วิจัยพบปัจจัยเสี่ยงเด็กติดบุหรี่ เริ่มสูบครั้งแรกอายุ 9-12 ปี

สังคม
11 ม.ค. 56
09:17
373
Logo Thai PBS
วิจัยพบปัจจัยเสี่ยงเด็กติดบุหรี่ เริ่มสูบครั้งแรกอายุ 9-12 ปี

ชี้เพื่อนตัวแปรสำคัญกระตุ้นให้ลองสูบบุหรี่ เสนอสร้างทักษะชีวิตให้เด็กรู้จักปฏิเสธ เกิดความเข้มแข็งในตัวเอง

 นายกมลภู ถนอมสัตย์ นักวิจัยสาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อวิจัยเรื่อง “ปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในระยะเริ่มต้นของนักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น” เมื่อปี 2553 โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชายมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 338 คน ในพื้นที่ จ.ตราด เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติต่อการสูบบุหรี่ การรับรู้ความสามารถ ในการหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เยาวชนมีพฤติกรรมในการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น โดยเยาวชนไทย อายุ 13-15 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่เฉลี่ยถึง ร้อยละ 16.40 โดยเพศชายมีอัตราสูบบุหรี่ ร้อยละ 25.40 ซึ่งเป็นชายมากกว่าหญิง 3.33 เท่า

 
นายกมลภู กล่าวว่า จากผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างอายุอยู่ระหว่าง 12- 15 ปี ร้อยละ 62.60 มีอายุที่เริ่มสูบบุหรี่ อยู่ที่ 9-12 ปี และร้อยละ 3.05 มีเริ่มสูบบุหรี่ที่อายุน้อยกว่า 9 ปี โดยกลุ่มตัวอย่างมีอัตราสูบบุหรี่อยู่ที่ ร้อยละ 38.76 ส่วนใหญ่มักสูบบุหรี่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น และเลื่อนจากระยะเริ่มต้นไปยังระยะติดบุหรี่ ใช้ระยะเวลานานพอสมควร ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่าง มีผู้ปกครองที่สูบบุหรี่ ร้อยละ 59.76 มีเพื่อนสนิทสูบบุหรี่ ร้อยละ 45.86  และครึ่งหนึ่งเคยถูกเพื่อนสนิทแนะนำให้ลองสูบบุหรี่ โดยพบว่านักเรียนชายที่เคยถูกเพื่อนชักชวนให้สูบบุหรี่มีแนวโน้มที่จะมีการสูบบุหรี่มากกว่าผู้ที่ไม่เคยถูกเพื่อนชักชวนให้สูบบุหรี่ เนื่องจากต้องการเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน กลัวเพื่อนดูถูกเหยียดหยาม นอกจากนั้นยังเป็นการทดสอบความกล้าหาญในหมู่นักเรียนชายอีกด้วย
 
“การวิจัยได้สำรวจถึงการรับรู้เพื่อหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ พบว่า นักเรียนชายชั้นมัธยมต้น กลุ่มที่มีความสามารถหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ต่ำ มีทัศนคติเห็นด้วยกับการสูบบุหรี่ ถ้ามีเพื่อนสนิทสูบบุหรี่ และเคยถูกชักชวนให้สูบบุหรี่ จะมีการเริ่มสูบบุหรี่ในช่วงวัยนี้มาก เช่นเดียวกับ กลุ่มตัวอย่างที่มีความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองต่ำ มีผู้ปกครองสูบบุหรี่ มีผลการเรียนต่ำ จะมีการตัดสินใจด้วยตัวเองในการหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่อย่างไม่เหมาะสม แต่หากเป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีความมั่นใจและเชื่อว่าตนเองมีคุณค่าก็จะหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ได้ดีขึ้น” นายกมลภูกล่าว
 
นายกมลภู กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบจะพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีการรับรู้ในการหลีกเลี่ยงบุหรี่ต่ำจะเสี่ยงที่จะเริ่มสูบบุหรี่เพิ่มเป็น 2.31 เท่าของกลุ่มที่รู้จักหลีกเลี่ยง และหากกลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติเห็นด้วยกับการสูบบุหรี่ ก็จะเสี่ยงที่จะเริ่มสูบบุหรี่ในระยะเริ่มต้นเป็น 2.61 เท่า ของกลุ่มที่มีทัศนคติไม่เห็นด้วย หากกลุ่มตัวอย่างเคยถูกเพื่อนชักชวนให้สูบบุหรี่ก็จะเพิ่มความเสี่ยง 2.91 เท่าของกลุ่มที่ไม่เคยถูกเพื่อนชวน และหากกลุ่มตัวอย่างมีเพื่อนสนิทสูบบุหรี่ ก็จะเสี่ยงเป็น 2.14 เท่าของกลุ่มที่ไม่มีเพื่อนสนิทสูบบุหรี่
 
น.ส.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผอ.ศจย.กล่าวว่า  ปัจจัยที่จะทำให้มีผลต่อการตัดสินใจเริ่มสูบบุหรี่ของนักเรียนชาย คือ 1.เพื่อนชวน 2.เพื่อนสนิทสูบบุหรี่ 3.ทัศนคติต่อบุหรี่ 4.ความสามารถในการหลีกเลี่ยงบุหรี่ ทั้งนี้ การป้องกันการเริ่มสูบบุหรี่ในระยะแรกในโรงเรียน สามารถทำได้โดยเน้นกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิต โดยเฉพาะการปฏิเสธเพื่อนที่ชวนให้สูบบุหรี่ โดยไม่เสียน้ำใจ ทำให้เกิดความมั่นใจที่จะเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้สูบบุหรี่ กล้าปฏิเสธไม่รับบุหรี่ ซึ่งจำเป็นต้องสร้างทัศนคติที่ถูกต้องและให้ความรู้เกี่ยวกับโทษของการสูบบุหรี่ด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง