ดีเอสไอเตรียมนำ คดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงยาเป็นคดีพิเศษ

อาชญากรรม
15 ม.ค. 56
03:24
116
Logo Thai PBS
ดีเอสไอเตรียมนำ คดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงยาเป็นคดีพิเศษ

กรมสอบสวนคดีพิเศษ เตรียมพิจารณาให้ กรณีขบวนการค้ามนุษย์ นำชาวโรฮิงยามากักขังไว้กว่า 850 คน เป็นคดีพิเศษ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนเพื่อคัดแยกกลุ่มโรฮิงยา ว่าเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ทั้งหมดหรือไม่ ขณะที่ความคืบหน้าของคดี ตำรวจเตรียมเสนอศาลออกหมายจับ ขบวนการที่นำกลุ่มโรฮิงยาเข้ามาในประเทศเพิ่มเติม หลังออกหมายจับไปแล้ว 2 คน

ชาวโรฮิงยากว่า 850 คน ที่ได้รับการช่วยเหลือจากขบวนการค้ามนุษย์ ที่ลักลอบนำคนกลุ่มนี้เข้ามาซ่อนตัวไว้ภายในสวนยางพารา ในพื้นที่ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปพักที่สถานที่พักพิง สถานีตำรวจภูธรปาดังเบซาร์ และด่านตรวจคนเข้าเมืองของจังหวัด โดยมีชาวปาดังเบซาร์ นำเครื่องอุปโภคบริโภคและเสื้อผ้า ไปบริจาคเพื่อให้การช่วยเหลือ

ด้าน พ.ต.ต.จตุพร อรุณฤกษ์ถวิล ผู้อำนวยส่วนป้องกันและปราบปราม 2 ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนพิเศษ เปิดเผยว่า หากผลการคัดแยกชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ พบว่าเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ หรือองค์การอาชญากรรม จะทำเรื่องถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อที่พิจารณารับเป็นคดีพิเศษ

ขณะที่ พ.ต.อ.กฤษกร พลีธัญญวงศ์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดสงขลา ผู้รับผิดชอบคดี เปิดเผยว่า ตามกฎหมาย และมติ ครม. หากบุคคลต่างด้าวที่ทำผิดเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติ หรือหลบหนีเข้าเมือง ทั้งพม่า ลาว กัมพูชา และไทย สามารถผลักดันกลับประเทศได้เลย แต่หากไม่ใช่ 4 ประเทศนี้ ก็ต้องดูว่ากระทำความผิดในข้อหาใด และดำเนินการไปตามกฎหมาย

ส่วนการติดตามจับกุมกลุ่มผู้ลักลอบนำคนกลุ่มนี้เข้ามาในประเทศไทย เจ้าหน้าที่เตรียมขออนุญาตศาลจังหวัดนาทวี ออกหมายจับเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง หลังจากออกหมายจับไปแล้ว 2 คน ในข้อหาร่วมกันนำพาบุคคลต่างด้าว ให้ที่พักพิงและกักขังหน่วงเหนี่ยว คือ นายประสิทธิ์ หรือ เบต เหล็มเหล๊ะ อดีตรองนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ และนายจามานาดิน ชายไทยสัญชาติพม่า

ทั้งนี้ มีรายงานว่า จากการตรวจสอบ พบว่า ขบวนการค้ามนุษย์ในอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา มีด้วยกัน 4 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกอยู่ในการดูแลของนายประสิทธิ์ เหล็บเล๊ะ ซึ่งศาลจังหวัดนาทวีได้ออกหมายจับแล้ว กลุ่มที่สอง เป็นเครือข่ายผู้มีอิทธิพลเจ้าของบ่อนพนันในตำบลปาดังเบซาร์ ซึ่งในกลุ่มนี้จะมีนายหน้าชื่อเล่นว่า ยีแบน เป็นคนคอยดูแลเรื่องผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ โดยชาวโรฮิงยาจะมีค่าหัวเฉลี่ยตกคนละ 50,000 – 60,000 บาท กลุ่มที่ 3 เป็นนายหน้าสองสัญชาติ มีนายซอและ ซึ่งถือบัตรประชาชนทั้งของประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย เป็นหัวหน้ากลุ่ม และกลุ่มสุดท้ายก็เป็นของนักการเมืองท้องถิ่นในตำบลปาดังเบซาร์ แต่ในกลุ่มนี้จะมีนายหน้าเป็นชาวโรฮิงยา 2 คน คือนายอาลี และนายชาฮาลาม ซึ่งทำหน้าที่ล่อลวง ชาวโรฮิงยาจากประเทศพม่ามาควบคุมไว้

องค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรต์ วอตช์ เสนอให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้องค์กรสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ในเอเชีย เข้ามาตรวจสอบชาวโรฮิงยา เพื่อคัดกรองว่าเป็นกลุ่มผู้อพยพจริงหรือไม่ และต้องการความช่วยเหลือในลักษณะใด เนื่องจากปัจจุบันภาครัฐมักใช้วิธีส่งกลับชาวโรฮิงยาทันที ทำให้คนกลุ่มนี้ใช้วิธีเดิมหนีออกจากประเทศและถูกขบวนการค้ามนุษย์ล่อลวงอีกเช่นเดิม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง