"ภาพยนตร์" และการบิดเบือนประวัติศาสตร์

Logo Thai PBS
"ภาพยนตร์" และการบิดเบือนประวัติศาสตร์

ภาพยนตร์นั้นถือเป็นอีกเครื่องมือบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ แต่บ่อยครั้งที่การเน้นไปที่ความบันเทิงเป็นหลัก ได้บิดเบือนเนื้อหาให้ต่างจากความเป็นจริง ไม่เว้นแม้แต่ภาพยนตร์ ที่ได้รับการยกย่องบนเวทีประกวดระดับโลก

แผนการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ทูตสหรัฐฯ 6 ราย ด้วยการปลอมเป็นทีมนักสร้างภาพยนตร์จากประเทศแคนาดาเพื่อหลบซ่อนการจับกุมของทางการอิหร่าน คือความสำเร็จของ โทนี เมนเดซ เจ้าหน้าที่ซีไอเอ จากการเสี่ยงชีวิตในแผนตบตาอันเหลือเชื่อ กลายเป็นที่มาของ Argo ภาพยนตร์ที่คว้าความสำเร็จสูงสุดบนเวทีลูกโลกทองคำด้วยการคว้ารางวัลภาพยตร์ยอดเยี่ยม สาขาดราม่า และรางวัลการกำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอย่างพลิกโผของ เบน อัฟเฟลค

แต่ขณะที่หนังเชิดชูความกล้าหาญของทีมซีไอเอเป็นหลัก เนื้อหาที่แสดงถึงการร่วมมือของรัฐบาลหลายชาติกลับถูกละเลย ด้วยการลดบทบาทของเจ้าหน้าที่สถานทูตแคนาดาเป็นเพียงผู้คอยรับคำสั่ง ขณะที่สถานทูตอังกฤษและนิวซีแลนด์ซึ่งถูกถ่ายทอดว่าเพิกเฉยต่อความช่วยเหลือ ซึ่งความจริงแล้วทีมงานยอมเสี่ยงภัยในการให้ที่พักและช่วยเหลือในการหลบหนีเช่นกัน

   

เนื้อหาเชื่อมโยงเหตุการณ์ทางการเมืองของสหรัฐฯ กลายเป็นธีมที่อยู่ในผลงานคว้ารางวัลลูกโลกทองคำแทบทุกเรื่อง ทั้ง Game Change ภาพยนตร์ย้อนรอยความล้มเหลวในการหาเสียงของพรรครีพับลิกันเมื่อปี 2008 ที่คว้ารางวัลมินิซีรีส์หรือภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ยอดเยี่ยม หรือ Homeland ละครที่เล่าถึงการสืบสวนของซีไอเอสาวที่เชื่อว่าอดีตนาวิกโยธินที่ถูกปล่อยตัวจากกลุ่มอัลกออิดะฮ์จะนำความลับของชาติไปเผยแพร่ ที่ได้รับรางวัลละครยอดเยี่ยม สาขาดราม่า

นอกจากนี้ ยังมีผลงานอีกหลายเรื่องที่ถูกวิจารณ์ว่า บิดเบือนเนื้อหาไม่เป็นไปตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้ง Zero Dark Thirty ที่ส่งให้ดาราสาว เจสซิกา เชสเทน คว้ารางวัลนักแสดงนำหญิง สาขาดราม่า จากบทซีไอเอหญิงผู้รวบรวมข้อมูล เปิดโปงที่ซ่อนตัวของ อุซามะฮ์ บิน ลาดิน กลับถูกมองว่า เป็นหนังส่งเสริมการทรมานนักโทษ เมื่อนำเสนอว่าภารกิจครั้งนี้สำเร็จลงได้จากการเค้นข้อมูลนักโทษด้วยการทรมานโดยวิธี waterboarding ซึ่งผู้อำนวยการของซีไอเอออกมาปฎิเสธว่าไม่เป็นความจริง ขณะที่ Lincoln ที่ส่งให้ แดเนียล เดย์ ลูอิส คว้ารางวัลนักแสดงนำชาย สาขาดราม่า ในบทวีรบุรุษผู้ปลดแอกการเลิกทาส ทั้งๆที่ในประวัติศาสตร์ อับราฮัม ลินคอล์น เคยมีความเชื่อว่าชาวผิวสีไม่ควรมีสิทธิเทียบเท่าคนผิวขาว หรือ Django Unchained ที่คว้าบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมก็ถูกวิจารณ์เรื่องความคลาดเคลื่อนทางประวัติศาสตร์ ทั้งการต่อสู้กันจนตายของทาสที่ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน จนถึงการเสนอภาพ Ku Klux Klan ในหนังทั้งๆ กลุ่มเหยีอดเชื้อชาติยังไม่เกิดขึ้นกระทั่งการประกาศเลิกทาสในปี 1865

ช่วงที่ Lincoln ออกฉาย  ทางช่อง PBS ของสหรัฐฯ ได้ออกอากาศสารคดีเรื่อง The Abolitionists ที่เปิดเผยวีรกรรมของกลุ่มรณรงค์การเลิกทาส ซึ่งมีส่วนสำคัญในการต้อสู้กับนายทุน และนักการเมืองในธุรกิจค้าทาส จนการค้าทาสหมดไปจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเผยแพร่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกเอ่ยถึงในภาพยนตร์ดัง โดย เอริค ฟอนเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญในชีวประวัติของ อับราฮัม ลินคอล์น ยอมรับว่า Lincoln เป็นหนังที่ยอดเยี่ยม แต่หลังดูจบแล้ว สิ่งที่ผู้ชมควรทำคือกลับไปค้นคว้าเรื่องจากหนังสือสือต่อ เพื่อการรับรู้ที่มาทางประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องอย่างแท้จริง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง