา ศัลยกรรมตกแต่งจมูก ปาก โครงหน้า ศัลยกรรมดึงหน้าแก้ไขใบหน้าเหี่ยวย่น ศัลยกรรมปลูกผม ศัลยกรรมเสริม ยกกระชับ หรือ ลดขนาดหน้าอก  ศัลยกรรมปรับรูปร่าง (Body contouring) รวมถึงการดูดไขมัน ตัดไขมันหน้าท้องส่วนเกิน  ศัลยกรรมตกแต่งอวัยวะเพศชายและหญิง ศัลยกรรมแปลงเพศ เป็นต้น โดยเนื้องานทั้งเสริมสวยและเสริมสร้าง ต้องอาศัยความรู้วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ผสมผสานกับศิลปะ และฝีมือที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี จึงจะทำงานให้ผลงานออกมาดีได้ ซึ่งการผ่าตัดเสริมสวยและเสริมสร้าง ส่งผลสนับสนุนเกื้อกูลกันไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ คือ ถ้าศัลยแพทย์มีความสามารถในการผ่าตัดเสริมสร้างได้ดี จะส่งผลให้ทำการผ่าตัดเสริมสวยได้อย่างมั่นใจและได้ผลดีด้วย

ทั้งนี้ ผู้ที่จะเป็นศัลยแพทย์ตกแต่งได้ต้องได้รับการอบรมเป็นระยะเวลา 5-6 ปี โดยหลักสูตรเก่า แพทย์จะต้องเข้ารับการฝึกอบรมสาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป 4 ปี และสอบทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติจนได้ "วุฒิบัตรศัลยศาสตร์ทั่วไป(General Surgery)" ก่อน จากนั้นจึงทำการศึกษาต่อยอดในสาขาศัลยศาสตร์ตกแต่งอีก 2 ปี รวมใช้เวลา 6 ปี เมื่อผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตร จะต้องสอบวัดความรู้เกี่ยวกับศัลยศาสตร์ตกแต่ง ทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ โดยจะต้องสอบผ่านทั้งหมดจึงจะได้รับ "วุฒิบัตรศัลยศาสตร์ตกแต่ง" ได้ ส่วนหลักสูตรใหม่ในปัจจุบันแพทย์ผู้เข้ารับการอบรมจะเข้ารับการฝึกทักษะด้านศัลยศาสตร์ทั่วไป 2 ปี จากนั้นเข้ารับการฝึกอบรมด้านศัลยศาสตร์ตกแต่งต่ออีก 3 ปี รวมเป็น 5 ปี เมื่อเข้ารับการอบรมครบก็เข้ารับการสอบประเมินผลทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ

ประเทศไทยมีการควบคุมคุณภาพของ ศัลยแพทย์ตกแต่งมาก จึงสามารถผลิตศัลยแพทย์ตกแต่งได้ในปริมาณน้อย คือ 10-15 คน ต่อปี (เปรียบเทียบกับ 150-170 คนต่อปีในประเทศเกาหลี) จึงทำให้ไม่พอรองรับการความต้องการของผู้ป่วย ประกอบกับศัลยกรรมเสริมสวยเป็นสาขาที่รายได้ตอบแทนสูง ส่งผลให้มีแพทย์อีกหลายสาขาเข้ามาสนใจงานด้านนี้มากขึ้น โดยเลือกงานที่เกี่ยวกับการตกแต่งอวัยวะที่แต่ละสาขาเกี่ยวโยงอยู่ อาทิเช่น ศัลยแพทย์ด้านหู คอ จมูก(ENT doctor) บางท่านก็ทำผ่าตัด เสริมจมูก หรือผ่าตัดตกแต่งใบหน้า (Facial cosmetic surgery), จักษุแพทย์ (Ophthalmologist) ก็มีการศึกษาเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับการตกแต่งและเสริมสร้างบริเวณรอบดวงตา (Oculoplastic surgery), อายุรแพทย์โรคผิวหนัง (Dermatologist) ก็มีสาขาเฉพาะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการผ่าตัดผิวหนัง (Dermatosurgery) หรือบางท่านก็ทำการดูดไขมัน, ศัลยแพทย์ทั่วไป (General surgery) หรือแม้แต่แพทย์ทั่วไป(General practisioner) บางท่านก็เข้ารับการอบรมเพิ่มเติมระยะสั้นและทำผ่าตัดบางอย่างที่เกี่ยวกับศัลยกรรมตกแต่ง โดยมักบอกว่าเป็น ศัลยแพทย์ด้านความงาม เป็นส่วนมาก

การเลือกแพทย์ ถ้าต้องการเข้ากับการผ่าตัดตกแต่งเสริมสวย ควรเลือกแพทย์ที่ได้รับวุฒิบัตรศัลยศาสตร์ตกแต่งโดยตรง (Board certified plastic surgeons)  เนื่องจากได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดีเพื่องานด้านนี้โดยตรง โดยสามารถเช็ครายชื่อได้จาก website ของสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย http://www.plasticsurgery.or.th หรือ สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย http://www.surgery.or.th

ส่วนทางเลือกอื่น อาจเลือกแพทย์ที่เข้ารับการอบรมเพิ่มเติมในสาขาเฉพาะของแต่ละอวัยวะ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ทุกสาขาจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมต่อยอดจากวุฒิบัตรเดิมอย่างน้อย 1 ปี อาทิเช่น อาจเข้ารับการศัลยกรรมรอบดวงตากับ จักษุแพทย์ที่จบการศึกษาอบรมต่อยอดด้าน ตกแต่งดวงตา (Oculoplastic surgery) เข้ารับการศัลยกรรมจมูกกับแพทย์หูคอจมูกที่จบการศึกษาอบรมต่อยอดด้านตกแต่งใบหน้า เป็นต้น   ทั้งนี้ทั้งนั้นควรระวังให้ดีไม่ควรเข้ารับการผ่าตัดกับแพทย์ที่ไม่ได้รับการอบรมจากหลักสูตรใดๆที่ได้รับการรับรอง และแอบอ้างต้นว่าเป็นศัลยแพทย์ด้านความงาม ซึ่งปัจจุบันนี้มีจำนวนมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งการผ่าตัดเสริมสวยเป็นงานฝีมือ ดังนั้นก่อนเข้ารับการผ่าตัดผู้เข้ารับบริการควรทราบผลงานที่ผ่านมาของศัลยแพทย์ได้ โดยการหาข้อมูลล่วงหน้า หรือรวมไปถึงการขอดูผลงานเก่าในขณะเข้าปรึกษาก็เป็นสิ่งที่สมควรกระทำ

ผลกระทบหลังการทำศัลยกรรมขึ้นอยู่กับการผ่าตัดแต่ละชนิด จะมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ กันไป เช่น ความเขียวช้ำบวม ระยะเวลาการพักรักษาตัว ส่วนการดูแลตัวเองกลังการทำศัลยกรรมขึ้นกับการผ่าตัดแต่ละอย่าง

ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงในการทำศัลยกรรม คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ความดันสูง เบาหวาน โรคหัวใจ หลอดเลือดสมองตีบ และยังไม่สามารถคุมให้อยู่ในภาวะใกล้ปกติได้ ผู้ที่เป็นโรคเลือดออกง่าย  จะทำให้เสี่ยงต่อการเสียเลือด, ผู้ที่มีความเสียงต่อการดมยาสลบ,ผู้ที่ทานยาต้านเกล็ดเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือดต่างๆ เช่น แอสไพริน เป็นต้น

 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง