อุปสรรคระบบเอเจนซีนักกีฬาอาชีพในไทย

กีฬา
11 ม.ค. 56
14:46
576
Logo Thai PBS
อุปสรรคระบบเอเจนซีนักกีฬาอาชีพในไทย

นอกเหนือจากนักฟุตบอล นักกีฬาอาชีพชื่อดังของโลกเกือบทุกประเภท ต่างก็มีผู้จัดการส่วนตัว ระบบเอเจนซี่ เข้ามาดูแลและต่อรองผลประโยชน์ให้ทั้งสิ้น ต่างจากประเทศไทยที่ยังไม่สามารถก้าวไปสู่ระบบธุรกิจกีฬาอย่างเต็มรูปแบบได้ เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างยังเป็นอุปสรรค

ระบบเอเจนซี่ ตัวแทน หรือ สปอร์ต แมเนจเมนท์ ในประเทศไทยขณะนี้ยังไม่เกิด แม้จะมีการเปิดสอนระดับปริญญาเอกแล้วในบางมหาวิทยาลัย ทั้งนี้เนื่องจากนักกีฬาไทยยังมีไม่มากพอ และยังไม่เตะตาบรรดาเอเจนซี่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของต่างประเทศ กีฬาอาชีพยังไม่หลากหลาย และส่วนใหญ่เป็นแบบกึ่งอาชีพ

นอกจากนี้ยังมี ธรรมเนียมปฎิบัติในวงการกีฬาที่ใช้ระบบอุปถัมป์ โดยไม่มีการตกลงข้อสัญญาอย่างชัดเจนเหมือนนักกีฬาต่างประเทศ แต่ข้อดีก็คือบางรายอาจจะไม่ถูกหักเปอร์เซ็นเลยก็ได้  นักกีฬาอาชีพของไทยที่เคยเข้าไปสังกัดในบริษัทเอเจนซี่อย่างเต็มตัวคือ ภราดร ศรีชาพันธุ์ อดีตนักเทนนิสมืออันดับ 9 ของโลก ซึ่งภราดรเข้าไปสังกัด บริษัท ออกตากอน ตั้งแต่อายุเพียง 17 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ภราดรแข่งขันในระดับเยาวชนแกรนแสลม
 
กติกา และสัญญาในการแบ่งผลประโยชน์ส่วนใหญ่นักกีฬาจะได้ร้อยละ 80 และเอเจนซี่ได้ร้อยละ 20 สำหรับนักเทนนิสหรือ ประเภทกีฬาที่แข่งขันล่าเงินรางวัลบริษัทเหล่านี้จะไม่มีส่วนในเงินรางวัล ของนักกีฬา แต่พวกเขาต่อรองเพิ่มเงินโบนัสให้นักกีฬาจากสปอนเซอร์ได้ เช่น ต่อรองว่าหากภราดร คว้าแชมป์ แกรนแสลมได้ สปอนเซอร์รายหนึ่งจะต้องจ่ายโบนัสให้ภราดร 1 ล้านเหรียญ ซึ่งเอเจนซี่จะได้ส่วนแบ่งจากเงินจำนวนนี้อีกร้อยละ 20 ซึ่งส่วนใหญ่นักเทนนิสจะได้โบนัสนับตั้งแต่การเข้ารอบ 8 คนสุดท้ายเป็นต้นไป  นอกจากนั้นเอเจนซี่ที่มีเครือข่ายสินค้าอื่นๆ อาจจะต่อรองค่าตัวในการเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาได้อีกหลายชิ้น ซึ่งราคาอาจจะสูงกว่าการติดต่อโดยตรง 2-3 เท่าเลยทีเดียว

สำหรับ ภราดรนับตั้งแต่เข้าสู่ระบบสปอร์ต แมเนจเมนท์ นอกจากเงินรางวัลที่ทำไปทั้งหมด 107 ล้านบาท ภราดรยังเปิดเผยว่า บริษัทเอเจนซี่ต่อรองผลประโยชน์แทนตัวเขาได้อย่างน่าพึงพอใจซึ่งสามารถทำ เงินจากธุรกิจนี้ได้ในหลัก 100 ล้านบาททีเดียว และเมื่อเทียบกับโรเจอร์ เฟเดอเรอร์ เขาทำเงินจากการแข่งขันกว่า 76 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยคว้าแชมป์แกรนแสลมได้ถึง 17 รายการ ซึ่งมีโบนัสอีกอย่างน้อยรายการละ 1 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และยังไม่รวมสินค้าต่างๆ ที่เฟเดอเรอร์เป็นพรีเซนเตอร์

นอก จากนี้ยังมีค่าตัวในการเดินทางไปแข่งขันในบางรายการ นักเทนนิสอาชีพต่างจากนักฟุตบอลตรงที่รายได้จากโบนัส และโฆษณามีมูลค่ามหาศาลมากกว่าเงินรางวัลจากการแข่งขันหลายเท่าตัว แต่มักไม่เปิดเผยเหมือนนักฟุตบอลที่สามารถประเมินค่าตัวทั้งฤดูกาลได้จากค่า เหนื่อยต่อสัปดาห์ และข้อเสนอในการย้ายทีม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง