ตม.สงขลา พบขบวนการค้ามนุษย์มีผู้มีอิทธิพล-นักการเมืองท้องถิ่นเกี่ยวข้อง

11 ม.ค. 56
13:59
188
Logo Thai PBS
ตม.สงขลา พบขบวนการค้ามนุษย์มีผู้มีอิทธิพล-นักการเมืองท้องถิ่นเกี่ยวข้อง

ความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ และการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้ชาวโรงฮิงยา พยายามหลบหนีออกจากประเทศพม่า เพื่อหาที่พักพิงใหม่ จึงมักถูกขบวนการค้ามนุษย์หลอกไปเป็นแรงงาน ทั้งในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ข้อมูลของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดสงขลา พบว่าขบวนการค้ามนุษย์ส่วนใหญ่มีกลุ่มผู้มีอิทธิพล นักการเมืองท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง

ชาวมุสลิมสัญชาติพม่าหรือชาวโรฮิงญาทั้งเด็ก และผู้ใหญ่เกือบ 700 คน ยังอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา โดยหลายคนอยู่ในสภาพอิดโรยเนื่องจากในระหว่างที่อยู่ในการควบคุมของขบวนการค้ามนุษย์นั้น ขาดแคลนทั้งเรื่องอาหาร และสภาพที่อยู่ซึ่งแออัด

ชาวโรฮิงญา เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ในประเทศพม่า ความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ และการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนัก ทำให้พวกเขาตัดสินใจหลบหนีออกนอกประเทศ เพื่อหาที่พักพิงใหม่ แต่ท้ายสุดกลับตกไปอยู่ในเงื้อมมือขบวนการค้ามนุษย์

<"">

 

ขบวนการค้ามนุษย์จะนำชาวโรฮิงญาออกจากประเทศพม่าผ่าน 2 เส้นหลักคือนำไปลงเรือที่ประเทศบังกลาเทศ และการเดินทางลงเรือที่รัฐยะไข่โดยตรง จากนั้นจะนั่งเรือมายังหมู่เกาะในทะเลอันดามันของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ของจังหวัดระนอง ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางขบวนการค้ามนุษย์ ก่อนที่จะส่งชาวโรฮิงญาเหล่านี้ไปเป็นแรงงานทั้งในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านในแถบภูมิภาคอาเซียน

สำหรับขบวนการค้ามนุษย์ในอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา มีด้วยกัน 4 กลุ่มใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยผู้มีอิทธิพลซึ่งเป็นเจ้าของบ่อนการพนัน นักการเมืองท้องถิ่น รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐทั้งสีเขียว และสีกากี เข้าไปอยู่เบื้องหลัง ส่วนการดูแลชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้เจ้าหน้าที่ระบุว่าจะช่วยเหลือไปตามหลักมนุษยธรรม พร้อมทั้งมีการฟื้นฟูสภาพจิตใจก่อนผลักดันออกนอกประเทศ

<"">
<"">

 

การที่รัฐบาลไทยไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องปัญหาผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับชาวโรฮิงญา จึงทำให้ไทยกลายเป็นประเทศทางผ่านของขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งนักวิชาการด้านกฎหมายเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ไทย และนานาชาติควรร่วมมือกันปัญหาเรื่องชาวโรฮิงญาอย่างเร่งด่วน

เมื่อมีชาวโรฮิงญาลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ประเทศไทยจะแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้า โดยเน้นการผลักดันออกนอกประเทศ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียกลับมีความร่วมมือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR) ให้ที่พักพิงในประเทศมาเลเซีย เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและเมื่ออยู่ในประเทศมาเลเซียครบ 2 เดือนก็จะออกบัตรของยูเอ็นเอชซีอาร์ เพื่อให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้สามารถพักพิงและหางานทำในประเทศมาเลเซียได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง